ครม. ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติถึง 15 พ.ค. 66
2023.02.07
กรุงเทพฯ
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันอังคารนี้ ให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จากเดิมที่กำหนดให้ขึ้นก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากพบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 มีแรงงานมาขึ้นทะเบียนเพียง 4 แสนกว่าราย และคาดว่ายังเหลืออีก 2 ล้านกว่ารายที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน
น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยเหลือนายจ้างที่ต้องการแรงงาน เพื่อดำเนินกิจการหลังการระบาดของโควิด-19
“เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวหลังวันที่ 13 ก.พ. 66 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 ซึ่งประกอบด้วยแรงงาน 4 สัญชาติได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พ.ค. 66 และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาถึงวันดังกล่าว” น.ส. ไตรศุลี กล่าว
น.ส. ไตรศุลี ระบุว่า มติในครั้งนี้ เพื่อขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองของบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี เนื่องจากปัจจุบัน มีแรงงานเมียนมาประมาณ 300,000 คน อยู่ระหว่างการทำเอกสาร CI ขณะที่สำหรับ ลาว และกัมพูชา หากประสงค์จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัว ให้มีหนังสือผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยดำเนินการได้ถึง 13 พ.ค. 66 เช่นกัน
“ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวยื่นเอกสารครบถ้วนตามกำหนดแล้ว ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึง วันที่ 13 ก.พ. 67 หรือ 13 ก.พ. 68 แล้วแต่กรณี… ความจำเป็นที่ต้องมีการออกแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวนี้ เนื่องจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทำงานตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 จำนวน 2,425,901 คน ปรากฎว่า ล่าสุดได้มีการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 403,062 คน และยังไม่ดำเนินการยื่นคำขอ 2,022,839 คน เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วน” น.ส. ไตรศุลี กล่าว
ทั้งนี้ แรงงานที่ขออนุญาตทำงานตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 สามารถแบ่งเป็น แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย 1,719,231 คน และแรงงานที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน 706,670 คน ตามมติ ครม. ได้กำหนดว่า หากคนต่างด้าวทั้ง 2 กลุ่ม ประสงค์จะทำงานต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 13 ก.พ. 66
หลังจากนี้ ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ออกประกาศหรือระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักแพทย์ กรุงเทพมหานครปรับปรุงขั้นตอนการขยายประกันสุขภาพให้คนต่างด้าว ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและสะดวก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลของคนต่างด้าว
นักสิทธิฯ ชี้ค่าดำเนินการแพง เปิดช่องเจ้าหน้าที่รีดไถแรงงาน
น.ส. ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า สภาพการค้ามนุษย์ หรือการเอาเปรียบแรงงานในปัจจุบัน เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นการกักขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไปสู่การหาผลประโยชน์จากแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกระทรวงต่าง ๆ ควรเร่งหาทางแก้ไข
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดระบาด และการสู้รบในพม่า ทำให้มีแรงงานจำนวนมาก พยายามเข้ามาในไทยอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะต้องการทำงาน และมีชีวิตที่ดี แต่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อการถูกหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือถูกรีดไถจากตำรวจ ปัญหาสำคัญคือ ขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายแพง ทำให้นายจ้าง หรือตัวแรงงานไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ทำให้เป็นช่องให้ถูกเอาเปรียบเป็นประจำ” น.ส. ปฏิมา กล่าว
“สิ่งที่รัฐต้องทำคือ ช่วยให้การขึ้นทะเบียนทำได้ง่าย เพราะยังไงประเทศเราก็ต้องการแรงงานจำนวนมาก ควรเอาเขามาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายให้หมด ระบบการขึ้นทะเบียนต้องมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน และมหาดไทยจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน” น.ส. ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม
ในปี 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย อยู่ระหว่าง 9,700 - 26,720 บาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าว นักสิทธิแรงงานมองว่าสูงเกินกว่าที่แรงงานหรือนายจ้างจะรับไหว
“ความยุ่งยากเรื่องเอกสารและความล่าช้า โดยเฉพาะยังไม่แน่ใจท่าทีของฝั่งเมียนมา ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบาลทหารจะเป็นอย่างไร เรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 2 หมื่นกว่าบาท ถือว่ายังสูงอยู่ คิดว่าถ้าอยู่ในระดับ 1.5 หมื่นแรงงานน่าจะพอรับได้” นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ LPN กล่าวกับเบนาร์นิวส์
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน