คนไทยกว่า 90% มีเงินออมไม่ถึง 50,000 บาท

วิทยากร บุญเรือง
2025.03.10
เชียงใหม่
คนไทยกว่า 90% มีเงินออมไม่ถึง 50,000 บาท หญิงคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมกับสุนัขของเธอผ่านอาคารอพาร์ตเมนต์ที่แออัด ในกรุงเทพฯ วันที่ 29 พฤษภาคม 2553
เอเอฟพี

นายแดง ปันใจ ชาวเชียงใหม่ อายุ 68 ปี อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว หยิบสมุดบัญชีธนาคารออกมาดู "เปิดบัญชีเพราะตอนนั้นกะว่าจะเอาไว้รับเงินเยียวยาโควิด แต่จากนั้นก็ไม่เคยไปฝากเงินที่ธนาคารเลย" เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์

แดงเล่าว่าลูกชายพาไปเปิดบัญชีเมื่อปี 2564 ในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ มาช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เขาเปิดบัญชีด้วยเงินจำนวน 500 บาท โดยหวังว่าจะเป็นบัญชีที่เอาไว้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปธนาคารอีกเลย กำไรจากการค้าขายก็มีเพียงวันละ 400-500 บาท แทบไม่เหลือเก็บ 

"ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน เงินที่ได้มาก็หมดไปกับการต่อทุนเพื่อค้าขาย และค่ากินค่าอยู่วันชนวัน เรื่องจะเอาเงินไปฝากธนาคารไม่ต้องพูดถึง" แดง กล่าว

แดงเป็นหนึ่งในคนไทยที่มีบัญชีออมทรัพย์ แต่มีเงินออมน้อยกว่า 50,000 บาท สะท้อนความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่กำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

TH-financial-2.jpg
นายแดง ปันใจ ชาวเชียงใหม่ อายุ 68 ปี อาชีพขายก๋วยเตี๋ยว ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 (วิทยากร บุญเรือง/เบนาร์นิวส์)

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจ ทางการเงิน พ.ศ. ... โดยหลังจากนี้ จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจร่างกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป

"กฎหมายนี้จะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคได้ในอนาคต และเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีโลก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" แพทองธาร กล่าวกับสื่อ

แม้รัฐบาลจะมุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค แต่ความจริงที่น่ากังวลกลับพบว่า ประชาชนจำนวนมากในประเทศยังมีเงินออมน้อยมาก สะท้อนถึงความอ่อนแอทางการเงินของครัวเรือนไทย

114 ล้านบัญชีมีเงินเก็บน้อยกว่า 50,000 บาท

จากข้อมูล 'ยอดคงค้างเงินรับฝากแยกตามขนาดและอายุของเงินฝากของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ' ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือนธันวาคม 2567 บัญชีออมทรัพย์ของคนไทย มีทั้งหมด 126,736,236 บัญชี ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ 114,677,333 บัญชี (คิดเป็นสัดส่วน 90.49%) มีเงินเก็บไม่เกิน 50,000 บาท

ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาการออมเงินที่น่ากังวลของคนไทย โดยเฉพาะในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความเสี่ยงทางการเงินมีหลากหลายรูปแบบ การที่คนไทยส่วนใหญ่มีเงินออมน้อย อาจไม่เพียงพอสำหรับรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

ผศ.ดร.ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่าเงินออมของภาคครัวเรือนมีความสำคัญหลายระดับ ในระดับครัวเรือน เงินออมคือแหล่งเงินรายได้สำรองเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง เช่น การเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ซึ่งถ้าครัวเรือนไม่มีประกันแล้วก็ต้องจ่ายด้วยเงินสด หรือต้องไปหยิบยืมจากแหล่งอื่น 

ถ้ากู้ยืมเงินแล้วมันก็มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก เงินออมฉุกเฉินจึงมีข้อดีดังกล่าว และช่วยให้ครัวเรือนไม่ต้องเปลี่ยนแบบแผนการบริโภค คุณภาพชีวิตก็ไม่ลดลงมากเมื่อเกิดเรื่องที่คาดไม่ถึง ส่วนในระดับเศรษฐกิจมหภาคเงิน เงินออมภาคครัวเรือนก็สำคัญเช่นกัน เพราะมันคือแหล่งเงินกู้สำคัญของภาคธุรกิจในประเทศ

TH-financial-1.jpg
แรงงานชาวไทยใช้สมาร์ทโฟนเพื่อสแกนจ่ายซื้อสิ้นค้าอุปโภคในร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กใกล้บ้าน ชานเมืองกรุงเทพฯ วันที่ 6 มีนาคม 2568 (ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์)

“เงินออมยังเป็นแหล่งทุน ครัวเรือนมีเงินออมเยอะจะช่วยให้พวกเขากล้าที่จะลงทุนทำกิจการ ธุรกิจเล็ก ๆ หรือกล้าที่จะลงทุนซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น เช่น ตู้เย็น รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เมื่อลงทุนแล้วก็มีโอกาสได้รายได้เพิ่มตามมา” ผศ.ดร.ภาคภูมิ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ผศ.ดร.ภาคภูมิ ยังระบุว่า เมื่อภาคครัวเรือนมีเงินออม ก็จะมีความเชื่อมั่นในการบริโภค เมื่อการบริโภคสูงขึ้นตามมา ก็ช่วยให้เกิดพายุหมุนเศรษฐกิจได้ ภาคธุรกิจก็กล้าลงทุน จ้างงานเพิ่ม รายได้ประชาชาติก็เพิ่มตามมา เมื่อเศรษฐกิจดี ภาครัฐก็จะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น สามารถนำภาษีมาทำนโยบายสาธารณประโยชน์ต่อได้

กระทบสังคมสูงวัย

ไทยกำลังก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยในปี 2572 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% แต่ปัญหาที่น่าห่วงมากกว่า คือสภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินออมไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลความเป็นอยู่ที่มั่นคงในบั้นปลายชีวิต

จากข้อมูล 'ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ' (National Retirement Readiness Index - NRRI) ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในปี 2566 ดัชนี NRRI ของประชากรไทยมีคะแนนเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 49.30 เท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วง 3 ปี ก่อนหน้าที่มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 56.70


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อทุนจีนรุกขนส่งไทย บริษัทรวย แต่คนขับอาจร่วง

รัฐแจกเงินหมื่นวันแรก 3.16 ล้านคน ในกลุ่มเปราะบาง

นายกฯ ยัน ขึ้นค่าแรง 400 บาทภายในปีนี้ แต่ไม่ทัน 1 ต.ค. ตามที่เคยประกาศ


นอกจากนี้ การศึกษาของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า การออมในผู้สูงอายุของไทยยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยเงินออมที่พึงมีหลังจากอายุ 60 ปี ไปแล้ว สำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตเมือง ควรต้องมีเงินออมอย่างน้อย 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อหลังเกษียณ ส่วนในชนบทต้องมีเงินออมอย่างน้อย 2.8 ล้านบาท 

แต่ตัวเลขดังกล่าวที่ สศช. ระบุนั้น ถือเป็นเรื่องยากที่จะมีใครมีโอกาสเก็บออมได้ถึงระดับนั้น โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

“เงินออมหลักล้าน ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำใครจะไปทำได้ เรื่องแก่ตัวไปก็ทำใจไว้แล้ว ว่าคงต้องเป็นภาระให้ลูกหลานดูแลตอนแก่เฒ่า เหมือนชาวบ้านทั่วไป” แดง พ่อค้าวัย 68 ปี กล่าว 

คนรุ่นใหม่ไร้เงินเก็บ

แม้ปัญหาไร้เงินออมมักถูกมองว่าเป็นวิกฤตของผู้สูงอายุ แต่คนหนุ่มสาวจำนวนมากก็กำลังเผชิญสถานการณ์คล้ายกัน โดยเฉพาะในยุคที่ค่าครองชีพพุ่งสูง และค่านิยมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

"เป็นฟรีแลนซ์ ทำให้รายได้ไม่แน่นอน บางเดือนได้หลายหมื่นกว่า บางเดือนแทบไม่มีงานเข้าเลย" จตุพร สุสวดโม้ หญิงสาวชาวมหาสารคาม อายุ 25 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ เล่าขณะนั่งทำงานในร้านกาแฟ 

"เคยลองเก็บเงิน แต่พอมีเหตุฉุกเฉินก็ต้องดึงออกมาใช้จนหมด หรือไม่ก็ตอนที่ไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือกลับบ้านหาแม่ เราก็ต้องเอาเงินเก็บมาใช้เกือบหมดเหมือนกัน" จตุพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

จากการ 'สำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย' ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 โดย ธปท. และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งใช้กรอบการประเมินขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า คนไทยมีทัศนคติทางการเงินแย่ลง โดยคนตอบเห็นด้วยมากขึ้นกับคำถามในหัวข้อ “มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ไม่คิดวางแผนสำหรับอนาคต” และ “มีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออม” สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ไม่ได้วางแผนและเก็บออมเพื่ออนาคตมีจำนวนเพิ่มขึ้น 

TH-financial-3.jpg
แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งรอให้ลูกค้าสแกนจ่ายค่าอาหาร ผ่านบัญชีธนาคารออนไลน์ ชานเมืองกรุงเทพฯ วันที่ 6 มีนาคม 2568 (ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์)

การสำรวจนี้ยังพบว่า กลุ่ม Gen Z (อายุประมาณ 18–26 ปี) เป็นกลุ่มที่น่ากังวลที่สุด โดยสัดส่วนของคนที่ยังไม่คิดหรือวางแผนเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2563 (40.4%) เป็นปี 2565 (53.5%) มีแนวโน้มที่จะเน้นการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากกว่าเป้าหมายระยะยาว แม้ว่าบางส่วนจะเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน แต่ยังขาดการตระหนักถึงความสำคัญของการออมเพื่ออนาคต

“เราอายุยังแค่ 25 จะให้มองถึงวัยเกษียณมันยาวไป ตอนนี้แค่การวางแผนการเงินให้รอดปีต่อปี ก็ยังยากแล้ว” จตุพร กล่าว

แนะรัฐออกนโยบายให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่ม

ผศ.ดร.ภาคภูมิ มองว่าในการแก้ปัญหาคนไทยเงินออมน้อยนั้น หลักการพื้นฐานก็คือการทำอย่างไรให้ครัวเรือนรายได้เพิ่ม หรือรายจ่ายลดลง มันก็ช่วยให้ครัวเรือนหนี้ลดลงได้ คนก็จะมีเงินออม

ผศ.ดร.ภาคภูมิ ยังระบุว่าในด้านนโยบายด้านลดรายจ่าย ก็ต้องทำนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงของภาคครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ขยายระบบประกันสังคม และการประกันสุขภาพ เป็นต้น 

ด้าน จตุพร ฟรีแลนซ์วัย 25 ปี ซึ่งเติบโตมาในช่วงที่คนรุ่นใหม่และกลุ่มการเมืองในประเทศไทย เริ่มมีการเรียกร้องให้นำนโยบายรัฐสวัสดิการมาใช้อย่างจริงจัง มองว่ารัฐควรสร้างความมั่นคงในชีวิตบั้นปลายให้กับประชาชน มากกว่าเรื่องการส่งเสริมให้ปัจเจกชนอดออม

“ส่วนตัวมองว่าความมั่นคงของชีวิตในวัยชราของประชาชน ควรเป็นเรื่องสวัสดิการจากรัฐ ไม่ใช่การเก็บออมของปัจเจกชน” จตุพร กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง