ศาลตัดสินจำคุก “อัญชัญ” ข้อหาหมิ่นสถาบัน 43 ปีครึ่ง
2021.01.19
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ ศาลอาญา พิพากษาให้จำคุกนางอัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สูงเป็นประวัติการณ์เป็นเวลา 87 ปี แต่ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 43 ปี 6 เดือน เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ โดยศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ทำให้นางอัญชัญถูกนำตัวไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อรอการพิจารณา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ในเช้าวันนี้ ศาลอาญา ได้พิพากษาคดีที่นางอัญชัญ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร เป็นจำเลยในคดี ม.112 จากการนำคลิปเสียงรายการวิทยุใต้ดินของบรรพต หรือ นายหัสดิน อุไรไพรวัน เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นความผิด โดยนับโทษ 29 กรรม กรรมละ 3 ปี รวม 87 ปี แต่เนื่องจากนางอัญชัญ รับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 29 ปี กับ 174 เดือน (43 ปี 6 เดือน) โดยในการอ่านคำพิพากษาเป็นการอ่านทางลับ ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังการอ่านคำพิพากษา
น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ศาลอุทธรณ์จะเป็นผู้พิจารณาว่า จะอนุญาตให้ประกันตัวนางอัญชัญหรือไม่
“สิ่งที่คุณอัญชัญทำคือ เอาไฟล์ลงยูทูบ และแชร์บนหน้าเฟซบุ๊ก ซึ่งในชั้นศาลเขารับสารภาพ ถูกตัดสินจำคุก 87 ปี เป็นโทษจำคุกคดี 112 ที่มากที่สุด ตั้งแต่ศูนย์ทนายฯ เคยเก็บข้อมูลมา ทนายได้ยื่นหลักทรัพย์ 1 ล้านบาทเพื่อขอประกัน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้อง ซึ่งจะใช้เวลา 2-3 วัน ตอนนี้ คุณอัญชัญถูกคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง” น.ส.ภาวิณี กล่าว
ทั้งนี้ นางอัญชัญ ปัจจุบัน อายุ 63 ปี เป็นอดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต และแม่ค้าขายสมุนไพร ถูกควบคุมตัวที่บ้าน ในวันที่ 25 มกราคม 2558 แล้วถูกนำตัวไปควบคุมในค่ายทหาร 5 วัน ก่อนถูกกล่าวหาว่า กระทำผิด ม.112 จากการนำเข้าและเผยแพร่คลิปเสียงของบรรพต ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557-24 มกราคม 2558 โดยนายหัสดิน อุไรไพรวัน ผู้จัดรายการวิทยุดังกล่าว ถูกควบคุมตัวในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 และถูกพิพากษาว่ามีความผิด ม.112 ให้ลงโทษจำคุก 10 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงให้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 5 ปี โดยปัจจุบัน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว
นางอัญชัญ ซึ่งได้เดินทางมาฟังคำพิพากษากล่าวแก่สื่อมวลชนว่า ตอนนั้นตนเองเห็นว่ามีการแชร์กันอย่างแพร่หลาย ถึงไม่คิดว่าจะเป็นความผิด เพราะมั่นใจในตัวเองและไม่คิดให้รอบคอบ ทำให้ต้องเสียงานที่ทำมา 40 ปี อดีตตนเคยรับราชการระดับซี 8 ที่กรมสรรพากร
ทั้งนี้ นางอัญชัญ ถูกฝากขังและจองจำในเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2558 โดยไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากศาลทหารระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี กระทั่งวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ศาลทหารได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้สลากออมสินมูลค่า 500,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้นางอัญชัญถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เป็นเวลา 3 ปี กับอีก 10 เดือนเศษ ต่อมา 19 กรกฎาคม 2562 คดีของนางอัญชัญ ถูกโอนจากศาลทหารสู่ศาลอาญา และดำเนินการตามขั้นตอน กระทั่งมีคำพิพากษาในวันนี้
นางอัญชัญ นับเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหา/จำเลย จำนวน 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” โดยแต่ละรายถูกฟ้องแยกเป็นคนละคดีกัน ด้วยจำนวนกรรมที่ไม่เท่ากัน โดยเธอเป็นผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วยจำนวนกรรมมากที่สุด คือ 29 กรรม และเป็นผู้ต้องหา/จำเลยเพียงคนเดียวที่ยังต่อสู้คดีอยู่ ขณะที่คดีของคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับ “เครือข่ายบรรพต” ถูกฟ้องร้องเพียง 1 กรรม รวมทั้งตัวบรรพตเอง ซึ่งเป็นผู้กล่าวคลิปเสียงต่าง ๆ ทั้งหมดให้การรับสารภาพ และถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษระหว่าง 3-5 ปี เกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว
ทั้งนี้ ผลคำพิพากษา จำคุก 87 ปีของนางอัญชัญ เป็นการทำลายสถิติ คำพิพากษาให้จำคุก 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือกึ่งหนึ่ง 35 ปี ของนายวิชัย (สงวนนามสกุล) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 จากคดีที่ นายวิชัย ปลอมเฟซบุ๊กด้วยชื่อเพื่อน แล้วเขียนข้อความบนเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง เนื่องจากมีปากเสียงกัน โดยศาลนับความผิด 10 กรรม ให้ลงโทษกรรมละ 7 ปี
นักสิทธิชี้รัฐใช้ ม.112 เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ แสดงความคิดเห็นต่อการตัดสินคดีนางอัญชัญ ในวันนี้ว่า จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่แย่ลงไป
“การพิพากษาลงโทษของศาลอย่างรุนแรงในวันนี้ เป็นที่น่าตกใจ และยังได้ส่งสัญญานที่น่าหวั่นเกรงว่า นอกจากจะไม่มีการยอมรับการพาดพิงถึงสถาบันแล้ว การกระทำดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษอย่างถึงที่สุด ดูเหมือนว่า ทางการไทยเลือกใช้การดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน เป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ในการตอบโต้การประท้วงที่นำโดยเยาวชนที่ต้องการจำกัดพระราชอำนาจและให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” นายสุณัยกล่าว
“สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองแย่ลงไปอีก กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยไม่มีความกลัว ในทางกลับกัน พวกเขาตอบโต้กลับด้วยการวิจารณ์สถาบันโดยไม่อ้อมค้อมและแรงมากยิ่งขึ้น” นายสุณัยกล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้พิพากษาตัดสินให้จำคุก นายสิรภพ กรณ์อรุษ เป็นเวลา 4 ปี 6 เดือน ในความผิด ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างไรก็ตาม นายสิรภพไม่ต้องรับโทษ เนื่องจากเคยถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 4 ปี 11 เดือน 18 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ถึง 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งถือว่าเกินโทษจำคุกที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่นายสิรภพยืนยันว่า จะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อ
ส่วนในวันเสาร์ นายมงคล สันติเมธากุล หรือเยล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร ที่ประท้วงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อ้างว่า ถูกกลุ่มบุคคลควบคุมตัวด้วยรถตู้จากพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วมีข่าวลือว่าถูก กอ.รมน. ควบคุมตัวไป อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ช่วงบ่าย นายมงคลได้รับการปล่อยตัว ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ก่อนที่ กอ.รมน. จะออกมาชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวครั้งนี้