ผู้ชุมนุมวัยรุ่นอาการขั้นโคม่า หลังถูกยิงที่คอ ในการชุมนุม 16 ส.ค.
2021.08.17
กรุงเทพฯ
โรงพยาบาลราชวิถีแถลงในวันอังคารนี้ว่า ผู้ชุมนุมซึ่งถูกยิงระหว่างร่วมการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ยังมีอาการในขั้นโคม่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงยืนยันว่า ฝ่ายตำรวจไม่ได้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุม
โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยผ่านเอกสารข่าวในวันอังคารนี้ว่า แพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ชุมนุมซึ่งมีบาดแผลจากกระสุนเจาะเข้าที่ลำคอด้านซ้ายเอาไว้ได้ หลังจากที่มูลนิธิร่วมกตัญญูได้นำตัวมาส่งในเวลา 21.00 น. ของวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวอยู่ในอาการโคม่า ซึ่งขณะแรกรับนั้น ผู้ได้รับบาดเจ็บหมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร จากนั้นทีมแพทย์ฉุกเฉินได้ทำการใส่ท่อช่วยหายใจ และปั๊มหัวใจ ประมาณ 6 นาที ผู้บาดเจ็บกลับมามีสัญญาชีพ
“จากการตรวจเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบกระสุนปืนค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด และพบกระดูกต้นคอซี่ที่ 1 และ 2 แตก ขณะนี้ผู้บาดเจ็บได้เข้ารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ศัลยกรรม” โรงพยาบาลราชวิถี ชี้แจง
ต่อมา นางนิภาพร สมน้อย มารดาของผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้เข้าเยี่ยมบุตรชาย และได้เปิดเผยแก่สื่อมวลชนภายหลังว่า ตนได้ห้ามลูกชาย ซึ่งมีอายุ 15 ปีแล้ว แต่เจ้าตัวยังดื้อแพ่ง
“เขาบอกขอแม่ไปชุมนุม แม่เลยบอกว่า อย่าไป มันไม่ใช่หน้าที่ของเด็ก แม่โทรตามแล้วเขาไม่รับสาย เขาออกไปครั้งแรก เขาไม่เคยไปชุมนุม” นางนิภาพร กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ด้าน พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ตามมาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยไม่ใช้อาวุธจริง
“ยืนยันว่า ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชน ที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ไม่มีการใช้อาวุธปืนจริง ขอยืนยัน” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าว และระบุเพิ่มเติมว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุม 13 ราย โดยในนั้นมีเยาวชน 5 ราย
“เมื่อวานนี้ มีคนได้รับบาดเจ็บ เบื้องต้นเชื่อว่าได้รับบาดเจ็บจากอาวุธ แต่อาวุธอะไร ขนาดเท่าไหร่ ต้องรอความเห็นจากแพทย์… ผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณลำคอ จากการรวบรวมพยานหลักฐานเขาวิ่งมาจากโรงแรมปริ๊นซ์ตัน ผ่านหน้าโรงพัก (สน. ดินแดน) และมาล้มลงตรงหน้าโรงบำบัดน้ำเสีย” พล.ต.ท. ภัคพงศ์ ระบุ
ในช่วงบ่ายวันจันทร์ กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขับไล่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มใช้พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดน เป็นจุดชุมนุมและปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจมีอาวุธเป็นปืนยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ขณะเดียวกัน ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพฯ ระบุว่า ในการชุมนุมเมื่อวันจันทร์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นฝ่ายผู้ชุมนุม 6 ราย และฝ่ายเจ้าหน้าที่ 1 ราย
ต่อการชุมนุม ดร. ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์การชุมนุมมีความรุนแรงขึ้นเนื่องจาก รัฐบาลไม่ยอมรับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และต้องการหยุดกระแสเรียกร้องอย่างรวดเร็ว
“สถานการณ์ในปัจจุบัน รุนแรงกว่าช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยนึงอาจจะเพราะมีผู้ชุมนุมกลุ่มฮาร์ดคอร์ด้วย แต่นั่นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด การใช้ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับรัฐบาลประยุทธ์ (จันทร์โอชา) เพราะเห็นว่าเป็นวิธีเดิมที่รัฐบาลนี้ใช้มาตั้งแต่ยุค คสช. รัฐไม่เคยแสดงท่าทีในการจะรับฟังเสียงของประชาชน และพยายามสกัดกั้นความเคลื่อนไหว” ดร. ฐิติพล ระบุ
จากการรวบรวมข้อมูลในสื่อต่าง ๆ พบว่า การชุมนุมในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่มากกว่า 20 ราย ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ถึงปัจจุบัน มีประชาชนมากกว่า 7 ร้อยคน ถูกดำเนินคดีในเกือบ 4 ร้อยคดี ในจำนวนทั้งหมดเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง หรือ ม. 112 อย่างน้อย 118 ราย ใน 117 คดี โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ 1. นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่ มีการชุมนุมเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่กรุงเทพฯ ก่อนขยายไปสู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ