รัฐจะดำเนินคดี ตัดอินเทอร์เน็ต สื่อ-ประชาชนที่เผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิด-19

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.07.30
กรุงเทพฯ
รัฐจะดำเนินคดี ตัดอินเทอร์เน็ต สื่อ-ประชาชนที่เผยแพร่ข่าวปลอมเรื่องโควิด-19 ผู้สื่อข่าวขณะร่วมงานแถลงข่าว ที่กรุงเทพฯ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564
เอพี

รัฐบาลได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการกับข่าวปลอม และข่าวที่สร้างความหวาดกลัว เรื่องโควิด-19 โดยระบุว่า จะดำเนินคดีกับสื่อมวลชน และประชาชน รวมถึงให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตัดอินเทอร์เน็ต ด้านนักวิชาการสื่อชี้ ประกาศของรัฐครั้งนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ โดยสมาคมสื่อเองจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งในการแสดงจุดยืนมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ถูกละเมิดอีก

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) ในช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาระบุว่า ที่ผ่านมามีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดหรือสับสน ปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายหรือเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

“ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” ตอนหนึ่งของข้อกำหนดซึ่งลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุ

ข้อกำหนด ยังระบุว่า หากเป็นการเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบประสานกับผู้ให้บริการ เพื่อดำเนินการจัดการ

“ให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกรายมีหน้าที่ตรวจสอบว่า ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมีที่มาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่สำนักงาน กสทช. กำหนดให้สำนักงาน กสทช. ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที” ข้อกำหนดตอนหนึ่ง ระบุ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนด และมาตรการที่อาจเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อและประชาชนไปแล้ว โดยชี้ว่า ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 มีส่วนมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล

ต่อมาในวันศุกร์นี้ ตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือแถลงการณ์ดังกล่าว คัดค้านต่อข้อกำหนดล่าสุดของรัฐบาล โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี

“องค์การสื่อมองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้ (โอกาสนี้) จึงตัดสินใจยื่นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อห่วงใยนี้ เป็นโอกาสในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน” นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการยื่นหนังสือ

ขณะที่ นายอนุชา ระบุว่า รัฐออกข้อกำหนดดังกล่าวมาเพื่อจัดการกับข่าวปลอมที่มีจำนวนมากขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

“รัฐบาลมีเจตนารมณ์เพียงยกระดับการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสกัดกั้นการเผยแพร่ข่าวปลอม รวมทั้งการกระทำที่เป็นการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารด้วยความตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจาะจงหรือตั้งใจบังคับใช้กับสื่อมวลชนวิชาชีพ แต่เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่า มีการสื่อสารสาธารณะผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้นำมาจากข้อเท็จจริง ซึ่งไม่สามารถควบคุมและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สังคม ประชาชนเกิดความหวาดระแวงหรือความหวาดกลัว”​ นายอนุชา ระบุ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2564 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ได้ยื่นคำร้องและแจ้งความดำเนินคดี มีคำสั่งศาลให้ระงับแล้ว 8 คำสั่ง รวม 94 ยูอาร์แอล อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาล 8 คำร้อง รวม 145 ยูอาร์แอล และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูลไม่เหมาะสม รวม 54 ยูอาร์แอล/บัญชีรายชื่อ

ด้าน นายวี​​รยุทธ ธีระกมล นักวิจัยปริญญาเอก สาขาการสื่อสารศึกษา (Communication and Media Studies) มหาวิทยาลัยลัฟบะระ ชี้ว่า มาตรการล่าสุดของรัฐเพื่อจัดการกับข่าวปลอม เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ

“ข้อกำหนด มีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน หนำซ้ำยังไปดึง กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์กรอิสระ เป็นผู้สนองนโยบาย ในระยะยาวก็จะนำมาสู่การแทรกแซงและกระทบถึงความเป็นอิสระของ กสทช. เอง หากข้อกำหนดดังกล่าวถูกบังคับใช้จริง นับว่าให้อำนาจรัฐในการตีความว่าเนื้อหาใดเข้าข่าย บิดเบือน สร้างความหวาดกลัว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐทำตามอำเภอใจ ซึ่งอาจกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งหากไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ก็ไม่สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมา” นายวี​​รยุทธ กล่าว

“สิ่งที่รัฐบาลทำมันไม่เข้าท่า เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ ผลักภาระความเข้าใจผิดของประชาชนต่อข่าวสารให้สื่อ ทั้งที่จริง รัฐเองเป็นผู้ให้ข้อมูล ทั้งที่ถูกและผิด หลายครั้งสร้างทั้งความสับสนให้กับทั้งสื่อและประชาชน สมาคมสื่อเองก็ไม่มีความเข้มข้นในการกดดันรัฐบาล องค์กรสื่อควรสร้างมาตรฐานในการออกแถลงการณ์ เพราะที่ผ่านมามีการออกแถลงการณ์แค่ในบางกรณี กลายเป็นว่าเลือกปฏิบัติกันเอง หากจะปกป้องสื่อด้วยกันเองต้องเข้มแข็งกว่านี้ ถ้าเป็นที่อังกฤษเขาแข็งแรง และพร้อมคว่ำบาตรหากเกิดกรณีเดียวกันนี้” นายวี​​รยุทธ กล่าวเพิ่มเติม

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง