ศาลสั่งคุกบัสบาส 50 ปี คดีหมิ่นสถาบัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
2024.01.18
กรุงเทพฯ
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ให้จำคุก นายมงคล ถิระโคตร หรือ “บัสบาส” พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรมชาวเชียงราย เป็นเวลา 50 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ ที่เชื่อว่าขัดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยนับเป็นการตัดสินโทษจำคุกคดีมาตรา 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
นายมงคล เดินทางมาฟังคำพิพากษาในเวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยครอบครัว เพื่อน และตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
“จำเลยเองก็ยอมรับว่า เขียนข้อความหยาบคายลงในเฟซบุ๊ก ลงภาพการทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เสียหาย หรือภาพล้อเลียนรูปพระพักตร์ หรือภาพที่แสดงถึงความไม่เคารพ วิญญูชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความเกลียดชังต่อองค์พระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงต่อเกียรติยศ” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ตามที่ศูนย์ทนายฯ ระบุ
“ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเห็นว่า จำเลยมีความผิดในอีก 11 กระทง ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงหนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 22 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 28 ปี ในอีก 14 กระทงก่อนหน้านี้ รวมเป็นโทษจำคุกรวม 50 ปี” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา
หลังฟังคำพิพากษา ทนายความจากศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นขอประกันตัวนายมงคลระหว่างการต่อสู้คดีชั้นฎีกา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดเชียงรายอ่านคำสั่งของศาลฎีกา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย
“พิจารณาคำร้องของจำเลย พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยถึง 50 ปี หากปล่อยชั่วคราวเชื่อได้ว่าจะหลบหนี ให้ยกคำร้อง” คำสั่งของศาลฎีกา ระบุ ทำให้มงคลจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายในระหว่างชั้นฎีกา
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า “โทษจำคุกของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีนี้ นับได้ว่าเป็นคดี ม. 112 ที่ถูกลงโทษสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์”
โดยก่อนหน้านี้ คดีของนางอัญชัญ มีคำพิพากษาจำคุก 87 ปี ก่อนลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (คิดเป็นประมาณ 43 ปี 6 เดือน) จากการเผยแพร่คลิปเสียงรายการวิทยุใต้ดินของ “บรรพต” 29 กรรม ของนางอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต อายุ 66 ปี คือ คดีที่มีโทษจำคุกยาวนานที่สุดของ ม. 112
บัสบาส ชาวจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน อายุ 30 ปี เป็นที่รู้จักจากการอดอาหารประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมือง และผู้ต้องขังคดีอาญามาตรา 112 ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อเดือนเมษายน 2564 ระหว่างการอดอาหารบัสบาสถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ ก่อนได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี
ในวันที่ 26 มกราคม 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่า บัสบาสมีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 112 ใน 14 ข้อความ แต่ยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ให้ลงโทษข้อความละ 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือข้อความละ 2 ปี รวมจำคุก 28 ปี ต่อมาอัยการได้อุทธรณ์ 13 ข้อความที่ถูกยกฟ้อง กระทั่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษ 11 ข้อความในวันพฤหัสบดีนี้
การเคลื่อนไหวของ บัสบาส เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 กระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี
สำหรับประเด็นดังกล่าว ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบันสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีการดำเนินคดีกับนักศึกษา และประชาชนจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
“การพูด การชุมนุม การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ หรือการเข้าร่วมกับกลุ่มที่รัฐบาลไม่ชอบ การกระทำเหล่านี้ไม่ควรเป็นความผิดทางอาญา เรื่องนี้เลวร้ายและยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง การดำเนินคดีเหล่านี้ต้องถูกยกเลิก พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัว สิ่งที่เรายังไม่ได้เห็นจากรัฐบาลนี้คือ ความจริงจังในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายที่เคารพสิทธิมนุษยชน แม้เราจะเห็นความพยายามในเรื่องสมรสเท่าเทียม แต่นั่นไม่เพียงพอ” ฟิล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นคดีอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 262 คน ใน 287 คดี ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองอย่างน้อย 37 ราย
นอกจากคดีนี้ บัสบาสยังถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายอีกหนึ่งคดี จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 2 โพสต์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม เห็นว่ากรณีดังกล่าวนับเป็นโทษที่สูงมาก การปรับปรุงและปฏิรูปตัวกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“โทษในครั้งนี้นับว่าสูงมาก ต้องทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละเมิดในครั้งนี้ว่า นำไปสู่ความเสียหายตามเจตนารมณ์ของมาตรานี้อย่างแท้จริงหรือไม่ ศาลควรต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย มิฉะนั้นโทษก็จะมีจำนวนมากอย่างที่เห็น การปรับปรุงและปฏิรูปตัวกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายที่มีความเก่าแก่เกินอายุ 20 ปี ต้องมีการทบทวนและปรับปรุงตามกระบวนการ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน