ผู้สังเกตการณ์ : อาเซียนต้องกำหนดเวลาให้รัฐบาลทหารเมียนมาทำตามฉันทามติ

ฮาดี อัซมี และรอนนา เนอร์มาลา
2021.04.26
กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา
ผู้สังเกตการณ์ : อาเซียนต้องกำหนดเวลาให้รัฐบาลทหารเมียนมาทำตามฉันทามติ หญิงสาวใช้รูปภาพ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ประกอบการจัดทำพร็อพ ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564
อันทารา/รอยเตอร์

อาเซียนจำเป็นต้องกำหนดระยะเวลาสำหรับการดำเนินการตามฉันทามติที่ได้ประกาศไว้เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา นักวิเคราะห์กล่าว แม้ในขณะที่พลเรือนอีกหนึ่งคนถูกยิงเสียชีวิต ในเมียนมา เมื่อวันจันทร์นี้ ทั้ง ๆ ที่ที่ประชุมอาเซียนเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที สมาคมประชาชาติตะวันออกเฉียงใต้จะพบว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะขอคำมั่นว่ากองทัพเมียนมา จะทำตามสัญญาที่พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพ ได้ให้ไว้ว่าจะยุติความรุนแรง นอกเหนือจากการดำเนินการอื่น ๆ นักวิเคราะห์กล่าว

เมื่อวันจันทร์นี้ สองวันหลังการตกลงกันของอาเซียน กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้ยิงชายคนหนึ่งเสียชีวิตในเมืองมัณฑะเลย์ สำนักข่าวรอยเตอร์กล่าว โดยอ้างข้อมูลจากสื่อในประเทศ

แม้รัฐบาลทหารพม่าได้ตกลงที่จะยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในการประชุมสุดยอดนั้นไม่ได้พูดถึงกำหนดเวลาในการให้เมียนมาปฏิบัติตามคำสัญญานั้น อัซมี ฮัสซัน นักวิเคราะห์การเมืองชาวมาเลเซียกล่าว เกี่ยวกับกองกำลังทหารและความมั่นคงของเมียนมาที่ได้สังหารผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนหลายร้อยคนแล้ว นับตั้งแต่ที่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

“ไม่แปลกใจเลยที่ประชาชนในเมียนมา องค์กรนอกภาครัฐ และบรรดานักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เพื่อประชาชนชาวเมียนมา จะไม่พอใจกับอาเซียนในเรื่องนี้ เพราะไม่มีการกำหนดเวลา ไม่มีการพยายามกดดันผู้นำรัฐบาลทหารให้ปฏิบัติตามคำสัญญา” อัซมี ฮัสซัน บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวันจันทร์ 

ผมรู้สึกผิดหวังทีเดียวกับผลที่ออกมา เพราะโอกาสอยู่ตรงนั้น อาเซียนมีโอกาสที่จะกำหนดระยะเวลาที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็อีก ไม่ได้อะไรจากโอกาสนั้น ถ้าไม่ได้มีการประชุมกัน ในจาการ์ตา ผลก็คงไม่แตกต่างไปจากนี้”

อาเซียนต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว และกำหนดระยะเวลาให้แก่ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า “ในการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะยุติความรุนแรง หรือพร้อมที่จะให้เขารับผิดชอบ” ชาร์ล ซานติอาโก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของมาเลเซีย กล่าว

“ผมเกรงว่าการไม่ให้กำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงกับผู้แทนพิเศษ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำตามที่ตัวเองต้องการ และทำสิ่งที่ได้เริ่มไว้จนเสร็จ” ชาร์ล ซานติอาโก ประธานรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR APHR) กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันอาทิตย์ ตามข้อมูลจากบัญชีทวิตเตอร์ของอาเซียน

“อาเซียนมีความตั้งใจมากน้อยจริงจังเพียงใด ในการตอบสนองต่อวิกฤตในเมียนมานั้น ขึ้นอยู่กับการให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา โดยที่อาเซียนควรแน่ใจว่า ไม่ได้ถูกหลอก และเขาจะทำตามฉันทามติที่ตกลงกันไว้”

การเจรจาที่ เป็นของและนำโดยเมียนมาเอง

“ฉันทามติห้าข้อ” ของอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์เมียนมา เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงทันที การเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่าย และการให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในระหว่างการเจรจา ผู้นำอาเซียนยังเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านการประสานงานของอาเซียน และการเยือนเมียนมาโดยคณะผู้แทนอาเซียน เพื่อพบปะกับทุกฝ่าย

แต่การปล่อยตัวนักโทษการเมืองไม่ได้รวมอยู่ในฉันทามติห้าข้อนั้น ตามที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เรียกร้องไว้ในสุนทรพจน์ของบุคคลทั้งสองในระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อวันเสาร์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน (โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ระบุชื่อ) ว่า ที่จริงแล้ว ฉันทามติที่ร่างขึ้นหนึ่งวันก่อนหน้าการประชุม มีเงื่อนไขให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมอยู่ในนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า ถ้าจะให้การเจรจาเกิดประโยชน์จริง ๆ จะต้องให้ผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยกองทัพเมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมด้วย หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์รายงาน

“ที่ดีที่สุดคือ ถ้าเรามีการเจรจา จะต้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และต้องเป็นการเจรจาที่เป็นของเมียนมาและนำโดยเมียนมาเอง” เธอกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ ตามรายงานเมื่อวันจันทร์ ในหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์   

ผู้นำอาเซียนพบปะกัน “ในฐานะครอบครัวเดียวกัน” และเห็นพ้องต้องกันที่จะให้บรูไน ประธานอาเซียนของปีนี้ แต่งตั้งผู้แทนพิเศษสำหรับกรณีเมียนมาขึ้น ผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากนายลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยในการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายในเมียนมา นางเร็ตโน มาร์ซูดี กล่าว

จนถึงวันจันทร์นี้ กองทัพเมียนมาได้ควบคุมตัวคนจำนวน 3,371 คน รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพลเรือน ตามข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ในกรุงเทพฯ

ช้าจนน่าทรมาน

เป็นการยากที่จะรับรองได้ว่า เมียนมาจะทำตามที่ตกลงกันไว้ แม้สิ่งเหล่านั้นจะอยู่ในเอกสารฉันทามติก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนกล่าว

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ยอมรับว่า เมียนมาอาจไม่ทำตามฉันทามติที่ตกลงกันไว้ในการประชุมอาเซียน

“ผมแน่ใจว่าในการทำตามฉันทามตินี้ เป็นเรื่องที่ยังอีกไกลในอนาคต เพราะการพูดว่าจะหยุดความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษการเมือง [เป็น] เรื่องหนึ่ง แต่การทำจริง ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ลี เลียนซุง บอกแก่ผู้สื่อข่าว หลังการประชุมอาเซียนเมื่อวันเสาร์ ซึ่งเขาเข้าร่วมประชุมด้วย แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงาน

และการจะมีการพูดคุยกันระหว่างทุกฝ่าย เพื่อให้บรรลุข้อยุติทางการเมืองนั้นยิ่งยากกว่า แต่อย่างน้อย เราก็ยังสามารถดำเนินขั้นตอนบางอย่างต่อไปได้” 

เช่นเดียวกัน แอรอน คอนเนลลี นักวิจัยประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา ในสิงคโปร์ เห็นด้วยว่า การแก้ไขวิกฤตในเมียนมานั้นจะต้องใช้เวลา แต่การประชุมสุดยอดดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกที่ดี   

ถ้ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ จนน่าทรมาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนชาวเมียนมา แต่การปฏิเสธโอกาสนี้เลยทันที ก็จะเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เพราะมีทางเลือกอื่นน้อยมาก”

ยูยุน วาห์ยูนิงรัม ผู้แทนของอินโดนีเซียในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เธอยินดีกับผลการประชุมอาเซียนครั้งนี้ แต่งานที่ยากเริ่มขึ้นแล้วตอนนี้ สิ่งท้าทายต่อไปคือ การทำให้แน่ใจถึงการปฏิบัติตามฉันทามติของอาเซียน และการที่เมียนมาจะรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้” เธอบอกแก่เบนาร์นิวส์ 

ให้ NUG มีส่วนร่วมด้วย

อาเซียนยังจำเป็นที่จะต้องพบปะโดยทันทีกับรัฐบาลแห่งเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนคู่ขนานของเมียนมาที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชาวพม่าและนักวิเคราะห์ในภูมิภาคกล่าว  

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำเอเชีย กล่าวตำหนิอาเซียนที่ไม่เชิญผู้แทนของ NUG เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ด้วย 

ไม่เพียงแต่ไม่ได้เชิญตัวแทนของชาวเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุมในกรุงจาการ์ตาเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการพูดถึงตัวแทนเหล่านี้เลย ในฉันทามติที่อาเซียนกำลังชื่นชมตนเองว่าได้บรรลุถึงแล้ว” เขากล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง

การให้ NUG มีส่วนร่วมด้วย เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะยุติวิกฤตในเมียนมาในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวเมียนมา ฮันเตอร์ มาส์ตัน นักวิจัยพิเศษที่แปซิฟิกฟอรัม สถาบันวิจัยนโยบายต่างประเทศ กล่าว

“ถ้าอาเซียนต้องการทางออกที่แท้จริงต่อวิกฤตนี้แล้วล่ะก็ อาเซียนจำเป็นต้องแต่งตั้งและส่งผู้แทนพิเศษไป เพื่อให้ NUG มีส่วนร่วมด้วย และยืนกรานที่จะให้มีการเจรจากันจริง ๆ เกิดขึ้น” ฮันเตอร์ มาส์ตัน กล่าวในทวิตเตอร์

คิห์น โอมาร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวพม่า กล่าวว่า อาเซียนไม่ได้ใช้การประชุมสุดยอดให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะไม่ได้พยายามให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญ เช่น NUG เข้ามามีส่วนร่วมด้วย  

“เมื่อปราศจากความเห็นด้วย [ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย] ก็ขาดความเห็นพ้องต้องกัน… การประชุมครั้งนี้น่าที่จะเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ได้ ไม่เพียงแต่สำหรับประชาชนชาวเมียนมาเท่านั้น แต่ยังสำหรับชาวอาเซียนด้วย... แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น” เธอกล่าวในงานแถลงข่าวของ APHR

“แต่ก็ยังมีเวลาที่จะเปลี่ยนวาทกรรมได้”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง