ตำรวจจับผู้ชุมนุมวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค. รวม 13 ราย
2021.07.19
กรุงเทพฯ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวในวันจันทร์นี้ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ 13 ราย โดยอ้างว่า การชุมนุมเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และทำลายทรัพย์สินราชการ ด้าน นายอานนท์ นำภา ยืนยัน การชุมนุมเป็นไปโดยสันติวิธี และรัฐไม่ควรใช้ความรุนแรงกับประชาชน
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชนเกินกว่าพันคนจากหลายกลุ่ม เช่น เยาวชนปลดแอก, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, เฟมินิสต์ปลดแอก, ทะลุฟ้า, ภาคีบุคลากรสาธารณสุข, สหภาพคนทำงาน, สหภาพไรเดอร์, We Volunteer และอื่น ๆ ได้เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องตั้งแต่ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปรับลดงบสถาบันฯ-กองทัพ เพื่อนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์โควิด-19 หรือให้นำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เข้ามาเป็นวัคซีนหลัก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้น้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา รวมถึงกระสุนยางยิงสกัดกั้นจนเกิดเหตุการณ์ชุลมุน เป็นเหตุให้มีทั้งผู้ชุมนุม สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้ว่า ตำรวจควบคุมฝูงชน 18 กองร้อย หรือ 2.79 พันนาย ดำเนินการสลายการชุมนุมตามหลักสากล เพื่อยับยั้งฝูงชน และป้องกันการทำลายทรัพย์สินราชการ โดยจะได้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“การชุมนุมดังกล่าว ไม่สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย และการชุมนุมนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย กลุ่มมวลชนไม่เชื่อฟังและมีการรวมตัวกันลงมาบริเวณผิวจราจร… กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามทุบทำลายสิ่งของของทางราชการ จุดไฟเผาสิ่งต่าง ๆ บริเวณแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามระงับยับยั้งและได้ทำการควบคุมตัวผู้กระทำผิดทั้งหมด 13 ราย ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 8 นาย” พล.ต.ต. ปิยะ กล่าว
ในการสลายการชุมนุมวานนี้ มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 ราย ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระสุนยาง และแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ ซึ่ง พล.ต.ต. ปิยะ ได้ขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนด้วย
ด้าน นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ความชุลมุนที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมในวันอาทิตย์ มีต้นเหตุมาจากการเริ่มใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“การชุมนุมของเรามันชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด คิดว่ามันยืนอยู่บนสันติวิธี เหตุการณ์ที่ตำรวจใช้ความรุนแรง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง มันเป็นการใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ อาจจะมีผู้ชุมนุมบางคนทำเกินไปบ้าง แต่ยังอยู่ในขอบข่ายของสันติวิธี” นายอานนท์ กล่าวผ่านโทรศัพท์ และระบุว่าเจ้าหน้าที่ควรพูดคุยไม่ใช่ยั่วยุ
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมมีมาตรการป้องกันโรคอย่างดี โดยใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง รวมทั้งมีการชุมนุมในพื้นที่โล่ง
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้ชุมนุม 13 ราย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวนั้น ปัจจุบัน ทั้งหมดได้ให้ปากคำเบื้องต้นแล้ว โดยถูกแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งหมดแล้ว
ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีประชาชนอย่างน้อย 712 คน ใน 392 คดี ที่ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมือง ในจำนวนนั้น เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี 44 ราย ในจำนวน 712 คน แบ่งเป็นผู้ถูกดำเนิน คดี ม. 112 จำนวน 110 ราย ม. 116 จำนวน 104 ราย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จำนวน 501 ราย และที่เหลือเป็นคดีความผิดตามมาตราอื่น ๆ
ศบค. คาดไทยสถานการณ์อาจแย่สุด ติดเชื้อถึง 3.1 หมื่นรายต่อวัน
นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันจันทร์นี้ 11,784 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 122,097 ราย โดยได้มีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดที่แย่ที่สุดเอาไว้ด้วย
“คาดการณ์ว่า กรณีแย่ที่สุดหากไม่ทำอะไร ไม่ได้ช่วยกัน ปล่อยติดเชื้อไปเรื่อย ๆ จะเกิดมีผู้ติดเชื้อสูงสุด 31,977 คนต่อวัน หากดำเนินการให้ดีที่สุดจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 9,018 - 12,605 คนต่อวัน ขณะที่ค่ากลางอยู่ที่ 9,695 - 24,204 คนต่อวัน” นพ. ทวีศิลป์ กล่าว
นพ. ทวีศิลป์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค. จะได้เพิ่มพื้นที่เสี่ยงจากเดิมคือ กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 10 จังหวัด ให้เป็น 13 จังหวัด โดยเพิ่ม ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวนี้รัฐบาลขอความร่วมมือให้อยู่ในเคหสถาน งดการเดินทางถ้าไม่จำเป็น โดยเจ้าหน้าที่จะมีการตั้งด่านสกัดบริเวณรอยต่อของพื้นที่เสี่ยงกับจังหวัดอื่น และยังให้ร้านต่าง ๆ เปิดได้ถึง 20.00 น. โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันอังคารนี้
ทั้งนี้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราเปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า แต่เดิมรัฐบาลไทยแจ้งความประสงค์ต่อบริษัท แอสตราเซเนกา ว่าต้องการได้รับวัคซีนโควิด-19 สำหรับใช้ในประเทศ 3 ล้านโดสต่อเดือน แม้รัฐบาลไทยจะระบุมาตลอดว่า แอสตราเซเนกาจะส่งมอบวัคซีนให้ไทย 10 ล้านโดสต่อเดือนก็ตาม
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงพยายามจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้ประชาชน โดยมีแผนนำเข้าเพิ่มเติมในปี 2565 ให้ได้ 120 ล้านโดส ที่ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์
ทั้งนี้ รัฐบาลไทย มีแผนการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซึ่งจะผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย ปัจจุบัน ส่งมอบให้รัฐบาลแล้ว 8.13 ล้านโดส (รวมส่วนที่รับบริจาคจากญี่ปุ่น) มีแผนนำเข้าวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน 47.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.47 ล้านโดส (รวมส่วนที่รับบริจาคจากจีน) ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม จากประเทศจีนแล้ว 3 ล้านโดส และรัฐบาลมีแผนที่จะนำเข้าวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีก 5 ล้านโดส รวมถึงไฟเซอร์-ไบออนเทค 20 ล้านโดส
ก่อนหน้านี้ มีประชาชนที่จองรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวนมากถูกเลื่อนนัดฉีดออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์-วิจารณ์ถึงระบบจัดการวัคซีนของรัฐบาล และกลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล โดยปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนแล้ว 14,298,596 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง 3,448,497 ราย ถือว่า ยังห่างจากเป้าหมายการฉีด 50 ล้านโดสในปี 2564 ของรัฐบาล