สามจังหวัดชายแดนใต้คึกคัก เลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 8 ปี

มารียัม อัฮหมัด และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2020.12.18
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
สามจังหวัดชายแดนใต้คึกคัก เลือกตั้งท้องถิ่นในรอบ 8 ปี ประชาชนในจังหวัดยะลา ดูป้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในจังหวัดยะลา วันที่ 18 ธันวาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้ง สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยจะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั้งประเทศ ยกเว้น กรุงเทพฯ ท่ามกลางความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่การเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้พร้อมแล้วที่จะเลือกผู้นำในระดับท้องถิ่น

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ถือเป็นช่วงสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเลือกตัวแทนระดับท้องถิ่น สำหรับฝ่ายความมั่นคงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ เพื่อพร้อมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่จะถึงแล้ว

“ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้เฝ้าติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเท่าที่ติดตามมาในพื้นที่จนถึงขณะนี้ ยังไม่พบรายงานความผิดปกติ หรือความพยายามใช้ความรุนแรง ซึ่งต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ร่วมมือช่วยกันดูแลพื้นที่เป็นอย่างดี” พล.ท.เกรียงไกร กล่าวกับผู้สื่อข่าว

พล.ท.เกรียงไกร ระบุว่า แม้สถานการณ์ความรุนแรงในภาพรวมจะดีขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมได้แจ้งไปยังหน่วยต่าง ๆ ในพื้นที่ให้เฝ้าระวัง และป้องปรามกลุ่มที่อาจก่อกวนสร้างความวุ่นวาย ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งด้วย โดยการดูแลพื้นที่ในวันเลือกตั้ง 20 ธันวาคม 2563 ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ยังต้องเตรียมการซักซ้อมการปฏิบัติในการดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

ด้านนายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ในการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ ต้องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในระบอบประชาธิปไตยให้มากที่สุด โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล

“ต้องการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามขอให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมหน้ากากอนามัยเข้าคูหาไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันดังกล่าว” นายราชิต กล่าว

ผู้สมัครเชิญชวนคนในพื้นที่กำหนดอนาคตของตัวเอง

นายจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.อบจ. ปัตตานี เขตเลือกตั้งที่ 3 อำเภอเมือง กล่าวว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่

“การมีส่วนร่วมในการคิดทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า และเอาทั้งสองแนวคิดมาร่วมกัน คนรุ่นใหม่ควรได้กำหนดแนวคิดเขาเอง ทุกคนรู้จักชุมชนตัวเองดีที่สุด เด็ก 2 ขวบที่เติบโตมาตอนสถานการณ์ชายแดนใต้เริ่มขึ้น เขาจะได้ใช้สิทธิ์ครั้งแรกในปีนี้ จึงอยากให้คนรุ่นใหม่มาใช้สิทธิ์กันมาก ๆ แม้ว่าอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองที่กรุงเทพ แต่เราต้องอยู่บ้านของเรา จึงเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น ไม่ใช่รัฐบาลกลาง เราต้องมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมบ้านเราเอง ร่วมพัฒนาชุมชนของเราด้วยการมาใช้สิทธิ์” นายจตุรนต์ ระบุ

ขณะที่ นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี ผู้สมัครเลือกตั้ง นายก อบจ. ปัตตานี กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พยายามเสนอนโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริง

“นโยบายคือ การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีตลาดกลาง สร้างพื้นที่ทางการเรียนรู้วิชาชีพพร้อมการปฏิบัติในตลาดจริง อยากกระตุ้นการมีสตาร์ทอัพ สร้างความยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมการศึกษาผนวกเทคโนโลยีเพื่อเเก้ปัญหาการว่างงาน ค้นหาอาชีพที่เหมาะสมกับพื้นที่ กิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย และกิจกรรมศาสนาสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร และประมง” นายเศรษฐ์ กล่าว

ด้าน นายคอยรูซามัน มะ ผู้สมัคร นายก อบจ. นราธิวาส กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

“การหาเสียงทำให้เราได้เห็นการตอบรับอย่างดีจากพี่น้องประชาชน ต้องขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด เชื่อมั่นว่าคนนราธิวาส มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เลือกคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่น้องชาวนราธิวาส ให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป” นายคอยรูซามัน ระบุ

ในการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก อบจ. ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี มีเขตเลือกตั้ง 30 เขต มีผู้สมัครนายก อบจ. 2 คน  นราธิวาส มีผู้สมัคร นายก อบจ. 3 คน  ขณะที่ จ.ยะลา มีผู้สมัคร นายก อบจ. 2 คน

ประชาชนหวังผู้สมัครแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น

นายดอเลาะ มูซอ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่คาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้เท่าไหร่นัก เนื่องจากที่ผ่านมาการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของชาวบ้าน

“การเลือกตั้ง อบจ. ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับชาวบ้าน และนักการเมืองไม่ว่าจะระดับชาติหรือท้องถิ่น ก็คือนักการเมือง ที่ทำทุกอย่างเพื่อพวกพ้องของตนเอง ชาวบ้านจึงอย่าหวังอะไรมากไปกว่าเงิน 50-100 ตอนเลือกตั้ง ตอนนี้ก็เหมือนกัน รอจ่ายเงินอย่างเดียว และไปเดินขอคะแนนเสียง ตอนได้รับเลือกตั้งก็หายหัว ชาวบ้านเดือดร้อนไม่เคยได้เจอ” นายดอเลาะ กล่าว

น.ส. ตอฮีเราะ มูซอ ครูในจังหวัดปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ต้องการให้นักการเมืองท้องถิ่นแก้ปัญหาด้านการศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นรากฐานของความสงบในพื้นที่

“อยากเห็นนักการเมืองท้องถิ่น เน้นเรื่องการศึกษา ทำให้เด็ก ๆ ในพื้นที่สามารถเรียนฟรีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีทุนสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องแต่งกายของเด็ก รวมทั้งมีอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพ ไม่โกงนม และอาหารกลางวันของเด็ก ที่ผ่านมาเราไม่เคยแก้ปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จะหยุดลงได้ ต้องแก้ที่การศึกษา เด็ก ๆ ในพื้นที่ควรได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ” น.ส. ตอฮีเราะ ระบุ

นักวิชาการชี้ ‘เลือกตั้งท้องถิ่น’ จุดเปลี่ยนสำคัญ

ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก ในแง่ของการเห็นอำนาจ และความท้าท้ายใหม่ ๆ ของการเมืองท้องถิ่น หลังจากที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งมาอย่างน้อย 8 ปี ที่ผ่านมา ไม่มีการแข่งขัน จึงไม่มีโครงการใหม่ ๆ ส่วนกลางสั่งอะไรมา ก็ต้องทำหมด

“การลงสนามท้องถิ่นของพรรคก้าวไกลไม่ได้คาดหวังว่าจะชนะในหลายพื้นที่ และอาจจะไม่ได้ นายก อบจ. เลยด้วยซ้ำ แต่เป็นไปเพื่อการรักษาฐานคะแนนเสียงชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเสียงของเยาวชนที่ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านไปเลือกใคร ดังที่พรรคได้ชูแคมเปญ กลับบ้านไปเลือกตั้ง สะท้อนว่า ฐานเสียงส่วนใหญ่ของพวกเขาไม่ได้อยู่ในจังหวัดตนเอง” ดร.ณัฐกร ให้สัมภาษณ์แก่เบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์

“คะแนนเสียงในครั้งนี้จะสะท้อนภาพในระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งทั้งพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงรัฐบาลเองจะได้ใช้ประเมินฐานกำลังของตนเอง ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต” ดร.ณัฐกร ระบุเพิ่มเติม

ด้าน นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น จะส่งเสริมให้คนมีโอกาสร่วมตัดสินใจในการใช้งบประมาณมากขึ้น และยังมีการเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติด้วย เช่น จะเห็นว่า พรรคใหญ่ ๆ ก็ยังส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงเชิงเครือข่าย

“เชื่อว่า ผลการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่น อาจมีไม่มากนัก และผลการเลือกตั้ง ก็ไม่น่าจะต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุด กลุ่มการเมืองเดิม ๆ จะยังอยู่ น่าจะยังไม่เห็นการที่พรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้า ได้คะแนนเสียงมากเท่ากับการเมืองระดับประเทศ แต่ถ้าหากก้าวไกล หรือก้าวหน้าได้คะแนนมาก ก็ถือว่าเป็นการสะท้อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่โดยผลลัพธ์อาจจะยังไม่เยอะมากนัก” นายฐิติพล กล่าว

การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2555

การเลือกตั้ง นายก อบจ. ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2555 ที่จังหวัดลำพูน และอำนาจเจริญ โดยนับตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ทำให้ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก เนื่องจากในสมัย คสช. มีการออกคำสั่งให้ นายก อบจ. ที่หมดวาระ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยข้อมูลในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง นายก อบจ. 331 คน และ ส.อบจ. 8,070 คน โดยในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ จะมี นายก อบจ. จังหวัดละ 1 คน และ ส.อบจ. ตั้งแต่ 24-48 คน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั่วประเทศกว่า 46 ล้านคน

นายก อบจ. มีหน้าที่บริหาร ทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายงานผลการปฏิบัติงาน และการใช้จ่ายงบให้สภาท้องถิ่นทราบ ขณะที่ ส.อบจ. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ออกข้อบัญญัติที่ใช้ในท้องถิ่น การจัดการเรื่องต่างๆ การออกความเห็นชอบในนโยบาย และการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ทั้ง 2 ตำแหน่งมีวาระคราวละ 4 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ นายก อบจ. จะได้รับเงินเดือน 75,530 บาท ขณะที่ ส.อบจ. จะได้รับเงินเดือนเดือนละ 19,440 บาท

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในวันเลือกตั้ง และมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันเลือกตั้ง คูหาเลือกตั้งเปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ผู้ใช้สิทธิ์ต้องแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้แล้วมีเลขบัตรประชาชน จะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกสำหรับเลือก นายก อบจ. และใบที่สอง สำหรับเลือก ส.อบจ. การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เปิดให้มีการใช้สิทธิ์ล่วงหน้า หรือการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด หากไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต้องแจ้งเหตุจำเป็นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น ภายใน 7 วัน (ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งก็ได้) ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 2 ปี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง