ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุตำรวจจับเด็กอายุ 12 ขวบ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.09.15
กรุงเทพฯ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุตำรวจจับเด็กอายุ 12 ขวบ พลุที่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลจุดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนระเบิดหน้าแนวรับของตำรวจ วันที่ 13 กันยายน 2564
รอยเตอร์

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเด็กและเยาวชนหลายสิบรายในช่วงสัปดาห์นี้ ในขณะที่พยายามควบคุมและจับกุมผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงที่ออกมาทำกิจกรรมต่อต้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา

ภาพวัยรุ่นใช้พลุไฟ ระเบิดปิงปอง และระเบิดขวด ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทุกเย็นที่สามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งกลายเป็นสมรภูมิการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร มาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 225 คน ซึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 15 คน และอายุระหว่าง 15-18 ปี อีก 62 คน ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการชุมนุมทางการเมือง ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2564

“ในกรุงเทพ ตำรวจควบคุมฝูงชนมักจะใช้การปราบปรามและการสลายผู้ชุมนุมเป็นแนวปฏิบัติ จนทำให้มีแนวโน้มของการใช้กำลังเกินและอาวุธเกินกว่าเหตุ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวในแถลงการณ์ในวันพุธนี้

ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ในช่วงดึกของวันจันทร์ที่ผ่านมา มีเด็กชายอายุ 12 ปี ซึ่งขี่จักรยานไปดูการประท้วงที่แยกดินแดงถูกควบคุมตัวในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในวันเดียวกันนั้น มีผู้ชุมนุมถึง 52 ราย ถูกคุมตัว โดยในคืนเดียวกัน มีผู้สื่อข่าวอิสระ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครด้านการแพทย์ถูกคุมตัวด้วย

การชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มขึ้นในกลางปี 2563 ทวีความรุนแรงเป็นที่ประจักษ์ชัดขึ้นในกลางปี 2564 เมื่อนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ “ไฮโซลูกนัท” ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เสียตาขวา หลังจากถูกยิงแก๊สน้ำตาใส่ในขณะปราศรัยบนรถเครื่องเสียง สามวันให้หลัง มีผู้ชุมนุมอายุ 15 ปี ถูกกระสุนปืนเข้าที่คอและยังไม่ได้สติ ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคมนี้

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “ทะลุแก๊ซ” กล่าวว่า เยาวชนคนดังกล่าว ซึ่งถูกยิงหน้า สน. ดินแดง ยังต้องรักษาตัวอยู่ห้องไอซียูและอาการยังไม่ดีขึ้น

“น้องต้องเป็นอัมพาตไปตลอดชีวิต แต่เรื่องคดียังไม่คืบหน้าแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าต้องรวบรวมหลักฐาน” เฟซบุ๊กเพจ “ทะลุแก๊ซ” ระบุ

ด้านฝั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บทั้งสาหัสและไม่สาหัสเช่นกัน

พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ในการเข้าสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 11 กันยายนนี้ ส.ต.ต. ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน อายุ 28 ปี ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ใบหน้า ดวงตา และได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง เพราะโดนประทัดยักษ์จากกลุ่มม็อบทะลุแก๊ซ

“มีการก่อความเดือดร้อนในหลาย ๆ พื้นที่ มีการวางเพลิงเผาทรัพย์ทั้งที่ของเอกชน และพื้นที่ราชการ รวมทั้งวางเรือใบในพื้นที่ถนนวิภาวดี และสามแยกดินแดง ทางลงอุโมงค์ ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก” พล.ต.ต. ปิยะ กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์นี้

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เฉพาะเดือนสิงหาคมนี้ มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 53 ราย ขณะที่ทางตำรวจไม่ได้มีการสรุปตัวเลขของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างชัดเจนนัก

ผู้ชุมนุมดินแดง : เราต้องการชีวิตปกติกลับคืนมา

ในวันพุธนี้ มีกลุ่มเยาวชนประมาณร้อยคนมารวมตัวที่แยกดินแดง โดยบางส่วนใช้รถจักรยานยนต์และบางส่วนเดินเท้า เตรียมที่จะมุ่งหน้าไปยังบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ ในกรมทหารราบที่หนึ่ง รักษาพระองค์ บนถนนวิภาวดีรังสิต แต่ไม่ได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนรุนแรงเหมือนวันก่อนหน้านี้ มีเพียงเสียงประทัดยักษ์ในพื้นที่ใกล้เคียงดังขึ้นเกือบตลอดเวลา และมีการเผายางรถยนต์บนพื้นถนนใต้ทางด่วนอีกด้วย

กลุ่มเยาวชนอายุในวัย 18-19 ปี กลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า พวกตนออกมาขับไล่พลเอก ประยุทธ์ เพราะพลเอก ประยุทธ์ทำเพื่อตัวเอง นอกจากนั้นยังต้องการแก้แค้นตำรวจควบคุมฝูงชน เพราะไปกระทืบเพื่อนผู้ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 7 กันยายนนี้

ด้านผู้ชุมนุมซึ่งขอให้ข้อมูลในนาม “เด็กวังน้อย” เปิดเผยว่า ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถชนที่หน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ตนเองจะยังประท้วงต่อไป

“ผมโดนชนวันที่ 10 มารู้สึกตัวอีกทีที่โรงพยาบาล เย็บไป 27 เข็ม หมอเล่าว่าเอานิ้วมือยัดเข้าไปในแผลได้ 4 นิ้ว หัวใจผมหยุดเต้นไปหนึ่งครั้งแต่เขาปั้มหัวใจขึ้นมา” เด็กวังน้อย ในวัยยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ผมมาชุมนุมเพราะอยากได้ชีวิตปกติกลับมา ทุกวันนี้มันทำไม่ได้เพราะมีเคอร์ฟิว ปฏิรูปสถาบันฯ ผมไม่ค่อยสนเท่าไหร่ แต่ก็อยากได้เหมือนกัน ถ้ามันทำให้นายกฯ ออกไป อะไร ๆ ก็น่าจะดีขึ้น ชีวิตผมก็คงจะดีขึ้นด้วย ผมไม่รู้สึกกลัวต่อคำขู่ของเจ้าหน้าที่ที่ว่าจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ชุมนุมภายในเดือนตุลาคมที่จะถึง หากเจ้าหน้าที่กระทำรุนแรงกับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกลับเช่นกัน” เด็กวังน้อยกล่าวเพิ่มเติม

ผศ.ดร. กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 คือ ปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเคลื่อนไหวบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง

“ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชนชั้นล่างที่เจอกับความเหลื่อมล้ำ ความยากจน หลุดจากระบบการศึกษา ครอบครัวไม่สมบูรณ์ หรือเป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ทั้งยังเคยถูกกระทำและล่วงละเมิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ไม่เหลือที่พึ่งในสังคม” ผศ.ดร. กนกรัตน์ กล่าว

"สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ การที่ผู้ใหญ่จะเปิดใจรับฟังพวกเขา และการที่รัฐจะผลักดันนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตให้เขาพ้นความยากจนและเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ผศ.ดร. กนกรัตน์" ระบุ

jailed boys.jpg

นายพรหมศร วีระธรรมจารี (ซ้ายมือ), นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ (กลาง) และนายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย ชูสามนิ้วหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำธัญบุรี วันที่ 15 กันยายน 2564 (เบนาร์นิวส์)

แกนนำราษฎร 4 คน ได้รับการปล่อยตัว

ในวันเดียวกันนี้ ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า นายพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า, นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์, นายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย และนายณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ต้องหาคดีชุมนุมที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว โดย ศาลให้ผู้ต้องหาทั้งหมดติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในระหว่างการได้รับประกัน

“ผมจะไม่ร้องขอความยุติธรรมกับคนที่มันอยุติธรรมกับพวกเรา อิสรภาพหรือการถูกกักขังของพวกเรา ถือเป็นภารกิจของการเปลี่ยนแปลงไปเป็น รีพับลิคออฟไทยแลนด์ ฉะนั้นแล้ว ต่อจากนี้ไปขอให้มันเป็นเวลาของการเปลี่ยนแปลง” นายภานุพงศ์กล่าวปราศรัย หลังได้รับการปล่อยตัว

ในวันเดียวกันนี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ผู้ต้องหาอีกรายได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในคดีเดียวกันกับทั้ง 4 ราย แต่ด้วย นายพริษฐ์ ยังมีหมายขังในคดีการชุมนุม 19 กันยายน 2563 ซึ่งศาลอาญาได้สั่งเพิกถอนการประกันตัว เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นายพริษฐ์ ยังถูกคุมตัวที่เรือนจำธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ต่อไป

ทั้งนี้ นอกจากนายพริษฐ์แล้ว นายอานนท์ นำภา และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ซึ่แกนนำกลุ่มราษฎร ยังคงถูกควบคุมตัวในเรือนจำเช่นกัน หลังจากที่ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว ในการยื่นขอครั้งล่าสุดเมื่อวันอังคาร ตามการเปิดเผยของศูนย์ทนายฯ

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง