ศาลสั่งคุก 25 ปี แม็กกี้ ฐานทวีตขัด ม.112

รุจน์ ชื่นบาน
2024.03.14
กรุงเทพฯ
ศาลสั่งคุก 25 ปี แม็กกี้ ฐานทวีตขัด ม.112 ผู้ประท้วงชูสามนิ้วนอกศาลอาญา ในระหว่างการประท้วงต่อต้านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564
แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาในวันพฤหัสบดีนี้ให้จำคุก แม็กกี้ (สงวนชื่อและนามสกุลจริง) นักกิจกรรมเคลื่อนไหวผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เป็นเวลา 50 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี จากความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยการทวีตข้อความ และรูปภาพพาดพิงสถาบันกษัตริย์ ระหว่างเดือนธันวาคม 2565-ตุลาคม 2566 ด้านนักวิชาการชี้ การดำเนินคดีมาตรา 112 จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย

“ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุกคดี ม.112 พ.ร.บ.คอมฯ แม็กกี้ รวม 50 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตรวม 18 ข้อความ จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 25 ปี” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุ

หลังทราบคำพิพากษา แม็กกี้ กล่าวกับเพื่อนและสื่อมวลชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีว่า “ขอบคุณทุกคนข้างนอกที่ช่วยกันผลักดัน ติดตามคนที่อยู่ข้างในและให้กำลังใจตลอด ส่วนหนูที่อยู่ข้างในจะสู้ต่อไป ขอบคุณทุกคนมาก” 

แม็กกี้ อายุ 26 ปี เป็นคนจังหวัดยโสธร มีอาชีพเป็นลูกจ้างชั่วคราวของห้างสรรพสินค้า ได้ติดตามและเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มราษฎรตั้งแต่ปี 2563 กระทั่งถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 

ตำรวจกล่าวหาว่า แม็กกี้ทวีตข้อความและรูปภาพ 18 ทวีต ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 ที่พาดพิงสถาบันกษัตริย์ นับตั้งแต่วันที่ถูกจับกุมตัว แม็กกี้ไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ถึงปัจจุบัน เธอถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลากว่า 140 วันแล้ว

ศูนย์ทนายความ ระบุว่า คดีของแม็กกี้ 14 กระทง เป็นความผิดมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี อีก 4 กระทง เป็นความผิดเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 50 ปี ก่อนลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 25 ปี

โทษจำคุก 25 ปี ของแม็กกี้ นับเป็นโทษจำคุกจากมาตรา 112 ที่ยาวนานที่สุดอันดับ 5 รองจาก อันดับ 1 นายมงคล ถิระโคตร (บัสบาส) พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรม ซึ่งถูกจำคุก 50 ปี อันดับ 2 นางอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการเกษียณ ถูกจำคุก 43 ปีครึ่ง อันดับ 3 นายวิชัย (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทเอกชน ถูกจำคุก 35 ปี และอันดับ 4 นายพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง พนักงานนำเที่ยว ถูกจำคุก 30 ปี 

สำหรับคดีนี้ ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า การตัดสินลงโทษหลายปีในคดีเสรีภาพเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการใช้กฎหมายของประเทศไทยไม่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสากล

“การที่คดี ม.112 ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้ในยุครัฐบาลพลเรือน สะท้อนว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องทบทวนการใช้กฎหมาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และเรายังต้องเพิ่มความโปร่งใสและความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมด้วย มันชัดเจนว่า รัฐบาลไทยยังขาดความจริงจังในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งในอนาคตอาจเป็นหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ไทยอาจถูกมองในแง่ลบจากสายตาชาวโลก” ผศ. ปิยพงษ์ กล่าว

การเคลื่อนไหวของ แม็กกี้ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระแสการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 ถึงสิ้นกุมภาพันธ์ 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,951 คน จาก 1,279 คดี ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 268 คน จาก 295 คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีการเมืองอย่างน้อย 40 คน ในนั้นเป็นคดีมาตรา 112 ถึง 15 คน และในทั้งหมดมีถึง 25 คน ที่ถูกคุมขัง แม้คดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด 

ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีการเมืองอย่างน้อย 4 คน ที่อดอาหารเพื่อประท้วงการถูกควบคุมตัวด้วย 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง