ฮิวแมนไรท์วอทช์ ชี้สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยยังวิกฤติ
2021.01.13
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ในวันพุธนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้แถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2563 โดยมีเนื้อหาในส่วนของประเทศไทยชี้ให้เห็นว่า ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางการเรียกร้องของเยาวชนเพื่อการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น โดยการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม รวมถึงการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง ต่อแกนนำหลายราย ด้านแกนนำผู้ชุมนุมชี้ว่า รัฐบาลไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้องของพวกเขา พร้อมยืนยัน ม.112 ไม่มีความหมายอีกแล้ว ขณะที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ หากแต่จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้กฏหมาย
นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในการแถลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า ยังมีการคุกคามสิทธิในการแสดงออกอยู่ เช่น รัฐบาลไทยพยายามดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสันติ โดยอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ขยายเวลาออกไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง
“รัฐบาลไทยไม่พยายามตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเลย ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้กลยุทธ์ เพื่อยับยั้งการแสดงความเห็นนี้ เช่น การดำเนินคดี เพราะละเมิดคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการขยายหลายครั้ง โดยที่ไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ” นายฟิล ระบุ
“นอกจากนี้ แรงงานพม่าในประเทศไทย ยังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถูกใช้ประทุษวาจา (hate speech) ในทางลบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่พวกเขาป่วยและแพร่เชื้อโควิด เพราะการเข้าไม่ถึงสวัสดิการและที่อยู่อาศัยที่แออัด เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เราพบเห็นในช่วงปีที่แล้ว” ฟิล ระบุเพิ่มเติม
ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวในการแถลงรายงานว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุญาตให้ใช้มาตราดังกล่าว ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ของปีที่ผ่านมา ทำให้ใครก็ตามที่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจถูกดำเนินคดี
“แค่การอธิบายว่าทำไมผู้ชุมนุมถึงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน แค่นี้ก็มีความผิดแล้ว ยังไม่รวมถึงการล้อเลียนใด ๆ เกี่ยวกับสถาบันก็มีความผิดแน่นอน มาตรา 112 เป็นกฏหมายอาญาที่ร้ายแรงมากในตอนนี้ และในขณะนี้ ไม่ได้ถูกใช้ดำเนินคดีแค่เพียงผู้นำการชุมนุม ผู้เข้าร่วม แต่ยังมีการดำเนินคดีนักข่าว และทีมแพทย์ที่ไปทำงานในที่ชุมนุมอีกด้วย” นายสุณัย กล่าว
“เป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐไทยไม่มีความตั้งใจที่ประนีประนอมต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยเลย และนายกฯ ประยุทธ์ออกมาประกาศชัดเจนแล้วว่า จะไม่ลาออกอย่างแน่นอน รวมถึง ข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญถูกปฏิเสธในสภา และตอนนี้เราเห็นคดี ม.112 ถูกใช้มากขึ้น เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าต้องการยับยั้งการเห็นต่าง และผู้คนที่เห็นต่าง” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม
รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
ต่อรายงานขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงออก ตราบใดที่ชุมนุมด้วยความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเสรีภาพต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย และเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบต่อความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยในประเทศ
“รัฐบาลสนับสนุนการแสดงออกที่สร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าว ไม่เหยียดหยามผู้อื่น และไม่สร้างความเกลียดชัง ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง รัฐบาลยินดีอยู่แล้วที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ต้องดำเนินการทางกฎหมายด้วย ถ้าผู้ชุมนุมมีการกระทำผิดบทบัญญัติของกฎหมาย” นายอนุชา ระบุเพิ่มเติม
ขณะที่ รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การลิดรอนเสรีภาพนั้นมีความซับซ้อนเข้มงวดมากขึ้น ในปีที่ผ่านมา เพราะมีการประกาศใช้มาตรการสาธารณสุขโยงกับการจัดการผู้เห็นต่าง เช่น การตั้ง ศบค. การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการชุมนุมทางการเมือง ผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลถูกกฎหมายเล่นงาน เมื่อมีสถานการณ์โควิด มาตรการที่ใช้ป้องกัน และควบคุมโรคแยกไม่ออกจากการควบคุมเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น
“การบังคับใช้กฎหมาย ค่อนข้างกว้าง ผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน โดยเฉพาะแกนนำ ถูกใช้ ม.116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างต่อเนื่อง ที่มันหายไปหรือลดไป คือ ม.112 ซึ่งตั้งแต่ต้นปี ไม่เห็นการใช้ จนกระทั่งปลายปี จึงมีการกลับมาใช้ กล่าวโดยภาพรวมคือ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังไม่ได้ดีขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
การคุกคามนักเรียนทั่วประเทศกว่า 103 ครั้ง จากอย่างน้อย 4 โรงเรียน
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังระบุอีกว่า รัฐบาลไทยได้ทำให้เด็กและเยาวชนหวาดกลัวที่จะมาร่วมประท้วงเพื่อประชาธิปไตย และยังลงโทษเยาวชนเหล่านี้อีกด้วย สอดคล้องกับที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีการคุกคามนักเรียนทั่วประเทศกว่า 103 ครั้ง ในเดือนสิงหาคม และมีนักเรียนจากอย่างน้อย 4 โรงเรียน ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม
“การประท้วงที่เริ่มต้นวันที่ 18 กรกฎาคม แผ่ขยายไปทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมามีการขยายข้อเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลไทยได้ปราบปรามการประท้วงนี้ โดยการจับผู้นำการชุมนุม ดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมกว่า 100 คนในข้อหาฝ่าฝืนมาตรการโควิด-19 และหมิ่นสถาบันฯ … ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ตำรวจปราบจลาจลใช้กำลังควบคุมผู้ประท้วงที่หน้าทำเนียบ และใช้รถน้ำผสมสี และสารเคมีแก๊สน้ำตา และระเบิดแก๊สน้ำตา ในการคุกคามผู้ประท้วง ที่กำลังประท้วงด้วยความสันติ เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 55 คนได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จากการสูดดมแก๊สน้ำตา ผู้ประท้วง 6 คน ถูกยิงด้วยกระสุน ระหว่างการปะทะกับผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล-กษัตริย์นิยม หลังจากตำรวจถอนตัวออกไป” ส่วนหนึ่งในรายงาน ระบุ
กระทั่ง วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งแกนนำ ผู้ปราศรัย และผู้ร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดี ด้วย ม.112 อย่างน้อย 37 ราย ใน 23 คดี ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ระหว่างปี 2557-2560 มีผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วย ม.112 อย่างน้อย 94 ราย และมีเพียง 15 รายเท่านั้น ที่ได้รับการประกันตัว โดยต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป ต่อมาในปี 2561 มีอย่างน้อย 7 คดี ที่ได้รับการตัดสินยกฟ้อง ขณะที่ ปี 2562 มีผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอย่างน้อย 25 คน จากความผิด ม.112 แต่นับจากนั้นมา ไม่พบการฟ้องร้องด้วย ม.112 เพิ่มอีก โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระเมตตาแนะนำให้งดเว้นการใช้ ม.112 อย่างไรก็ตาม ม. 112 ถูกกลับมาใช้กับผู้ชุมนุมอีกครั้ง ในปลายปี 2563
รายงานยังได้ระบุถึง สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2547 และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 พันคนด้วย โดยชี้ว่า การคุมตัว ทรมาน รวมถึง การทำให้ชาวไทยมุสลิมเสียชีวิต ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยหลายกรณีเจ้าหน้าที่พยายามจ่ายเงินเยียวยาให้กับญาติของเหยื่อ เพื่อทำให้กรณีที่เกิดขึ้นเงียบ หรือไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกียวข้องกับการซ้อมทรมาน และการเสียชีวิต
แกนนำผู้ประท้วงชี้ ปีนี้รัฐบาลจะใช้มาตรการหนักกว่าเดิม
นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมาการตอบสนองของรัฐแม้จะมีความรุนแรง แต่ก็ไม่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับแกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า รัฐปรับตัวไม่ทันต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่คาดว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ฝ่ายรัฐน่าจะใช้ทุกอาวุธ ทุกมาตรการในมือที่มีเพื่อจัดการคณะราษฎร
“มาตรา 112 ไม่ได้สร้างผลกระทบกับแกนนำเลย เรายังเคลื่อนไหวทั้งออนไลน์และออฟไลน์เป็นปกติ มาตรานี้ไม่มีน้ำยาอะไรให้น่ากลัวแล้วครับ เป็นแค่กฎหมายธรรมดามาตรหนึ่ง” นายอานนท์ ระบุ
ขณะที่นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง แกนนำคณะราษฎร ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ว่า ไม่แปลกใจต่อรายงานภาพรวมขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และประชาชนเห็นภาพซ้ำในลักษณะดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ
“สถานการณ์ในไทยค่อนข้างซับซ้อน เพราะถึงแม้เราจะเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นมัน (การละเมิดสิทธิมนุษยชน) อยู่ดี” นายภาณุพงศ์ กล่าว
“ในปีนี้เชื่อว่า รัฐบาลคงมีมาตรการที่จะจัดการกับพวกเราเข้มข้นมากขึ้น เชื่อว่าตอนนี้ก็กำลังรอให้พวกเราออกไปชุมนุมเพื่อที่จะใช้ความรุนแรงกับเราอีก ถึงตอนนี้เราต้องยอมรับกันแล้วว่า ประเทศไทยยังไม่มีสิทธิเสรีภาพจริง ๆ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการ ก็มีจำนวนน้อยมากที่จะออกมาอยู่เคียงข้างนักศึกษา” นายภาณุพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
อนึ่ง รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกฉบับนี้มีความยาวทั้งหมด 761 หน้า ซึ่งมีการสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในกว่า 100 ประเทศ โดยในบทนำของรายงาน นายเคนเนธ รอธ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เพิกเฉยต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ผู้คนในรัฐบาลอีกมากมายกำลังพยายามพัฒนาเรื่องนี้ให้ดีขึ้น
“ประธานาธิบดีโจ ไบเดนควรจะหันกลับมาร่วมมือในความพยายามนี้ต่อไป” ส่วนหนึ่งของบทนำ ระบุ