อดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ มงคล สุระสัจจะ นั่งประธานวุฒิสภา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.07.23
กรุงเทพฯ
อดีตผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ มงคล สุระสัจจะ นั่งประธานวุฒิสภา นายมงคล สุระสัจจะ ว่าที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ทักทายสมาชิกในห้องประชุม หลังจากได้รับการโหวตเป็นประธานวุฒิสภาด้วยคะแนน 159 เสียง ที่อาคารรัฐสภา วันที่ 23 กรกฎาคม 2567
เจมส์ วิลสัน-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ที่ประชุมวุฒิสภาเลือก นายมงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานวุฒิสภาด้วยคะแนน 159 เสียง ขณะเดียวกัน เจ้าตัวยืนยัน ไม่มีเส้นสาย แม้ถูกมองว่า เป็น สว. สีน้ำเงิน เนื่องจากเคยทำงานในบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่คะแนนเสียงของพรรคภูมิใจไทย 

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เผยใครได้ตำแหน่งก็ยินดีด้วย ส่วนนักวิชาการตีความ ประธานวุฒิสภาใหม่สะท้อนให้เห็นการรวบอำนาจของ “สีน้ำเงิน” 

“ความเป็นคนไม่มีเส้นไม่มีสาย ผมเติบโตมาในระบบราชการด้วยการทำงานอย่างหนัก เต็มความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการประสานงานกับพี่น้องประชาชน คลุกคลีกับพี่น้องประชาชนทั้งในชนบทตลอดชีวิต เกษียณอายุราชการก็ไปทำไร่ในชนบท” นายมงคล กล่าวในการแสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภา

นายมงคล ได้เสียงชนะคู่แข่ง คือ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส อดีตคณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งได้เสียงเห็นชอบ 19 เสียง นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ อดีต สส. ขอนแก่น พรรคความหวังใหม่ และ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทยซึ่งได้เสียง 13 เสียง โดยมีคนงดออกเสียง 4 เสียง และบัตรเสีย 5 เสียง

“วุฒิสภาเป็นองค์กรด้านนิติบัญญัติและเป็นองค์กรสำคัญที่จะพาสังคมไทยเดินหน้าไปด้วยสันติวิธี รวมถึงการมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เหมาะสม สอดคล้องกับคนไทยและราชอาณาจักรไทยอย่างแท้จริง เป็นภารกิจของพวกเราในฐานะสมาชิกวุฒิสภา โดยทั้งวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในไทยก็เกิดขึ้นในประเทศอื่นด้วย อย่าหวังให้ใครมาช่วยเรา คนไทยต้องช่วยกัน” นายมงคล กล่าวต่อที่ประชุมฯ 

สำหรับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ สว.ได้คะแนน 150 เสียง ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ขณะที่นายนพดล อินนาได้ 27 เสียง รศ.แล ดิลก วิทยรัตน์ ได้ 15 เสียง ดร.ปฏิมา จีระแพทย์ ได้เพียง 5 เสียง บัตรเสีย 2 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง

สำหรับประธานวุฒิสภามีความสำคัญคือควบคุมการประชุม และเป็นผู้กำหนดว่าจะนำวาระที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาหรือไม่ 

ก่อนหน้านี้ นายมงคล ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “สว. สีน้ำเงิน” ซึ่งเป็นสีหลักของพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งเป็นพื้นที่คะแนนเสียงสำคัญ และบ้านเกิดของนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ก่อตั้งพรรค รู้จักกับนายเนวิน และเคยถูกเสนอชื่อเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล บิดาของนายอนุทิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปี 2553 แต่นายมงคลปฏิเสธจะรับตำแหน่ง

“ใครชนะก็ต้องแสดงความยินดีหมดไม่มีปัญหา สมาชิกวุฒิสภาถือเป็นสมาชิกรัฐสภา ทำงานให้กับบ้านเมือง เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เราต้องทำงานร่วมกัน” นายอนุทิน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อถูกถามเรื่องประธานวุฒิสภา

สว. ชุดใหม่ 200 คนนี้ เป็นการเลือกกันเองในหมู่ผู้สมัคร 4.81 หมื่นคน ซึ่งมีอายุเกิน 40 ปี จาก 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก เป็นต้น กระบวนการเลือกมี 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ

การเลือกตั้ง สว. รอบสุดท้ายระดับประเทศมีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเป็นการแข่งขันของผู้สมัคร สว. 3,000 คน ที่ผ่านการคัดเลือกระดับจังหวัด โดยรูปแบบการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว.ฯ) ที่นับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก โดย สว. ชุดใหม่นี้จะมีวาระ 5 ปี

ต่อผลการเลือกตั้ง ประธานวุฒิฯ ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นยากเนื่องจากมองว่า สว. ที่มีแนวคิดก้าวหน้าน้อยเกินไป 

“สว. ใหม่ กลุ่มที่ก้าวหน้าหน่อย หรือกลุ่มพันธุ์ใหม่ยังน้อยเกินไป ไม่พอที่จะเพิ่มเสียงที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูป ในระยะยาวก็คงถูกกดดันจากกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือ การผ่านกฎหมายปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเดิมจะเป็นไปได้ยากหรือไม่โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นมาแล้วใน สว. ชุดเก่าซึ่งการผ่านกฎหมายสำคัญช้ามาก” ผศ. ปิยพงษ์  กล่าว

อำนาจหน้าที่ของ สว. 200 คนนี้ จะมีหน้าที่ลงคะแนนเสียงกฎหมายซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายและตั้งกระทู้ถามรัฐบาล รวมถึงมีอำนาจแต่งตั้ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ด้าน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ผลการเลือกตั้ง ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา สะท้อนให้เห็นว่า อำนาจต่อรองทางการเมืองตกอยู่ในมือกลุ่มการเมืองบางกลุ่มอย่างชัดเจนแล้ว

“สภานี้กลายเป็นสภากินรวบ หรือเรียกให้ตรงไปตรงมาที่สุดคือ เนวินสภา เพราะเขาสามารถกำหนดทุกตำแหน่งในสภาสูงได้ จะทำให้มีน้ำหนักการต่อรองขี่เพื่อไทยได้สบาย เพราะจะควบคุมการเลือก องค์กรอิสระ คงไม่มีรัฐมนตรีคนไหนอยากถูกถอดถอน ผมเชื่อว่า จะทำให้สีน้ำเงินกลายเป็นผู้นำของปีกอนุรักษ์นิยมแทนสีแดง (เพื่อไทย) เพราะมีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทั้ง สส. องค์กรอิสระ สภาสูง” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง