ครอบครัวผู้สูญเสียจากชายแดนใต้ปลาบปลื้มกับพิธีอุมเราะห์ที่รัฐสนับสนุน

มารียัม อัฮหมัด
2021.12.30
เมกกะ, ซาอุดิอาระเบีย
ครอบครัวผู้สูญเสียจากชายแดนใต้ปลาบปลื้มกับพิธีอุมเราะห์ที่รัฐสนับสนุน นางยูไมด๊ะ ยูโซ๊ะ หญิงม่ายจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดุอาต่อหน้ากะอ์บะฮ์ หรือหินศักดิ์สิทธิ์ ในมัสยิดฮะรอม นครเมกกะ ระหว่างการเดินทางไปทำพิธีอุมเราะห์ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย วันที่ 11 ธันวาคม 2564
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

นางยูไมด๊ะ ยูโซ๊ะ หญิงม่ายจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับชีวิตที่ถูกทำลายด้วยเหตุรุนแรง รู้สึกปลื้มใจและตื่นเต้นที่ “ความปรารถนาอันยากยิ่ง” ของเธอที่จะได้ไปทำพิธีอุมเราะห์ในซาอุดิอาระเบีย เป็นความจริงขึ้นมา 

ยูไมด๊ะกลัวเครื่องบิน เพราะว่ายังไม่เคยมีโอกาสได้นั่งมาก่อนเลยในชีวิต 

“หลังจากเดินออกจากอาคารสนามบินบ้านทอน นราธิวาส ไปในลานจอดเครื่องบิน เริ่มรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ ก้าวเท้าไม่ถูกว่าจะเท้าไหนก่อนดี ใจเริ่มสั่น” ยูไมด๊ะ ในวัย 55 อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว ในจังหวัดยะลา กล่าว

แต่เมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินมาดีนะห์ “ฉันน้ำตาไหลด้วยความดีใจที่ได้มาที่มัสยิดนาบาวีย์” ยูไมด๊ะกล่าว 

สามีของยูไมด๊ะถูกคนร้ายที่ไม่ทราบฝ่ายยิงเสียชีวิต เมื่อปี 2554 ขณะเดินทางกลับบ้านจากสวนผลไม้ ในอำเภอบันนังสตา 

ยูไมด๊ะเป็นหนึ่งในสมาชิก 112 คน ในคณะของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ โดยได้เดินทางไปในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคมนี้ 

ทางการไทยได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาดีนะห์และเมกกะ 14 วัน โดยระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทาง ศอ.บต. ได้สนับสนุนค่าเดินทางให้กับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ที่ร่วมเดินทางและรายงานการทำพิธีอุมเราะห์ในครั้งนี้ด้วย 

“หลังจากที่รู้ว่าจะได้รับเลือกมาก็ดีใจมาก โดยเฉพาะการทำอุมเราะห์ช่วงโควิด” ยูไมด๊ะ กล่าวขณะดุอาต่อหน้ากะอ์บะฮ์ อันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดในศาสนาอิสลาม ซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางมัสยิดฮะรอม 

“ฉันคิดว่าต้องเป็นคนมีบุญมาก ๆ ที่อัลลอฮ์ให้ได้มาที่บ้านของอัลลอฮ์ สมความปรารถนาอย่างที่ไม่คาดฝัน” 

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 14 ล้านบาท สำหรับคณะอุมเราะห์ครั้งนี้ ซึ่งมีความแตกต่างจากฮัจย์ ก็คือ ศาสนิกสามารถเดินทางไปได้ทั้งปี โดยคณะได้เดินทางไปทำพิธีในเมืองมาดีนะห์ 5 วัน และที่นครเมกกะ 8 วัน จากนั้นกลับประเทศไทยเข้าทางจังหวัดภูเก็ต และทำกิจกรรมที่นั่นอีก 6 วัน ก่อนกลับสามจังหวัดชายแดนใต้ 

เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการสนับสนุนการไปทำพิธีอุมเราะห์ก็เพื่อ “เยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ได้รับผลกระทบ และเชื่อมโยงให้สมาชิกอยู่ในแนวทางของศาสนาร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมดี” แต่ไม่ได้ระบุว่ามีความคาดหวังใด ๆ เป็นการตอบแทน  

“เป็นกลุ่มที่ทำดีมีคุณธรรม ทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจึงสามารถทำได้สำเร็จสมความตั้งใจ ถือเป็นการทำอีบาดะฮ์ที่ประเสริฐที่สุดลบล้างความผิดการทำบาป ขอให้ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมดี ๆ เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเป็นเครือข่ายในการทำดี” นายประเวศ หมีดเส็น ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. กล่าว

 th-umrah-maeya 1000.jpg

นางแมะยา คอเน็ง หญิงม่ายจากปัตตานี ดุอาต่อหน้ากะอ์บะฮ์ ในมัสยิดฮะรอม นครเมกกะ วันที่ 11 ธันวาคม 2564 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

ดุอาเพื่อสันติภาพ

นับตั้งแต่ขบวนการบีอาร์เอ็นและกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม เริ่มปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธอีกครั้งเมื่อกว่า 17 ปีก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน 

ชาวบ้านกล่าวโทษทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ได้กล่าวโทษทหารว่าใช้กำลังเกินกว่าเหตุหรือแม้แต่ใช้วิธีการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกขบวนการ มีบ่อยครั้งที่ชาวบ้านฝังศพผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิต ตามแบบซาฮีด อันเป็นการยกย่องนักรบปาตานี 

ศอ.บต. ได้นำคณะผู้ได้รับผลกระทบไปทำพิธีอุมเราะห์ในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 7 ซึ่งมีการจัดทำงบประมาณปีต่อปี ผู้ร่วมคณะต้องขอวีซ่าอุมเราะห์ มีการกักตัวก่อนการเดินทาง และการตรวจเชื้อหลายครั้ง รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักอนามัยในการป้องกันโรค 

แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 แต่ผู้ร่วมคณะกล่าวว่า ก็ยังมีข้อดีเพราะว่าทำให้มีผู้มาทำอุมเราะห์น้อยลง ซึ่งถือเป็นโอกาสที่จะทำพิธีได้บรรลุผลอย่างเต็มที่และสามารถเข้าใกล้พื้นที่พิเศษบางแห่งได้ 

“ในการทำอุมเราะห์ ปกติแล้วหลาย ๆ จุด บริษัทไม่สามารถพาไปได้ง่าย ๆ เช่น เราเฎาะห์” นางแมะยา กล่าวถึง บริเวณที่ท่านนบีพำนักพักพิงในมัสยิดนาบาวีย์ ขณะท่านมีชีวิตอยู่ โดยอยู่ระหว่างมิมบัร (แท่นอ่านบทธรรมเทศนา) กับบ้านของท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) 

“บางคนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงจุดที่พวกเราเข้าถึงได้ ดีใจมาก ถือเป็นเกียรติอย่างมากจากอัลลอฮ์” 

ครั้งนี้นับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของนางแมะยา หญิงม่ายวัย 45 ปี ทำอาชีพขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งสามีของเธอถูกยิงตายในอำเภอโคกโพธิ์ เมื่อ 16 ปีก่อน 

“ขอพรให้สามจังหวัดเราได้สงบสุขจากสถานการณ์ และโรคระบาดโควิด” แมะยา กล่าวถึงการดุอาในเมกกะ

th-umrah-nawabi 1000.jpg

นางยูไมด๊ะ ยูโซ๊ะ ผู้ร่วมคณะอุมเราะห์จากจังหวัดยะลา ใช้มือถือถ่ายภาพ “โดมเขียว” ที่มัสยิดนาบาวีย์ ในเมืองมาดีนะห์ วันที่ 2 ธันวาคม 2564 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

ฉันไม่ลืมเหตุการณ์ที่เลวร้าย

การที่จะได้มาสัมผัสซึ่งความมหัศจรรย์ของอุมเราะห์นั้น นางยูไมด๊ะ ซึ่งมีลูกห้าคน และนางแมะยา ที่มีลูกคนเดียว ได้สูญเสียบุคคลที่รักไป

“เป็นการเยียวยาที่ถูกใจที่สุดและรอคอยมาตลอด ขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือ ขอบคุณอัลลอฮ์ที่ตอบรับดุอา ขอบคุณ ศอ.บต. แต่ฉันไม่ลืมเหตุการณ์ที่เลวร้าย มันยังอยู่กับฉันทุกวัน” ยูไมด๊ะ กล่าวถึงการจากไปก่อนวัยอันควรของสามี ที่จนบัดนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็นคนทำ

องค์กรเอ็นจีโอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยกล่าวหาว่าทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยระหว่างการสอบปากคำ กล่าวว่า ทางการสามารถทำอะไรได้อีกมากกว่านี้ในการเชื่อมโยงกับคนในพื้นที่

“เป็นการเยียวยาที่ดี แต่ไม่แน่ใจว่าจะสร้างมวลชนได้ไหม ก็ควรมีการพูดคุยสร้างสัมพันธ์แบบไม่คาดหวัง สร้างสัมพันธ์แบบจริงใจ และควรเคารพในความเป็นประชาชน และให้ความรู้เรื่องสันติภาพ และการให้พวกเขามีบทบาทร่วมในการสร้างสันติภาพ” น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

มีรายงานข่าวว่า ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น มีแผนการที่จะพูดคุยแบบตัวต่อตัวอีกครั้ง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในต้นปีหน้า หลังจากที่ยุติไปเพราะการระบาดของโควิด-19 ร่วมสองปี

 

 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง