ชายแดนใต้ การอนุรักษ์ และการต่อสู้ด้วยการฟื้นฟูนาร้าง
2024.07.12
นราธิวาส

ในอดีตเคยมีประโยคที่ว่า “ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ” ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการปลูกข้าวเลี้ยงคนมากแค่ไหน ดังนั้น “ชาวนา” จึงเป็นอาชีพหลักที่ขาดไม่ได้ของประเทศตลอดหลายร้อยปี
แต่ในปัจจุบัน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อาชีพชาวนากลับเป็นอาชีพที่ไม่สามารถสร้างรายได้เพียงพอ ลูกหลานชาวนาจำนวนหนึ่งจึงหันหลังให้กับงาน และท้องนาของบรรพบุรุษ เพื่อไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “นาร้าง” เพราะคนรุ่นใหม่เลือกที่จะมุ่งหน้าไปหางานในเมืองหลวง ไม่ก็ไปเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารที่มาเลเซีย จำนวนนาข้าวจึงค่อย ๆ หดลงเรื่อย ๆ จากที่ในปี 2554 นราธิวาสมีพื้นที่นา 8.66 หมื่นไร่ สิบปีต่อมาพื้นที่นาลดลงเหลือ 8.47 หมื่นไร่
“ปัจจุบัน เกิดนาร้าง เพราะแม้ชาวบ้านจะพยายามปลูกข้าวควบคู่กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ก็ยังสร้างรายได้ให้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวไม่ได้ การทำนาจึงไม่สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ ๆ ให้อยู่กับบ้านทำนา และความจริงอีกอย่างที่ต้องยอมรับคือ การทำนาแบบนี้ไม่เคยทำให้ใครรวย” สุกรี มามะ ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูนาร้าง นราธิวาส กล่าว
สภาพอากาศ และฤดูกาลที่แปรปรวนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวนาหันหลังให้กับนาของตัวเอง
“การปลูกข้าวมันสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ โลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ตลอดชีวิตที่ทำนายังไม่เคยเจอการเปลี่ยนแปลงฉับพลันแบบนี้ ทำให้ปีนี้ เราแทบไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพราะเกิดทั้งน้ำท่วมใหญ่ และเมื่อเข้าสู่ช่วงข้าวตั้งท้องอากาศก็ร้อนแล้งผิดปกติทำให้ต้นข้าวไม่สมบูรณ์” แวแอเสาะ (สงวนนามสกุล) ชาวนาอายุ 70 ปี จากปัตตานีกล่าว
ขณะที่เกิดปรากฏการณ์นาร้าง ชาวนาจากพื้นที่ชายแดนใต้ก็กำลังหลั่งไหลเข้าไปแสวงโชคในมาเลเซีย
“มีคนไทยที่ไปทำงานในมาเลเซียราว 2 แสนคน มีทั้งแรงงานที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในร้านอาหารต้มยำ” ชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าว

ที่ชุมชนบ้านอีนอ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ชัดเจนของปรากฏการณ์นาร้างที่เกิดขึ้น เพราะคนอายุน้อยเริ่มย้ายตัวเองออกจากบ้านเกิด
“การเปลี่ยนแปลงของชุมชนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาชี้ชัดว่า ชาวนารุ่นถัดไปของชุมชนค่อย ๆ หายไป พื้นที่รอบเขาเมาะแต เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เรื่องน้ำ และแร่ธาตุ ในอดีตมีชุมชนที่ปลูกข้าวรอบ ๆ เขาเมาะแตถึง 9 ชุมชน แต่ปัจจุบัน กลับเหลือเพียงแค่ 2 ชุมชน และเหลือไม่กี่ครอบครัวที่ยังรักษาแปลงนาเพื่อปลูกข้าวอยู่” สุกรี กล่าว
นาร้างที่เกิดขึ้นทำให้คนรุ่นเก่า เริ่มเป็นห่วงคนรุ่นหลัง ทั้งในแง่อาชีพ วัฒนธรรม และความมั่นคงทางอาหาร
รื้อฟื้นนาร้าง
“เรากังวลต่ออนาคตของชุมชน ชาวนารุ่นถัดไปเริ่มหายากขึ้นเรื่อย ๆ แปลงนาส่วนใหญ่เริ่มเปลี่ยนเป็นนาร้าง เราอยากเห็นชาวบ้าน ลูกหลานของเราในชุมชนแห่งนี้กลับมาทำนาปลูกข้าวด้วยวิถีปกติอีกครั้ง” อามีเนาะ (สงวนนามสกุล) ชาวนาอายุ 60 ปี แห่งบ้านอีนอ กล่าว
อามีเนาะ เป็นชาวนาที่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าว ขณะเดียวกันก็กรีดยางควบคู่ไปด้วย ข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกได้ก็เพื่อเอาไว้กินในครอบครัว หากเหลือก็จากที่กินก็เอาไว้ขายให้กับคนอื่น ขณะเดียวกัน อามีเนาะก็เชื่อว่า การปลูกข้าวจะช่วยรักษาระบบนิเวศของชุมชนเอาไว้
“การปลูกข้าวเป็นเรื่องความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นการสั่งเสียของคนรุ่นปู่ย่าตายายที่มิให้ละทิ้งการทำนาปลูกข้าว เราเชื่อว่า การฟื้นฟูนาร้างและการปกป้องภูเขาเป็นการสร้างความมั่นคงของระบบชีวิตทั้งหมด” อามีเนาะ กล่าว
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูนาข้าวชุมชนให้กลับมามีชีวิต อามีเนาะจึงเข้าร่วมกับเครือข่ายฟื้นฟูนาร้าง ทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องกระบวนการการปลูกข้าว และการจัดการพื้นที่นา
โครงการฟื้นฟูนาร้าง ชุมชนบ้านอีนอ ต.ลาโละ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นโดยการริเริ่มของ บัณฑิตปาตานี (Patani Graduate Network) ในปี 2562 โดยร่วมมือกับเยาวชนในพื้นที่ และโรงเรียนมลายู โรงเรียนประจำชุมชน ซึ่งจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับจริยธรรม ความเชื่อ ศาสนา และภาษามลายู
แรกเริ่มเดิมทีโครงการฟื้นฟูนาร้าง ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตอาหารกลางวันให้กับเด็กในโรงเรียนมลายูก่อน โดยเชื่อว่า ความสำเร็จเล็ก ๆ ของกิจกรรมนี้มีคุณค่าทางจิตใจต่อคนในชุมชน และจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านได้

“ในเมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจได้ ไม่สามารถทำงานในระดับนโยบายได้ สิ่งที่เราทำได้ด้วยศักยภาพที่มี คือ สร้างกลไกเล็ก ๆ ระดับชุมชนเพื่อดึงเอาจิตวิญญาณของคนในชุมชนออกมา และจูงใจให้พวกเขามาร่วมกิจกรรม” สุกรี เปิดเผย
หลังจากเริ่มโครงการได้ร่วม 5 ปี โครงการฟื้นฟูนาร้าง สามารถดึงเอาคนรุ่นใหม่ ให้กลับมาฟื้นฟูที่นาของครอบครัว ขณะเดียวกันก็สามารถผลิตอาหารกลางวันสำหรับเด็ก ๆ ในโรงเรียนมลายูด้วย กระทั่งมีการขยับขยายสร้างยุ้งฉางสำหรับเก็บผลผลิตขึ้น ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูนาร้างได้แล้ว 17 ไร่ ได้ผลผลิตโดยเฉลี่ย 50 กระสอบต่อปี
“หลายครอบครัวเริ่มกลับมาทำนา และจนสามารถสร้างยุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกในโรงเรียนเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข คือ โรงเรียนมีนักเรียนเพิ่มขึ้น เพราะครอบครัวชอบโครงการอาหารกลางวัน และโรงเรียนยังมีกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรื่องสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรชุมชน ทำให้เด็ก ๆ สนุกมากกับการเรียนรู้” ฟารีซีย์ มากะ คณะกรรมการโครงการฟื้นฟูนาร้าง กล่าว
ฟารีซีย์ ระบุว่า โครงการพยายามฟื้นฟูที่นาดั้งเดิมโดยไม่ใช้สารเคมี ขณะเดียวกันยังเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวท้องถิ่นชายแดนใต้ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกถึงนัยของการต่อสู้กับการถูกกดขี่ของคนปาตานีด้วยเช่นกัน
“ข้าวพันธุ์สาวน้อย จากชุมชนท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะสมกับการทำนาปรัง นิยมปลูกในชุมชนทางตอนเหนือของภูมิภาคมลายูปาตานี ถูกเลือกร่วมโครงการของเครือข่ายฟื้นฟูนาร้าง เพื่อช่วยเหลือแมะดะ แม่ซึ่งลูกชายที่ถูกวิสามัญจากหน่วยงานความมั่นคงในบริบทความขัดแย้งทางการเมือง” เอกสารของโครงการฟื้นฟูนาร้าง ระบุ
แมะดะ กลายเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง หลังจากในวันที่ 28 เมษายน 2566 พยายามเข้าไปรับศพของลูกชายจากโรงพยาบาล แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับเธอในข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่ายังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามกฎหมาย การตกเป็นผู้ต้องหาทำให้ แมะดะ ซึ่งมีอาชีพชาวนา และกรีดยาควบคู่กัน ไม่สามารถทำเกษตรได้เหมือนเดิม
“ข้าวพันธุ์สาวน้อยเป็นพันธุ์ข้าวที่แมะดะผู้เป็นแม่ปลูก โครงการจึงเลือกข้าวพันธุ์นี้มาใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นความตั้งใจให้คนได้ลิ้มลองรสชาติข้าวพื้นเมืองแล้ว อีกนัยหนึ่งยังเป็นการให้คนได้ลิ้มรสชาติความยากลำบากของผู้หญิงที่ต้องเสียลูกชาย และถูกดำเนินคดี ท่ามกลางบรรยากาศที่คนตัวเล็ก ๆ เรียกร้องเพื่อต้องการสันติภาพ และชีวิตคืนมา” ตัวแทนโครงการฯ ระบุ
คืนชีพระบบนิเวศ
ในมุมวิชาการ ดร. เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชี้ว่า นอกจากการรื้อฟื้นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นแล้ว โครงการนี้ยังมีประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมโดยรอบด้วย
“การฟื้นฟูนาร้าง และการใช้เมล็ดพันธุ์พื้นเมือง เป็นความสัมพันธ์เชิงนิเวศของระบบธรรมชาติกับผู้คน ระบบอาหารที่สัมพันธ์กับสุขภาพ เป็นการปกป้องระบบนิเวศ ปกป้องภูเขา จึงเป็นการทำนาที่ให้ความสำคัญในเชิงคุณค่าทางจิตวิญญาณและสำนึกทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นความสุของค์รวมที่แท้จริงของชุมชน” ดร. เกื้อ กล่าว
ดร. เกื้อ ชี้ว่า ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ การฟื้นฟูนา ฟื้นฟูระบบนิเวศท้องถิ่นจึงมีคุณค่า เพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของคนและสัตว์ ทั้งยังเป็นที่สวยงาม ที่ช่วยปกป้องระบบนิเวศป้องกันภัยพิบัติด้วย

ในปี 2563 โครงการฟื้นฟูนาร้างได้ขยับขยายจากนราธิวาสไปยังปัตตานี ถิ่นต้นกำเนิดของข้าวพันธุ์สาวน้อย ซึ่งโครงการเลือกใช้ โครงการใช้พื้นที่ในปัตตานี สามารถพลิกฟื้นนาร้างได้แล้ว 10 ไร่
โครงการฟื้นฟูนาร้าง นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิต และวัฒนธรรม รวมถึงรักษาสมดุลของระบบนิเวศแล้วยังช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชนระหว่างคนมุสลิม และคนพุทธด้วยเช่นกัน
“บ้านโคกนิบงมีแปลงของคนพุทธและคนมุสลิมร่วมกัน ยังคงเห็นวิถีแห่งการเกื้อกูลกันผ่านช่วงเวลาของการทำนาปลูกข้าว เราต่างหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปในดินเพื่อรอวันที่ข้าวของเรางอกงาม สามารถเก็บเกี่ยวข้าวไว้กินและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำในปีต่อ ๆ ไป” ชาวนาหญิงชาวพุทธ วัย 70 ปี (สงวนชื่อและนามสกุล) ชาวปัตตานี กล่าว
ที่ชุมชนบ้านโคกนิบง อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์หอมจันทร์ พันธุ์เก้ารวง พันธุ์เล็บนก และพันธุ์ข้าวดำ ซึ่งเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ยังคงถูกเก็บเอาไว้ในยุ้งฉางเพื่อใช้ปลูกในอนาคต ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งลูกหลานของพวกเขาจะกลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง
“สิ่งที่พวกเรากังวลคือ แม้ว่าเรามีเมล็ดพันธุ์ มียุ้งฉางบ้านข้าว แต่ลูกหลานของเราต่างย้ายออกไปทำงาน ตั้งหลักปักฐานในที่อื่นเป็นส่วนใหญ่ เราก็หวังว่าสักวันเขาจะกลับมาพลิกฟื้นผืนนาของปู่ย่าตายายอีกครั้ง” ชาวนาคนเดิม กล่าว