ความล้มเหลวในการแก้ไขโควิด เติมเชื้อไฟให้การประท้วงรุนแรงขึ้น

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.08.18
กรุงเทพฯ
ความล้มเหลวในการแก้ไขโควิด เติมเชื้อไฟให้การประท้วงรุนแรงขึ้น ประชาชนยืนดูรถบรรทุกผู้ต้องขังตำรวจที่ถูกเผา ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ในกรุงเทพฯ วันที่ 7 ส.ค. 2564
ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์

การประท้วงตามท้องถนนของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว” หลังจากความล้มเหลวของรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้การประท้วงมีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ประสานการจัดกิจกรรมประท้วง และฝ่ายที่เกี่ยวข้องกล่าว 

นับตั้งแต่การที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเริ่มการประท้วงรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2563 และได้มีพัฒนาการขบวนการขับเคลื่อนเป็น “ราษฎร” ได้เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ลาออก ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การประท้วงโดยส่วนใหญ่ยังเป็นไปด้วยความสงบ แม้ว่าแกนนำหลาย ๆ คนจะถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น และหมิ่นสถาบันกษัตริย์ก็ตาม

แต่ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นวัยรุ่น ได้มีการปะทะกับตำรวจชุดควบคุมฝูงชนบ่อยครั้ง จนกระทั่งถึงวันพุธนี้ 

“การชุมนุมในเดือนสิงหาคมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว... ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหา ฝ่ายรัฐมีมาตรการเข้มงวดใช้มาตรการรุนแรงมากขึ้น การตอบโต้ของผู้ชุมนุมก็มีมากขึ้นคู่ขนานกันไป” นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้ากลุ่มวีโว่ (WeVo) กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายปิยรัฐ คาดการณ์ว่าการประท้วงจะยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนหลังจากนี้ และจะมีการกระทบกระทั่งมากขึ้น จนอาจจะทำให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวด แต่ตนไม่แน่ใจว่าจะถึงการประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ และจะมีการใช้กระสุนจริงไหม ซึ่งต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน

“ผมไม่แน่ว่ารัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร ผู้ชุมนุมดำเนินการกันยังไง ไม่สามารถประเมินได้... มีจำนวนไม่น้อยที่พร้อมปะทะ”

สำหรับเหตุผลของผู้ที่ออกมาประท้วงครั้งนี้ นายปิยรัฐ บอกว่า บางรายได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจอย่างหนัก “เท่าที่ได้พูดคุยกับคนร่วมชุมนุม เขาออกมาเพราะเขากลัวอดตาย เขากลัวประยุทธ์อยู่ต่อมากกว่าติดโควิด” นายปิยรัฐกล่าว

210818-TH-protest-firecrackers.jpg

ผู้ประท้วงรวมตัวกันหน้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ใช้ขวางกลุ่มประท้วงไม่ให้คืบหน้าต่อ ขณะประทัดถูกจุดระเบิด ระหว่างการประท้วง ที่กรุงเทพฯ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564  (เอเอฟพี)

ในช่วงแรกของการเกิดการระบาดในปี 2563 รัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี จนได้รับความชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก แต่เมื่อเกิดระบาดระลอกสามเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนไม่ทันการ ณ ปัจจุบันนี้ มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว 5,381,676 คน หรือประมาณ 8.1 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนประชากรกว่า 66 ล้านคน

เมื่อครั้งที่มีภาพคนเร่ร่อนตายบนถนนย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ยิ่งทำให้สังคมรู้สึกหดหู่ใจ ขณะที่ในวันพุธนี้ มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 312 คน

ในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้ประกาศการขยายเวลาการควบคุมการเปิดกิจการร้านค้าและเคอร์ฟิวช่วงกลางคืน ที่มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมทั้งได้แสดงความเสียใจ

“ผมรับรู้ความเจ็บปวดของทุกท่านที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องปิดกิจการ หรือผู้ที่ต้องสูญเสียรายได้จากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ หรือแม้แต่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากโรคร้ายนี้ ผมเจ็บปวดและเศร้าใจทุกครั้งที่ได้อ่านข่าวผู้เสียชีวิตจากโควิด” พลเอก ประยุทธ์ กล่าวทางเฟซบุ๊ก และระบุว่ามันเป็นเครื่องเตือนใจตนให้ทำหน้าที่ให้ดีขึ้น

210818-TH-protest-riot-police.jpg

ผู้ประท้วงเผชิญหน้ากับตำรวจควบคุมฝูงชน ในระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ วันที่ 7 ส.ค. 2564 (ไลลา ตาเฮ/เบนาร์นิวส์)

ผลพวงวิกฤตศรัทธา

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บก.ลายจุด ที่ผันตัวเป็นนักกิจกรรม และผู้ริเริ่มคาร์ม็อบ “Car Mob” ที่มีมาในเดือนนี้ กล่าวว่า การชุมนุมระลอกใหม่นี้ เป็นการชุมนุมบน “บรรยากาศวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่ของรัฐบาล” และสำหรับตนเองแล้ว ยังมีเป้าหมายสำคัญคือ การขับไล่พลเอก ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่ง

“สำหรับผม ข้อเรียกร้องระดับที่หนึ่งคือ เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์ ลาออก ยุบสภา หลังจากยุบสภาจะมีข้อเรียกร้องอีกระดับนึง” นายสมบัติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

นายสมบัติ ระบุว่า ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ มีความต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นการเมืองล้วน ๆ ในขณะที่ปีนี้มีปัญหาโควิดและเศรษฐกิจผนวกเข้ากับปัญหาการเมือง ทำให้กองไฟมันใหญ่ขึ้น เพราะสังคมเห็นชัดว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารสถานการณ์โควิดได้

นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการประท้วงจนถึงวันพุธนี้ 10 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ยิงใส่ผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษาอาชีวศึกษาและเยาวชน พยายามฝ่าแนวรักษาความปลอดภัยสถานที่สำคัญ ๆ รวมทั้งที่ตั้งกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ที่ยังเป็นที่ตั้งของบ้านพักรับรองบุคคลสำคัญในรัฐบาล ขณะที่ปรากฏภาพและรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงใช้หนังสติ๊ก ประทัดยักษ์ และระเบิดขวด โจมตีเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเผาป้อมยามและรถยนต์ตำรวจในย่านใกล้เคียง

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า การประท้วงได้เปลี่ยนรูปแบบไป โดยกลุ่มผู้ประท้วงที่มีความโกรธและไร้แกนนำ พร้อมที่จะปะทะตลอดเวลา

ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า กลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือกลุ่มทะลุฟ้า เป็นต้น ใช้วิธีนัดการก่อการประท้วงโดยผ่านทางเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดีย ซึ่งนายสมบัติ กล่าวว่า ตนเองแกนนำกลุ่มหลัก เช่น ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง) หรือ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ก็ไม่สามารถกล่อมผู้ประท้วงในท้องถนนให้ล้มเลิกการปะทะกับตำรวจได้

210818-TH-protest-prayuth.jpg

ผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยถือป้ายระหว่างคาร์ม็อบประท้วง เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก เพราะรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564  (เอเอฟพี)  

ด้าน นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าการประท้วงจะไม่รุนแรงเกินไปกว่านี้

“ความรุนแรงจะไม่ขยายจนยกระดับสู่การเผาบ้านเผาเมือง เพราะกลุ่มเลือดร้อนที่มาชุมนุมไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีองค์กรลับ ไม่มีการสนับสนุนอาวุธ ไม่มีความพยายามจะก่อความรุนแรงเกิดพิกัด” นายอนุสรณ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้มีเยาวชนอายุ 15 ปี หนึ่งรายถูกยิงด้วยอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ระบุชนิด พบกระสุนปืนค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด และพบกระดูกต้นคอข้อที่ 1 และ 2 แตก ยังรับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ที่โรงพยาบาลราชวิถี ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่ได้ใช้อาวุธจริง

ในเรื่องนี้ พลโท นันทเดช เมฆสวัสด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง กล่าวแสดงความกังวลว่า เหตุการณ์จะสามารถบานปลายได้

“สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นตามลำดับ มีการทำลายสิ่งสาธารณะ เผาป้อมยาม รถตำรวจ และปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชน เป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะกดดันเจ้าหน้าที่ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต เพื่อเอามาแห่ปลุกเร้าสังคมให้ร่วมกดดันรัฐบาล ขึ้นอยู่กับว่าผู้บงการจะให้ม็อบกระทำรุนแรงขนาดไหน เจ้าหน้าที่ต้องระมัดระวัง รัฐบาลต้องตั้งรับโดยไม่ใช้ความรุนแรง” พลโท นันทเดช กล่าวกับเบนาร์นิวส์

แต่ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ตามแบบปกติ

“ผมยืนยันว่าเรายังใช้มาตรการตามมาตรฐานสากล ยังคงใช้มาตรฐานเดิม มาตรการเดียวกับปีที่แล้ว ไม่ได้มีการเพิ่มมาตรการ ที่ผ่านมา เรามีการพูดคุยมีการประสานงานกัน (กับผู้ชุมนุม) ระดับนึง ส่วนผู้ชุมนุมจะเชื่อฟังหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องนึง ถ้าประเมินสถานการณ์ หลังจากนี้ การชุมนุมก็น่าจะเป็นเช่นนี้ไปเหมือนกับการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง