ชาวไทยมุสลิมวิจารณ์สำนักจุฬาฯ เชิญชวนทุกมัสยิดอ่านคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติ
2020.12.04
ปัตตานี และเชียงใหม่
ในวันศุกร์นี้ สำนักจุฬาราชมนตรีถูกวิพากษ์-วิจารณ์อย่างหนักบนโลกอินเทอร์เน็ต หลังออกหนังสือเชิญชวนให้ทุกมัสยิดทั่วประเทศ อ่านบทคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 โดยชาวไทยมุสลิมชี้ว่า สำนักจุฬาราชมนตรีเป็นสถาบันทางศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
เสียงวิพากษ์-วิจารณ์เกิดขึ้นหลังจากที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ สำนักจุฬาราชมนตรี เขียนข้อความเชิญชวนให้ชาวไทยมุสลิม ร่วมกิจกรรม เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 โดยเชิญให้ชาวมุสลิมร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิมและประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยการอ่านบทคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติ ในวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2563 หรือ วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม 2563 ในมัสยิดทั่วประเทศ
“ตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการปกครองแผ่นดินโดยธรรม ซึ่งประโยชน์แห่งศาสนาอิสลามและประชาคมมุสลิมเป็นไปอย่างปรกติสุข ขอให้เราทุกคนจงยินดีต่อ ความโปรดปรานที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงประทานให้แก่เราด้วยการรู้คุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติต่อในหลวงของเรา และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ด้วยจรรยามารยาทอันงดงาม” ตอนหนึ่งของ บทคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติ โดยสำนักจุฬาราชมนตรี
“การเป็นมุสลิมที่ดี คือการมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามหลักการของศาสนา และเป็นผู้รู้คุณผู้มีพระคุณ และพระคุณที่มุสลิมในแผ่นดินไทยได้รับเสมอมา คือพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นพระบิดาของปวงชนชาวไทยได้ทรงประทานให้แก่แผ่นดินไทย จึงมีความสงบสุขร่มเย็นตลอดมา” ตอนหนึ่งของ บทคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติ ระบุ
นายซุกรี่ (สงวนนามสกุล) นักวิจัยและนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ ประเทศอินเดีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า แนวทางการอ่านบทเทศนาของสำนักจุฬาฯ เป็นพิธีการปกติ และทำกันมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ตนยังเป็นเด็ก
“การระลึกถึงคุณงามความดีของผู้มีพระคุณ ไม่ได้หมายความว่าเรานำพระองค์มาเทียบเคียงกับพระเจ้า และคุตบะห์นี้ ก็ไม่ได้ทำทุกวันศุกร์ แต่เพราะพรุ่งนี้เป็นวันพ่อ เป็นโอกาสที่ดีที่จะอ่าน เพื่อรำลึกถึงในหลวงร.9” นายซุกรี่ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์
“มุสลิมต้องตามผู้นำเป็นหลัก ผู้นำตามหลักการนั้นไม่ได้แยกระหว่างผู้นำศาสนากับผู้นำทางการเมือง เพราะอิสลามไม่ได้แยกศาสนาออกจากการเมือง และการปกครอง ดังนั้นผู้ปกครองรัฐอิสลาม ในที่นี้ก็อนุมานได้ว่าผู้นำในแต่ละท้องที่ ซึ่งก็คือจุฬาราชมนตรี เขาคือผู้นำของเรา” นายซุกรี่ ระบุ
ชาวมุสลิมไม่เห็นด้วยสำนักจุฬาราชมนตรียุ่งการเมือง
โดยหลังจากที่ข้อความดังกล่าวเผยแพร่ครั้งแรกในเวลา 12.38 น. ของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ชาวมุสลิมจำนวนมากเผยแพร่ต่อ ข้อความดังกล่าว พร้อมกับวิพากษ์-วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสม ในท่าทีการแสดงออกครั้งนี้ของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นสถาบันทางศาสนา ตลอดจนวิพากษ์-วิจารณ์เนื้อหาของบทคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติดังกล่าว
ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น นายรอมลี (สงวนนามสกุล) ชาวมุสลิมจากจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตกใจที่เห็นเอกสารของสำนักจุฬาราชมนตรี และเพื่อนหลายคนก็ตกใจต่อท่าทีของสำนักจุฬาราชมนตรีในครั้งนี้เช่นกัน
“ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วย เพราะไม่ได้รักสถาบัน แต่ควรแยกแยะให้เป็น ศาสนาควรให้เป็นเรื่องของศาสนา... ไม่ควรเป็นเรื่องที่แทรกความรักต่อคนต่อรูปลักษณ์ ซึ่งมันจะทำให้ผิดเพี้ยนในหลักการ... การแสดงความจงรักภักดีเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรสั่งให้ทำให้ถูกที่ ถูกเวลา จัดขึ้นมาเฉพาะงาน... แต่เอามาแทรกในคุตบะห์ เป็นเรื่องที่ไม่สมควร” นายรอมลี ระบุ
ขณะที่ นายศรัณย์ เมฆลอย อายุ 26 ปี ชาวมุสลิมในจังหวัดฉะเชิงเทรา เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมามีมุสลิมจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับท่าทีทางการเมืองของสำนักจุฬาราชมนตรี การเชิญชวนให้ทุกมัสยิดร่วมกันรำลึกถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก็จะยิ่งสร้างความแตกแยก
“ต้องยอมรับว่า กลุ่มคนที่ไม่ได้มีวิธีคิดทางการเมืองเหมือนสำนักจุฬาราชมนตรี นั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่… ที่ผ่านมาคุตบะห์เฉลิมพระเกียรติมีทุกปีก็จริง แต่ปีนี้น่าจะเป็นปีแรกที่เราเห็นความไม่พอใจเกิดขึ้นมากมาย อาจจะอธิบายได้ว่า แม้เราศรัทธาในกษัตริย์ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัชสมัย” นายศรัณย์ ระบุ
ด้าน นายอิมรอน สาโรวาท ชาวมุสลิม อายุ 57 ปี สัปปบุรุษประจำมัสยิดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เอกสารเชิญชวนมุสลิมร่วมน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นท่าทีของการพยายามนำศาสนาไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกครั้งอย่างชัดเจน ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังรุนแรง
“เข้าใจว่าบางอย่างต้องทำ เพื่อให้มุสลิมในไทยอยู่รอด... หลายข้อความในคุตบะห์ของสำนักจุฬาฯ มีความกำกวมมาก โดยเฉพาะท่อน ผู้ใดไม่รู้คุณคน ผู้นั้นไม่รู้คุณอัลลอฮ์ อาจต้องถามกลับไปยังสำนักจุฬาฯ ว่า บุญคุณในโลกมนุษย์ มันแยกออกจากบุญคุณในทางศาสนาหรือไม่ ยังไม่ต้องพูดถึงว่า มีบุญคุณอย่างไรบ้าง” นายอิมรอน กล่าว
ขณะที่ นางมัซลีนา ลิม นักวิชาการอิสระชาวมาเลเซีย อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย (IIUM) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ของศาสนาอิสลามในประเทศไทย กำลังเดินทางมาคล้ายกับที่เกิดในมาเลเซียมาตลอด
“ประเทศในเอเชียอย่างพวกเรา ที่ไม่ใช่รัฐโลกวิสัย สร้างปัญหาอย่างมากต่อทั้งคนที่นับถือและไม่นับถือศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ใช่ศาสนาหลัก อย่างอิสลามในประเทศไทย ก็จะเหลืออยู่ไม่กี่ที่ทางให้นำศาสนาไปยึดโยงเอาไว้ ซึ่งที่ผ่าน ๆ มา ก็มักจะเป็นรัฐหรือไม่ก็สถาบันหลักของประเทศ เมื่อคุณนำเอาเรื่องทางโลกมาพูดบ่อยขึ้น ๆ ในการเทศนา ขณะเดียวกัน คุณก็กำลังลดทอนเรื่องทางศาสนาลงไปนั่นเอง ถ้าการเมืองจะเข้ามาอยู่ในศาสนายิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก นั่นก็โทษใครไม่ได้” นางมัซลีนา ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ผ่านทางโทรศัพท์
ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 สำนักจุฬาราชมนตรี เคยถูกวิพากษ์-วิจารณ์มาแล้ว จากกรณีการประกาศจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ณ หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ เขตหนองจอก กรุงเทพฯ โดยชาวมุสลิมได้มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง จุฬาราชมนตรี ระบุว่า สำนักจุฬาราชมนตรีในฐานะสถาบันทางศาสนาไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
และได้มีการวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่อง อาจเพราะนายซากีย์ พิทักษ์คุมพล บุตรชายของนายอาศิส เป็นสมาชิกวุฒิสภา จากการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างไรก็ตาม กิจกรรมสำนักจุฬาราชมนตรียังคงจัดกิจกรรมดังกล่าว แม้มีเสียงไม่เห็นด้วยจำนวนไม่น้อย