ตำรวจปะทะผู้ชุมนุมต้านรัฐบาลใกล้ที่ประชุมเอเปค
2022.11.17
กรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนปะทะกับผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลในวันพฤหัสบดีนี้ ที่แยกอโศก ขณะผู้ชุมนุมพยายามจะเดินเท้าเข้าไปยื่นหนังสือเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยให้กับผู้นำต่างประเทศซึ่งมาร่วมประชุมเอเปคทราบ
นับเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ประยุทธ์ ออกไป” เสียงตะโกนจากผู้ชุมนุมร่วมร้อยชีวิต ดังขึ้นที่สี่แยกอโศก
การรวมตัวครั้งนี้ของคนรุ่นใหม่เพื่อเดินเท้าเข้าไปส่งหนังสือให้แก่ผู้นำต่างชาติ ที่เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นไม่ห่างจากจุดชุมนุมราว 1.5 กิโลเมตร
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเตือนผู้ชุมนุมว่า “การกระทำของผู้ชุมนุมอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ”
การชุมนุมเริ่มขึ้นในเวลาเที่ยงวัน ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่พยายามจะเคลื่อนขบวนไปยังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่มีแนวตำรวจกั้นอยู่ ทำให้ตลอดระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมงมีการผลักดันกันไปมาระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พยายามรักษาพื้นที่
ฝ่ายผู้ชุมนุมก็พยายามขว้างขวดน้ำ พ่นสี รวมถึงกระโดดถีบโล่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“ถ้ายอมให้เราไปยื่นหนังสือแต่โดยดีมันก็ไม่มีอะไรแล้ว หรือคุณรับไม่ได้ คุณรู้ตัวเหรอว่าสิ่งที่คุณทำกับประชาชนมันแย่แค่ไหน แล้วคุณไม่อยากให้เขารับรู้ว่าคุณทำอะไรไว้กับประชาชน” น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หนึ่งในผู้ชุมนุม กล่าวกับสื่อมวลชน
น.ส. ทานตะวัน ต้องใส่อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring-EM) เนื่องจากถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
หนังสือที่ผู้ชุมนุมพยายามนำไปส่งให้กับสมาชิกเอเปค คือ การบอกเล่าเรื่องราวของสถาบันกษัตริย์ของไทยเกี่ยวกับการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
“เงามืดเหล่านี้มองเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการที่ประเทศไทยยังบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม. 112) อย่างเข้มข้นด้วยวิธีเหวี่ยงแหอย่างเกินขอบเขตของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เจตนาทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เหตุเพราะไม่แน่ใจเส้นแบ่งที่ชัดเจนของกรอบกฎหมายที่พึงกระทำได้หลายคดียังดำเนินอยู่” ตอนหนึ่งของหนังสือ ระบุ
กระแสการต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทั่วประเทศกว่าพันครั้ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้วอย่างน้อย 1,145 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 1,864 คน ในจำนวนนั้น เป็นคดี ม. 112 จำนวน 236 คดี มีจำเลย 217 คน และมีผู้ที่ถูกคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี 3 คน