เพนกวิน รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 เป็นครั้งที่ 15 แล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.01.22
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
เพนกวิน รับทราบข้อกล่าวหา ม.112 เป็นครั้งที่ 15 แล้ว นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เสื้อขาวขวามือสุด) และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (เสื้อขาวซ้ายมือสุด) ยืนชูสามนิ้วแก่ผู้มาสนับสนุน ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่สถานีตำรวจนนทบุรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำราษฎรเดินทางไปยัง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ม.112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการเขียนข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์บนอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ปฏิเสธข้อกล่าวหา ซึ่งนับว่านายพริษฐ์ ถูกตั้งข้อหาคดี ม.112 รวม 15 คดีแล้ว

นายพริษฐ์ และ น.ส.ปนัสยา พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปถึง บก.ปอท. ในเวลา 10.00 น. โดยนายพริษฐ์ รับทราบ 2 ข้อกล่าวหา ขณะที่ น.ส.ปนัสยา รับทราบ 1 ข้อกล่าวหา โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า คดีที่ 1 นายพริษฐ์ ถูกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) แจ้งความเอาผิดจากกรณีที่เขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์รวม 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 เรื่องแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ โดยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับธนาคารไทยพาณิชย์ และคดีที่ 2 นายพริษฐ์ ถูกนางชุติมา เลี่ยมทอง จากกลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (พปปส.) แจ้งความเอาผิดจากการเขียนข้อความลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับการสลายการชุมนุม ที่ถนนราชดำเนิน ข้างท้องสนามหลวง

นายพริษฐ์ ได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทั้ง 2 คดี และปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง ภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งชี้ว่า หากใช้ ม.112 พร่ำเพรื่อ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ เรียกร้องให้มีการยกเลิก ม.112

“ทุกวันนี้มาตรา 112 ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และขยายประเด็นเข้าใกล้ตัวเรื่อย ๆ จากเดิมมาตรา 112 ถูกใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ฯ ตรง ๆ ทุกวันนี้เริ่มขยาย” นายพริษฐ์ กล่าว

“ตอนนี้เห็นชัดแล้วว่า กฎหมายนี้ไม่ได้ใช้เพื่อปกป้องสถาบันฯ แต่ใช้ในการปิดปากความเห็นทางการเมืองในทุกมิติ ถ้าเรายังไม่รีบลุกขึ้นมาต่อต้าน ต่อไปนี้เพดานเสรีภาพอาจจะต่ำลงในทางกฎหมายเรื่อย ๆ แต่ไม่ว่าจะใช้กฎหมายนี้อย่างไร กฎหมายนี้ได้สิ้นความชอบธรรมไปแล้ว และถ้ายังไม่รีบยกเลิกมาตรา 112 ความชอบธรรมของสถาบันฯ ก็จะตกต่ำลงด้วย” นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติม

ขณะที่ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า น.ส.ปนัสยา ถูกฟ้องร้องเอาผิด เนื่องจากการใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเผยแพร่ (Share) ข้อความเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ของนายพริษฐ์ต่อ ซึ่ง น.ส.ปนัสยา ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และปฏิเสธที่จะลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหา รวมถึงจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 โดยหลังการรับทราบข้อกล่าวหา น.ส.ปนัสยา และนายพริษฐ์ มิได้ถูกควบคุมตัว

ในวันเดียวกัน น.ส.ฟรายเดย์ (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ บก.ปอท. โดยคดีนี้มี นายนพดล พรหมภาสิต จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหาว่า น.ส.ฟรายเดย์ ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์วิดีโอของคณะก้าวหน้า ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้พระราชอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ไทยในดินแดนเยอรมนี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ซึ่ง น.ส.ฟรายเดย์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้พิมพ์ลายนิ้วมือรับทราบข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือในอนาคต แต่ยังไม่มีการนัดเพิ่มเติม

ขณะที่ น.ส.วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ ตี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา, นายหนึ่ง (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนนทบุรี และ น.ส.น้ำ (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ จากกรณีที่ นายสุกิจ เดชกุล สมาชิกของกลุ่มไทยภักดีเชียงใหม่ เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เอาผิดกับคนทั้ง 3 จากกรณีการเขียนข้อความ พร้อมด้วยรูปภาพลงบนเฟซบุ๊ก ในลักษณะที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563

อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้ง 3 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ได้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทั้งหมดยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 และให้มารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยทั้งหมดมิได้ถูกควบคุมตัว

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ปัจจุบัน นายพริษฐ์ ถูกตั้งข้อหา ม.112 แล้ว 15 คดี ขณะที่ น.ส.ปนัสยา ถูกตั้งข้อหา ม.112 แล้ว 8 คดี โดยนับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ผู้ร่วมชุมนุม ถูกฟ้องร้อง รวมถึงออกหมายเรียกจากความผิดตาม ม.112 แล้วถึง 55 ราย ใน 42 คดี ในนั้นมี นายอานนท์ นำภา 8 คดี และนายภาณุพงศ์ จาดนอก 7 คดี

นักวิชาการชี้ การที่รัฐใช้ ม.112 มากไป อาจทำให้เกิดกระแสตีกลับ

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การใช้ ม.112 กับผู้เห็นต่างแบบไม่เลือกหน้า อาจส่งผลสะท้อนกลับมาหารัฐบาลเอง

“ม.112 ปัจจุบัน ถูกใช้แบบกวาดไปหมด ซึ่งในอดีต ม.112 เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือช่วงการชุมนุมเสื้อแดงมาแล้ว ทำให้มีคนถูกฟ้องจริง ขึ้นศาลจริง และติดคุกจริง มีช่วงนึงที่ ม.112 หายไป แล้วเอา ม.116 ที่โทษน้อยกว่ามาใช้ แต่สุดท้าย รัฐก็กลับมาใช้ ม.112 เพราะคิดว่าเป็นยาแรง จะทำให้การเคลื่อนไหวเบาลง แต่ในความเป็นจริงปฏิกริยาตอบโต้กลับหนักขึ้น อย่างที่เห็นบนอินเทอร์เน็ต” ผศ.สาวตรี กล่าวผ่านโทรศัพท์

“ในฐานะนักกฎหมาย ถ้าตีความกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา การฟ้องในหลายกรณีที่ผ่านมา ไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เพราะการหมิ่นประมาทต้องเป็นการใส่ร้าย ทำให้คนบุคคลที่ 3 ได้ยินแล้วรู้สึกไม่ดี รู้สึกเกลียดชังผู้ที่ถูกหมิ่น” ผศ.สาวตรี กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง