กอ.รมน. ภาค 4 สรุป รอมฎอนสันติสุข เสียชีวิต 4 เจ็บ 19 ราย
2024.04.10
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ
พ.อ. เอกวริทธิ์ ชอบชูผล โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยข้อมูลช่วงรอมฎอน หรือช่วงถือศีลอดของผู้นับถือศาสนาอิสลามว่า มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 35 เหตุ มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 19 ราย นักสิทธิมนุษยชนชี้รอมฎอนปีนี้เลวร้ายกว่าสองปีที่ผ่านมา
“เหตุความมั่นคง ในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงรอมฎอนมี 35 เหตุ แยกเป็นปัตตานี 13 เหตุ ยะลา 6 เหตุ นราธิวาส 13 เหตุ และสงขลา 3 เหตุ ถือว่าสถานการณ์ที่เกิดช่วงนี้สูงกว่าหลายปี” พ.อ. เอกวริทธิ์ กล่าว
ในปี 2565 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยริเริ่ม “รอมฎอนสันติสุข” โดยอนุญาตให้ผู้มีหมายจับคดีความมั่นคงเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัว ในห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งปีนั้น คณะพูดคุยฯ แถลงว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม รอมฎอนสันติสุขไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566
ในปี 2567 นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศให้วันอังคารที่ 12 มีนาคม เป็นวันเริ่มเดือนรอมฎอน และวันที่ 10 เมษายน เป็นวันวันอีฎิลฟิตริ หรือวันสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
ก่อนหน้านี้ ในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มาเลเซีย คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ระบุว่า จะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนถือศีลอดโดยใช้ชื่อ “รอมฎอนสันติสุข” อีกครั้ง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และลดเหตุความรุนแรง
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 มีนาคม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงร่วม 50 นาย ได้เข้าปิดล้อมจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับคดีความมั่นคงในพื้นที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี จนเกิดเหตุปะทะ ทำให้มีผู้ต้องหา 2 รายถูกวิสามัญฆาตกรรม ทำให้เกิดการวิพากษ์-วิจารณ์บนโซเชียลมีเดียว่า รัฐบาลไม่จริงใจในการเจรจา
ต่อมา 22 มีนาคม เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-เผา ทรัพย์สินราชการ และเอกชนกว่า 40 จุดในพื้นที่ สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นการพยายามตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม
และล่าสุด 7 เมษายน เกิดเหตุคนร้ายซุ่มยิงรถของเจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4613 ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จนมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพราน เสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 8 นาย
ต่อเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้น พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น และกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย
“เราสั่งการคุมเข้มพื้นที่ เพื่อดำเนินการตรวจสอบ รวบรวมวัตถุพยาน และเร่งติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด ย้ำให้ทุกพื้นที่ ทุกฐานปฏิบัติการเพิ่มมาตรการควบคุมความปลอดภัย สอดส่องดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียของกำลังพลเจ้าหน้าที่ และพี่น้องประชาชน ใช้ปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อจำกัดเสรีการก่อเหตุ คุมเข้มพื้นที่รับผิดชอบทุกตารางนิ้ว” พล.ท. ศานติ กล่าว
ด้าน สมาชิกบีอาร์เอ็น(สงวนชื่อและนามสกุล) เปิดเผยว่า เหตุที่เกิดขึ้นในช่วงรอมฎอนไม่ใช่เกิดจากบีอาร์เอ็นเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังมีกลุ่มอื่นก่อเหตุด้วย
“ยังมีการวิสามัญชาวบ้าน มีการละเมิด และในการชี้แจงของรัฐ รัฐไม่เคยผิด นั่นแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยไม่จริงใจที่จะอยากให้สงบ ถ้ารัฐไทยไม่จริงใจ ก็ได้รับความไม่จริงใจกลับ เราเลยยังไม่เห็นความหวัง เสียทั้งงบประมาณ เสียเวลา ปัญหามันไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เพราะรัฐต้องไม่ลืมว่า ชาวบ้านคือคนที่ถูกกระทำ และรัฐสร้างความอยุติธรรมกับพวกเขา” สมาชิกรายดังกล่าว ระบุ
เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ปี 2547 ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ รัฐบาลเลือกที่จะจัดการปัญหาด้วยการส่งฝ่ายความมั่นคงลงไปปฏิบัติงาน ทำให้ระหว่างปี 2547-2553 ชายแดนใต้มีทหาร ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) กว่า 7.5 หมื่นนาย
ต่อมาในปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้ “การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นทางออก แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย
“เมื่อเขาเรียกร้องไม่ได้ เขาเลยต้องสร้างสถานการณ์ จนตอนนี้ ความสูญเสียมันมากเกินกว่าจะบอกให้แล้ว ๆ กันไป การแก้ปัญหา ตราบใดที่การพูดคุยสันติสุขมีกรอบมากมาย มีการปิดกั้น หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ การพูดคุยควรเป็นไปในแบบที่ไม่มีเงื่อนไข เพื่อทุกฝ่ายจะได้เปิดใจคุยกัน” สมาชิกบีอาร์เอ็นรายเดิม กล่าว
ล่าสุดในปี 2567 คณะพูดคุยฯ พยายามใช้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ที่มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต
ด้าน น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และ กมธ.สันติภาพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รอมฎอนปีนี้เลวร้ายกว่าปี 2565 และ 2566 มาก ตัวเลขเหตุการณ์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะภาคธุรกิจและผลกระทบที่เป็นลูกโซ่คือการบังคับใช้กฏหมายพิเศษ การจับกุมประชาชน และความหวาดระแวง
“สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากคู่เจรจาระหว่างไทยและBRN คือความอดทนอดกลั้นต่อการไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กันจุดเริ่มต้นจากการที่รัฐใช้ความรุนแรงและต่อมาคือการตอบโต้จากกองกำลังติดอาวุธซึ่งต่างก็ไม่แยแสว่าประชาชนคนตรงกลางจะเป็นอย่างไร” น.ส. อัญชนา กล่าว
ทั้งนี้ในวันที่ 9 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ถึง 19 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 76 นับตั้งแต่มีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่