ศาลยกฟ้องแม่จ่านิว คดีตอบข้อความหมิ่นฯ ว่า “จ้า”
2020.12.22
กรุงเทพฯ
ในวันอังคารนี้ ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง น.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของนายสรวิชญ์ เสรีฐิวัฒน์ หรือ จ่านิว ในคดีที่ น.ส.พัฒน์นรี ถูกฟ้องเป็นจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการตอบข้อความของนายบุรินทร์ อินติน นักโทษในคดี ม.112 ว่า “จ้า” โดยศาลเห็นว่าการตอบข้อความลักษณะดังกล่าว ไม่ได้แสดงถึงการหมิ่นเบื้องสูง
น.ส.พัฒน์นรี ถูก ร.ท.ชวิน ชยาวิวัฒนาวงศ์ เข้าแจ้งความดำเนินคดีนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เนื่องจากพบว่านายบุรินทร์ ได้ส่งข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้กับ น.ส.พัฒน์นรี ทางเฟซบุ๊ก ซึ่ง น.ส.พัฒน์นรี ได้ตอบข้อความดังกล่าวกลับไปว่า “จ้า” ทำให้เจ้าหน้าที่มองว่า น.ส.พัฒน์นรี มีเจตนา “หมิ่นฯ” เนื่องจากมิได้มีท่าทีที่จะห้ามปราม ตำหนิ ติเตียน หรือต่อว่านายบุรินทร์ หลังอ่านข้อความนั้น ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 อัยการศาลทหารจึงมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.พัฒน์นรี กระทั่งคดีดังกล่าวถูกโอนย้ายมาพิจารณาในศาลอาญา และมีการนัดอ่านคำพิพากษาวันนี้
“ปัญหาที่ต้องวินิจฉัย คือ จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อความที่จำเลยพิมพ์มี 3 ข้อความ บุรินทร์พิมพ์ 6 ข้อความ มีเพียงข้อความที่บุรินทร์พิมพ์เท่านั้นที่หมิ่นประมาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช องค์รัชทายาท (ในขณะนั้น) และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนข้อความที่จำเลยพิมพ์นั้นเป็นข้อความทั่วไป ไม่ได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ
“เมื่อพิจารณาจากบริบท ตั้งแต่ช่วงเวลา 22.25-22.30 น. บุรินทร์แสดงทัศนะเพียงฝ่ายเดียว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับฟัง เนื่องจากจำเลยไม่ตอบ และการตอบว่า “จ้า” เป็นเพียงการตอบรับและลงท้ายประโยค จำเลยแสดงความนิ่งเงียบของการสื่อสาร แสดงว่าจำเลยไม่ต้องการสื่อสาร เนื่องจากการพิมพ์คำว่า จ้า เป็นคำที่สั้นที่สุด และต้องการตัดบท คำว่า จ้า ไม่ได้สื่อความหมายเป็นการเห็นด้วยใด ๆ อีกทั้งการนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ขึ้น พิพากษายกฟ้อง” คำพิพากษา ระบุ
การอ่านคำพิพากษา เริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 809 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดย น.ส.พัฒน์นรี ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมด้วยทนายความ นายประกัน โดยในห้องพิจารณามีเพื่อนของ น.ส.พัฒน์นรี มาให้กำลังใจด้วยจำนวนหนึ่ง และหลังศาลตัดสินยกฟ้อง น.ส.พัฒน์นรี ได้ร้องไห้ออกมา เนื่องจากรู้สึกโล่งใจ
“รู้สึกโล่งใจ ที่ศาลยกฟ้อง แต่ตอนนี้ คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด อัยการอาจจะอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน แต่อย่างน้อย ๆ ก็โล่งอก ถ้าศาลชั้นต้นยกฟ้อง ก็หวังว่าศาลอุทธรณ์คงจะยกฟ้องเหมือนกัน แม่ยืนยันว่า แม่ก็มีการตอบโต้ ด้วยคำนั้นคำเดียว ไม่ได้มีอย่างอื่นที่จะตีความได้เลยว่า เรามีเจตนาหมิ่น หรือเห็นด้วยกับข้อความ ศาลท่านก็ให้อาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางภาษามาร่วมพิจารณา ก็เห็นว่า ข้อความของแม่ ไม่ได้หมิ่นเบื้องสูง การอ่านข้อความ และตอบมีระยะเวลาที่ห่างกัน ซึ่งแสดงถึงว่าเราไม่ได้เต็มใจตอบข้อความนั้น” น.ส.พัฒน์นรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ที่ผ่านมา ตั้งแต่โดนคดี 112 งานน้อยลง เราก็กลายเป็นจำเลยของสังคม ถ้าเจอคนคิดต่าง ก็เจอขู่ทำร้าย ขู่จะเอารูปไปประจาน แม่รับจ้างทำความสะอาด พอแม่ออกสื่อด้วยข่าวแบบนี้ ก็ถือว่าได้รับผลกระทบเยอะ งานจ้างน้อยลง รายได้น้อยลง ได้รับการยกฟ้องก็สบายใจขึ้น” น.ส.พัฒน์นรี ระบุ
ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลทหาร ศาลสามารถสืบพยานโจทก์ได้ 6 ปาก จากที่อัยการศาลทหารยื่นบัญชีพยาน 17 ปาก ต่อมาเมื่อคดีถูกโอนสู่ศาลอาญา มีการสืบพยานโจทก์อีก 1 ปาก และสืบพยานจำเลย 3 ปาก กระทั่งมีการนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ หลังจากใช้เวลาในกระบวนการราว 4 ปี
ตามข้อมูลของ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากในปี 2559 นายบุรินทร์ซึ่งมีอาชีพเป็นช่างเชื่อม ถูกแจ้งความในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการพิมพ์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ซึ่งอาจเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง ทำให้นายบุรินทร์ถูกคุมตัวไว้ที่ มทบ. 11 เป็นเวลา 7 วัน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 โดยในกระบวนการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงข้อความสนทนาส่วนตัวของนายบุรินทร์ ซึ่งเคยพูดคุยกับ น.ส.พัฒน์นรี ซึ่งเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2559 นำไปสู่การดำเนินคดีกับ น.ส.พัฒน์นรี ด้วย
ต่อมา ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 อัยการศาลทหารได้ยื่นฟ้องนายบุรินทร์ต่อศาลทหาร นำไปสู่การพิจารณาคดีในชั้นศาล และท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ศาลทหารมีคำพิพากษาว่านายบุรินทร์ มีความผิดจริงตามฟ้อง จึงถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 22 ปี 8 เดือน แต่นายบุรินทร์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงลดโทษเหลือ จำคุก 10 ปี 16 เดือน นายบุรินทร์ไม่ประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ ทำให้ปัจจุบัน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีคนถูกเรียกไปรายงานตัว/เยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 1,349 คน, มีคนถูกจับกุม อย่างน้อย 625 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 อย่างน้อย 98 คน, มีคนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 119 คน, มีคนถูกตั้งข้อหา "ชุมนุมเกินห้าคน" อย่างน้อย 421 คน และพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 1,886 คน โดยเป็นสถิติถูกรวบรวมจนถึงวันที่ 23 กันยายน 2562
ขณะที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ระหว่างปี 2557-2560 มีผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วย ม.112 อย่างน้อย 94 ราย แต่มีเพียง 15 รายเท่านั้น ที่ได้รับการประกันตัว และต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป ต่อมาในปี 2561 มีอย่างน้อย 7 คดี ที่ได้รับการตัดสินยกฟ้อง ขณะที่ ปี 2562 มีผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอย่างน้อย 25 คน จากความผิด ม.112 แต่ไม่พบการฟ้องร้องด้วย ม.112 เพิ่มอีก เพราะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระเมตตาแนะนำให้งดเว้น
กระทั่งปี 2563 เกิดการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่ม “ราษฎร” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งเรียกร้องให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ การชุมนุมด้วยข้อเรียกร้องดังกล่าว ได้ขยายออกไปเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ กระทั่งในหลายครั้งเจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังสลายการชุมนุม และเริ่มดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราจัดการกับผู้ชุมนุม ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทั้งแกนนำ ผู้ปราศรัย และผู้ร่วมชุมนุม ถูกดำเนินคดี ม.112 ทั้งหมด 36 ราย ใน 22 คดี
นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ในปี 2562 แม้จะมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีตาม ม.112 กับประชาชน แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการดำเนินคดี ม.112 อีกครั้ง ในช่วงปลายปี 2563
“จากข้อมูลของตำรวจที่บอกว่า ปี 2562 ทั้งปี มีคนฟ้องร้องให้ดำเนินคดี 112 กับประชาชนถึง 100 กว่าครั้ง แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีเลย แต่เมื่อ 19 พฤศจิกายน ประยุทธ์ประกาศจะใช้กฎหมายทุกมาตรา เราก็เห็นการดำเนินคดี 112 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เห็นการตีความกว้างขวางออกไปเรื่อย ๆ” นายสุณัย กล่าว
“การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะจำนวนคดีอาจจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไม่มีขีดจำกัด และเพิ่มอย่างทวีคูณจนแซงหน้ายุค คสช. ถึงประเทศอื่นจะมีกฎหมายคุ้มครองกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายนั้นจริง หรือประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ มีการใช้กฎหมายจริง ก็มีโทษที่เบามาก หากเทียบกับประเทศไทยที่มีการพิพากษาลงโทษ ม.112 ถึง 60 กว่าปี” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ศาลทหาร กรุงเทพฯ ตัดสินจำคุก นายวิชัย (สงวนนามสกุล) ในความผิดตาม ม.112 จากการปลอมเฟซบุ๊ก และโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง โดยถูกตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 30 ปี 60 เดือน เนื่องจากนายวิชัยให้การรับสารภาพ ซึ่งศูนย์ทนายฯ ระบุว่า คดีของนายวิชัย ถือเป็นคดีที่ถูกตัดสินจำคุกด้วยคดี ม.112 ยาวนานที่สุด