ผู้ชุมนุมแฟชั่นโชว์ถนนสีลม 2 ราย เข้ารับทราบข้อหา ม.112 ที่ สน.ยานนาวา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.12.17
กรุงเทพฯ
ผู้ชุมนุมแฟชั่นโชว์ถนนสีลม 2 ราย เข้ารับทราบข้อหา ม.112 ที่ สน.ยานนาวา ผู้ชุมนุมถือป้ายระหว่างการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 10 ธันวาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ผู้ชุมนุมแฟชั่นโชว์สีลม 2 ราย ซึ่งประกอบด้วย นายนภสินธุ์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 16 ปี และ น.ส.จตุพร แซ่อึง ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ยานนาวา เพื่อรับข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการจัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์บนถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 นายนภสินธุ์กล่าวหลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า ต้องการให้ยกเลิก ม.112 ด้านผู้ชุมนุมอีก 4 รายเข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา ม. 112 ที่ สน.บางโพ

การฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนทั้งคู่ สืบเนื่องจาก น.ส.วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ หรือแอดมินเจน หนึ่งในผู้ดูแลเฟซบุ๊กแฟนเพจ “เชียร์ลุง” ซึ่งเป็นแฟนเพจที่สนับสนุนการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ยานนาวา ให้ดำเนินคดีเอาผิด ม.112 กับคนทั้งคู่ ซึ่งในวันดังกล่าวได้แต่งกายขึ้นแสดงแฟชั่นโชว์ โดยนายนภสินธุ์ ได้ใส่เสื้อเอวลอย และเขียนข้อความประท้วงบนร่างกาย ขณะที่ น.ส.จตุพร ได้ไว้ผมสั้น และแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมไทย ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 พ.ต.ต.เกียรติศักดิ์ พิมมานนท์ สารวัตรสืบสวน สน.ยานนาวา ได้ออกหมายเรียกให้คนทั้งคู่มารายงานตัว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา

น.ส.จตุพร อายุ 23 ปี หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดี เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นในเวลา 13.20 น. ว่า การดำเนินคดีครั้งนี้ จะไม่ทำให้หยุดการแสดงออกทางการเมือง

“ไม่รู้สึกกังวลอะไรเลย เพราะคนก็โดนด้วยหลายคน รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม วันนั้นไม่มีการปราศรัย เดินอย่างเดียวเป็นแฟชั่นราษฎร ยังยืนยันว่า จะแสดงออกเหมือนเดิม แล้วก็เรียกร้องเหมือนเดิม” น.ส.จตุพร กล่าว

ขณะที่ นายนภสินธุ์ อายุ 16 ปี เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังรับทราบข้อกล่าวหาว่า “หวังว่ากระบวนการยุติธรรม จะมีความยุติธรรมจริง ๆ นะครับ ผมก็ขอให้ยกเลิกกฎหมาย 112”

หลังการให้สัมภาษณ์ นายนภสินธุ์ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า จะขึ้นเวทีปราศรัยหน้า สน.ยานนาวา ซึ่งจัดโดยกลุ่มมวลชนอาสา (Wevo) เพื่อชี้แจงเพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยินยอม และได้พาตัว นายนภสินธุ์ ไปดำเนินกระบวนการทางกฎหมายที่ศาลเยาวชนและครอบครัวต่อไป

น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า ผู้ต้องหาทั้งคู่ปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์

“ตัวเยาวชนเอง และคุณจตุพร ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีเยาวชนมีความแตกต่างจากคดีผู้ใหญ่ พนักงานสอบสวนยืนยันว่า ต้องให้ศาลเป็นคนตรวจสอบข้อกล่าวหา และดุลยพินิจการขอปล่อยชั่วคราว ก็ให้เป็นของศาล เป็นเคส 112 ที่เป็นเยาวชนเคสแรกในช่วงนี้ คดี 112 ไม่มีการดำเนินคดีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าว

“จากที่เห็นปรากฏการณ์ในช่วงแค่เพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ก็มีพวกที่ถูกดำเนินคดี 112 แล้ว ไม่ใช่เพียงแกนนำ แต่ลามมาถึงเด็กและเยาวชน ที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก แม้แต่มาแสดงศิลปะ หรือเดินแฟชั่นโชว์ ก็ถูกดำเนินคดี 112 ได้ การแจ้งความดำเนินคดี ไม่ได้เป็นการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการที่เอกชนกันเองมาดำเนินคดีกับบุคคลที่เห็นต่าง” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการในศาลเยาวชนและครอบครัว นายนภสินธุ์ ได้เดินทางกลับบ้าน พร้อมผู้ปกครองที่เดินทางมาให้กำลังใจ

นักกิจกรรม 4 รายเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ม. 112 ที่ สน.บางโพ

ในช่วงสายวันเดียวกัน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด, นายชนินทร์ วงษ์ศรี และนายเกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ที่ สน.บางโพ โดย พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช ผู้กำกับ สน.บางโพ เป็นผู้กล่าวหาบุคคลทั้งหมด สืบเนื่องจากการจัดกิจกรรมชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในคดีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียก น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว ด้วยแต่ น.ส. จุฑาทิพย์ ติดธุระจึงได้ขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวเป็นวันอื่น

“เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าทั้ง 5 คน (รวม น.ส. จุฑาทิพย์)  ได้ร่วมชุมนุมสาธารณะที่หน้ารัฐสภา และได้ร่วมกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นเวทีปราศรัยบนรถบรรทุก โดยใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อเรียกร้องกดดันรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และจากการสืบสวนของ พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี ผู้กำกับสืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งได้จัดทำบันทึกคำปราศรัยดังกล่าว พบว่ามีข้อความบางส่วนที่ใช้วาจาจาบจ้วงพระมหากษัตริย์โดยมิบังควร เพื่อให้ประชาชนผู้มาชุมนุม และประชาชนทั่วไป เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์” ศูนย์ทนายฯ ระบุ

ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง โดยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีต้องมีการวางหลักทรัพย์ และยังไม่มีการนัดจากพนักงานอัยการ

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า จนถึงปัจจุบัน มีผู้ชุมนุมถูกแจ้งข้อหา ม.112 แล้วอย่างน้อย 33 คน ใน 20 คดี โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมถูกดำเนินคดีทั่วประเทศ อย่างน้อย 122 คดี (รวมคดี ม.112) มีผู้ถูกดำเนินคดี 227 คน ในนั้นมีเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดี 5 รายจาก 7 คดี

นักสิทธิมนุษยชนกังวล ม.112 อาจถูกตีความเกินจำเป็น

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน ม.112 ถูกตีความกว้างมาก และการดำเนินคดีกับเยาวชนในวันนี้แสดงให้เห็นว่า ม.112 ไม่มีข้อยกเว้นแล้ว

“จากข้อมูลของตำรวจที่บอกว่า ปีที่แล้ว มีคนฟ้องร้องให้ดำเนินคดี 112 กับประชาชนถึง 100 กว่าครั้งแต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเลย แต่เมื่อ 19 พฤศจิกายน ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรา เราก็เห็นการดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นการตีความกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวหนังสือ เคสของคุณทราย เจริญปุระ ที่ถูกตั้งข้อหา 112 และ 116 ทั้งที่ ไม่ได้ขึ้นปราศรัย เพียงแค่ให้การสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้น เป็นสัญญาณที่น่ากังวลว่าคดีอาจเพิ่มขึ้นเกินยุค คสช.” นายสุณัย กล่าว

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 น.ส.อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย นักแสดงซึ่งถูกเรียกว่า “แม่ยกแห่งชาติ” ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการชุมนุม ได้รับหมายเรียกจาก สน.บางเขน ในข้อหา ม. 112 และ ม.116 จากกรณีเป็นผู้สนับสนุนการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 โดย น.ส.อินทิรา ไม่ได้ขึ้นปราศรัยนำการชุมนุมแต่อย่างใด

“ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ชี้ชัดเจนว่า มาตรา 112 ของไทยโทษรุนแรงเกินการได้สัดส่วน เพราะมีโทษจำคุกถึง 15 ปี รูปแบบการบังคับใช้มีปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหากตำรวจ อัยการ ศาล ไม่ดำเนินคดี อาจถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีด้วย โดยถึงประเทศอื่นจะมีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายนั้น หรือมีโทษเบามาก ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จึงน่ากังวลว่า ในอนาคตกฎหมายอาจตีความเอาผิดกับคนที่ให้การบริจาคเพื่อการชุมนุม ในความผิดเท่ากันกับผู้ปราศรัย” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง