ศาลคดีทุจริตฯ รับฟ้องบิ๊กอ๊อด และพวกเอื้อประโยชน์คดีบอส กระทิงแดง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.29
กรุงเทพฯ
ศาลคดีทุจริตฯ รับฟ้องบิ๊กอ๊อด และพวกเอื้อประโยชน์คดีบอส กระทิงแดง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังศาลให้ประกันตัวในคดีใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ กรุงเทพฯ วันที่ 29 สิงหาคม 2567
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางรับฟ้อง คดีที่ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หรือบิ๊กอ๊อด อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับพวกรวม 8 คน เป็นจำเลย กรณีใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ก่อนให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี หลังวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท 

นายสุเวช จอมพงค์ อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามทุจริต 1 ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คนมาศาลเพื่อส่งฟ้องที่ศาล และศาลรับฟ้องแล้วโดยนัดสอบคำให้การในวันที่ 10 กันยายน 2567 

“คร่าว ๆ ข้อหาคือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นหลัก เรื่องการประกัน โดยหลักแล้วผู้ต้องหาไม่หลบหนี เราจะไม่คัดค้านประกันเชื่อว่าสามารถเอาผิดผู้กระทําความผิดได้ เพราะอัยการสูงสุดได้คัดกรองคดีมาเป็นอย่างดี และมีหลักฐานครบถ้วนแล้ว โดยเชื่อว่าหลักฐานทุกอย่างเพียงพอ” นายสุเวช กล่าวกับสื่อมวลชน

คดีนี้ อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องจำเลย 8 คนซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, นักการเมือง และนักวิชาการ ในข้อหาที่แตกต่างกันซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีเปลี่ยนแปลงสำนวนคดีของนายวรยุทธที่ขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555

พล.ต.อ. สมยศ ในฐานะหนึ่งในจำเลยของคดี เปิดเผยว่า แนวทางการต่อสู้เป็นหน้าที่ของทนายความ ขณะเดียวกันไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดี เนื่องจากไม่ต้องการก้าวก่ายศาล 

“ทุกคนที่มีเรื่องแบบนี้ก็ต้องกังวล ไม่สบายใจ เป็นเรื่องปกติของมนุษย์” พล.ต.อ. สมยศ กล่าว 

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 8 คนที่เดินทางมาศาลประกอบด้วย พล.ต.อ.สมยศ, พล.ต.ต. ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข, พ.ต.อ. วิรดล ทับทิมดี, นายเนตร นาคสุข, นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม, นายธนิต บัวเขียว, นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร และ รศ.ดร. สายประสิทธิ์ เกิดนิยม 

คดีบอส กระทิงแดง

นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส หลานชายของนายเฉลียว อยู่วิทยา ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง ก่อเหตุขับรถชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่ปราบปราม สน. ทองหล่อ จนเสียชีวิต ในเช้าตรู่ของวันที่ 3 กันยายน 2555

เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ตำรวจมีความเห็นส่งฟ้องบอสต่ออัยการในข้อหา 1. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถอื่นเสียหาย 2. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 3. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล 4. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย 

5. ไม่แจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานในทันที 6. ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และ 7. ขับรถเร็วกว่าที่อัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ในชั้นสอบสวนบอสให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ระหว่างการดำเนินคดี อัยการได้ออกหมายเรียกบอสให้เข้าไปรายงานตัว 7 ครั้งแต่บอสให้ทนายความขอเลื่อนนัดออกไปโดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจในต่างประเทศ กระทั่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายวรยุทธ ในข้อหา 1. ขับรถโดยประมาททำให้มีผู้ถึงแก่ความตาย 2. ขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และ 3. ไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย

เมษายน 2560 อัยการสูงสุดออกหมายเรียกให้บอสไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่บอสไม่ได้ไปตามนัด จึงมีการออกหมายจับ อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีได้เผยแพร่ภาพว่า บอสได้อาศัยอยู่ในบ้านพักที่ประเทศอังกฤษ โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ความล่าช้าของคดีทำให้ ข้อหาของบอส ทยอยหมดอายุความลง เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี และจะหมดอายุความในปี 2570

AP24058384402479.jpg
วรยุทธ “บอส” อยู่วิทยา ผู้มีปู่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่มชูกำลัง กระทิงแดง เดินไปขึ้นรถขณะออกจากบ้านในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อวันพุธที่ 5 เมษายน 2560 (เอพี)

ต่อประเด็นดังกล่าว นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ระบุว่า คดีนี้เป็นการสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมไทย

“คดีนี้ที่ใช้เวลานานเกือบ 12 ปีในการสั่งฟ้องผู้ที่เกี่ยวข้องสะท้อนถึงปัญหาที่มีอยู่ในระบบ โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและการสืบสวนสอบสวนที่อาจมีการชะลอหรือถูกแทรกแซง หรือการใช้เวลาในการตัดสินใจทางกฎหมายที่ยาวนาน ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดความสงสัยในความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมและอาจทำให้สังคมเกิดความไม่ไว้วางใจต่อระบบยุติธรรม โดยเฉพาะกับผู้ที่มีทุนและอำนาจ” นายวรชาติ  กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ปี 2563 มีการเปิดเผยเอกสารที่ลงนามโดย พ.ต.ท. ธนาวุฒิ สงวนสุข รองผู้กำกับการสอบสวน ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีบอส โดยอ้างว่า พนักงานอัยการไม่สั่งฟ้อง ทำให้คดีของบอสกลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง 

ต่อมาทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว และ นายเนตร ในฐานะอัยการของคดีได้ยื่นใบลาออกในเดือนสิงหาคม 2563

เดือนกรกฎาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีของนายวรยุทธใหม่ ในข้อหา 1. เสพยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือโคเคน และ 2. ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามพยานหลักฐานใหม่ ปัจจุบัน คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะที่นายวรยุทธยังไม่เคยปรากฏตัวอีกเลยหลังจากปี 2560

เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อัยการสูงสุด มีคำสั่งรับดำเนินคดีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, นักการเมือง และนักวิชาการ ที่เชื่อว่า เอื้อประโยชน์ให้กับบอสในคดีดังกล่าว นำมาสู่การส่งฟ้องต่อศาลในวันพฤหัสบดีนี้ 

“ข้อกังวลหลักในคดีนี้คือการที่ยังไม่ทราบที่อยู่ของบอส ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหลัก การที่เขาสามารถหลบหนีได้ยาวนานเช่นนี้แสดงถึงความอ่อนแอของระบบยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย และยังต้องกังวลว่าอาจมีและอิทธิพลของผู้ต้องในการชะลอหรือขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น” นายวรชาติ กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง