ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง นปช. ข้อหาก่อการร้ายปี 2553
2023.01.09
กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่
ในวันจันทร์นี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง นปช. ในคดีก่อการร้ายจากการชุมนุมปี 2553 แต่พิพากษายืนให้จำคุกนายสุขเสก พลตื้อ ตลอดชีวิต ในข้อหาก่อการร้าย และกลับคำตัดสินให้จำคุกนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ "เจ๋ง ดอกจิก" เป็นเวลา 5 ปี 4 เดือน ฐานข่มขืนใจเจ้าหน้าที่
ในวันเดียวกันนี้ ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนประกันตัว ใบปอ-เก็ท นักเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ อ้างผิดเงื่อนไขประกันตัว
ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ในคดี หมายเลขดำ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพวก รวม 24 รายฐานจำเลย ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย จากการร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง ระหว่างวันที่ วันที่ 28 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2553
จำเลยเข้าฟังการอ่านคำพิพากษา ณ ห้องพิจารณา 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก อย่างพร้อมเพรียง โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ยกเว้นนายสุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 ที่ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
“พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก มีความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่น โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จำคุก 5 ปี และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 5 ปี 4 เดือน ส่วน สุขเสก พลตื้อ จำเลยที่ 12 ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันก่อการร้าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษาอุทธรณ์ ระบุ
ส่วนจำเลยที่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา คือ นายสมบัติ มากทอง จำเลยที่ 16 เพราะเสียชีวิต ขณะที่ นายสุรชัย เทวรัตน์ จำเลยที่ 17 และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง จำเลยที่ 24 อยู่ระหว่างการหลบหนี หลังฟังคำพิพากษาทนายความได้ยื่นขอประกันตัวนายยศวริศ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป
หลังฟังคำพิพากษา นายณัฐวุฒิ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนเองและพวกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยตลอด และเคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งหลังจากนี้จะได้พูดคุยกับทนายความ เพื่อวางแผนการดำเนินการด้านคดีต่อไป
“ข้อกล่าวหาก่อการร้ายนี้จะต้องมีเจตนาพิเศษซึ่งจะก่อการรุนแรงให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และเจ้าหน้าที่ แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่ปรากฏพฤติการณ์ดังกล่าว คำตัดสินไม่ได้เป็นชัยชนะ หรือความพ่ายแพ้ระหว่างโจทก์กับจำเลย ไม่ได้มีความรู้สึกว่านี่คือการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่าย แต่มันคือการปฏิบัติหน้าที่กันอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ผ่านกระบวนการยุติธรรมโดยมีศาลเป็นผู้พิพากษา” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลกลุ่มเสื้อแดงหัวรุนแรงจุดไฟเผาอาคารพาณิชย์ หลังแกนนำของตนประกาศยอมแพ้ ใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 (เอเอฟพี)
ในเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2553 กลุ่ม นปช. จัดชุมนุมทั่วกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยุบสภา โดยอ้างว่านายอภิสิทธิ์ได้ตำแหน่งโดยไม่ชอบ ต่อมารัฐบาลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม โดยใช้กระสุนจริง เพราะอ้างว่า มีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งถูกเรียกว่า “ชายชุดดำ” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ผลของการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย และบาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 2 พันราย การชุมนุมยังนำไปสู่การเผาห้างสรรพสินค้า สถานที่ราชการ และศาลากลางหลายจังหวัด ตามมาด้วยการดำเนินคดีกับแกนนำ และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจำนวนมาก
ต่อคำพิพากษาที่ออกมา นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยสังคมศาสตร์ สถาบันแมกซ์ แพลงค์ เยอรมัน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คำตัดสินดังกล่าวแทบไม่ส่งผลกระทบกับพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ซึ่งมีแกนนำกลุ่มนปช.ให้การสนับสนุนในช่วงปี 2553
“จริงอยู่ที่คดีที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปีถูกพิจารณาในช่วงนี้ สร้างความน่าสงสัย และเป็นไปได้ว่าอาจให้คุณให้โทษในทางการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การดิสเครดิตพรรคอย่างเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่นปช.ให้การสนับสนุนในช่วงเวลานั้น"
"แต่อย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมาก บวกกับระยะเวลาที่นานพอสมควรตั้งแต่เกิดเรื่อง ประสบการณ์ตรงกับเรื่องนี้กับกลุ่มคนดังกล่าวก็แทบไม่มี หรือมีก็น้อยมาก ผลกระทบกับพรรคจึงไม่น่าเป็นห่วง หนำซ้ำการตัดสินนี้อาจทำให้วาทกรรมต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างเช่น เผาบ้านเผาเมือง ถูกสังคายนาเสียที” นายพิทธิกรณ์ ระบุ
ศาลถอนประกัน เก็ท-ใบปอ ผู้ต้องหา คดี ม. 112
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนประกันตัว นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จำเลยในคดีดำ อ.1447/2565 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง และ น.ส. ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ อดีตนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง จำเลยในคดีดำ อ.1788/2565 และ คดีดำ อ .1691/2565 ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง หลังจากทั้งคู่ไปร่วมชุมนุมระหว่างการประชุม APEC เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565
“ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานจากการไต่สวนแล้วเห็นว่า ภายหลังการได้รับปล่อยชั่วคราวจากศาลแล้ว ต่อมาวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 จำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมกับพวก และเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพากลุ่มผู้ชุมนุมไปประท้วงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานผู้ร้องได้ ถือว่าผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาล มีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย ออกหมายขัง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
หลังมีคำสั่ง นายโสภณ ถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ขณะที่ น.ส. ณัฐนิช ถูกพาตัวไปควบคุมที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง
ก่อนหน้านี้ นายโสภณเคยถูกจับ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เพราะถูกกล่าวหาว่าปราศรัยหมิ่นเบื้องสูง ต่อมาได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ขณะที่ น.ส. ณัฐนิช ได้รับการประกันตัวเมื่อ 4 สิงหาคม 2565 หลังจากถูกควบคุมตัวเพราะตกเป็นจำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยระหว่างนั้นได้ประท้วงด้วยการอดอาหารร่วม 2 เดือน กระทั่งทั้งคู่ถูกถอนประกันตัวในวันจันทร์นี้