ฝ่ายความมั่นคง เตรียมแผนเดือนรอมฎอนสันติสุข

มารียัม อัฮหมัด
2024.03.06
ปัตตานี
ฝ่ายความมั่นคง เตรียมแผนเดือนรอมฎอนสันติสุข เด็กชาวมุสลิมจากครอบครัวยากจนได้รับแพ็คอาหารจากเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างชาวไทยมุสลิมเตรียมพร้อมสำหรับเดือนรอมฎอน จังหวัดนราธิวาส ภาพเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561
เอเอฟพี

พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยแผน “เดือนรอมฎอนสันติสุข” โดยมุ่งเน้นการสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะสนับสนุนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น ด้านนักวิชาการชี้ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) น่าสนับสนุน แม้ยังมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุง

“การสร้างบรรยากาศที่ดีก่อนที่จะเข้าสู่ห้วงเดือนรอมฎอน ถือเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทางคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยื่นให้กับคณะพูดคุยของบีอาร์เอ็นที่ผ่านมา จะดำเนินการไปจนถึงเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์เพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนทุกศาสนิก สามารถปฏิบัติภารกิจตามความคิดความเชื่ออัตลักษณ์ของทุกคนในทุกเทศกาลได้อย่างเต็มที่” พล.ท. ปราโมทย์ กล่าว

พล.ท. ปราโมทย์ เปิดเผยว่า ในเดือนรอมฎอนสันติสุข ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม ต่อเนื่องจนถึงช่วงสงกรานต์ กลางเดือนเมษายน 2567 โดยเจ้าหน้าที่จะยังคงมีมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่มีการปรับลดปฏิบัติการบางอย่างเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่

“เจ้าหน้าที่จะปรับลดในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย หากไม่จำเป็นจะไม่บังคับใช้ สำหรับด่านตรวจในพื้นที่ก็มีการปรับลด ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาและความจำเป็นในการตั้งด่านตรวจ ยกเว้นด่านถาวรในพื้นที่ที่ยังคงต้องดำเนินการเพื่อตรวจค้นสิ่งของผิดกฎหมายและเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนน ปรับลดป้ายประกาศหมายจับโดยมีการปรับการติดตั้งให้มีความเหมาะสม” พล.ท. ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม

พล.ท. ปราโมทย์ ระบุว่า ในช่วงเทศกาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดซื้อ-ขาย-จุดประทัด ซึ่งจะก่อให้เกิดเสียงดัง รบกวน เกิดความสับสน และก่อให้เกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบได้ตลอดเวลา

ในประเด็นเดียวกัน พล.ต. เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 จ.นราธิวาส ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารพราน ชุดเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45, 46, 48 และ 49 จะบูรณาการกับตำรวจและภาคเอกชน ป้องกันและปราบปรามเหตุร้ายในพื้นที่ด้วย

“เจ้าหน้าที่ทหารพรานจะรับผิดชอบพื้นที่เสี่ยง ส่วนรอบนอกจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคเอกชน ร่วมตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ต้องสงสัยในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวความมั่นคงประสานการปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมมีความไว้วางใจ สามารถปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอนลุล่วงไปได้ด้วยดี” พล.ต. เฉลิมพร กล่าว

“ทหารพรานจะใช้โดรนบินตรวจสอบความเรียบร้อยเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต และจะมีเจ้าหน้าที่ทหารพรานอีกส่วนหนึ่งเดินลาดตระเวนตรวจสอบความเรียบร้อย โดยเฉพาะวัตถุต้องสงสัย รวมถึงพื้นที่แนวเชิงเขาจะใช้เจ้าหน้าที่ทหารพรานชุดเสือดำป่าภูเขาเดินลาดตระเวน เพื่อสกัดกั้นกลุ่มผู้ก่อเหตุที่แฝงตัวกบดานบนเทือกเขา” พล.ต. เฉลิมพร กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอามานี วาเด็ง ชาวบ้านในจังหวัดยะลา ระบุว่า อยากเห็นการหยุดยิงตลอดไป

“หลายปีแล้วเป็นแบบนี้ รอมฎอนแรก ๆ ก็จะสงบ แต่ช่วงก่อนสิ้นสุดรอมฎอนก็จะมีเหตุยิง ระหว่างทหารกับบีอาร์เอ็น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างน้อยก็มีจุดเริ่มต้น และอาจต้องใช้เวลา ก็มีความหวังว่า พื้นที่ตรงนี้จะสงบจริง ๆ ได้ ไม่ใช่แค่สงบ หรือหยุดยิงเฉพาะช่วงรอมฎอน” นายอามานี กล่าว

แผนดำเนินการดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ โดยหากแนวทางนี้ประสบความสำเร็จ อาจมีการขยายการดำเนินการในอนาคต

สำหรับแผนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ซึ่งคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต

ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ชี้ว่า การดำเนินการของภาครัฐน่าสนับสนุน แต่ต้องมีการวางแผนเป็นระบบ

“การลดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนนั้น ยังคาดการณ์ไม่ได้ ว่าจะทำได้จริงไหม ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดผลอย่างไร แต่ต้องไม่ใช่การคิดแค่การหยุดยิงเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีการวางแผนอย่างมีระบบ ในประเด็นของเนื้อหาการหารือสาธารณะของ JCPP นั้น มองดูแล้วเป็นหลักการพื้นฐาน ของกระบวนการสร้างสันติภาพ ซึ่งหลักการนี้ ได้รับการสนับสนุน แม้ว่าจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง ต้องแก้ไขปรับปรุง แต่ต้องผ่านการกระบวนการร่วมกันของทั้งสองฝ่าย” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าว

“การหารือแม้ว่าจะมีการโต้แย้ง มีข้อถกเถียงแต่คิดว่าประเด็นนี้น่าจะคุยกันได้ ในภาคประชาชน และนักวิชาการในพื้นที่ถือว่าเป็นการเดินหน้า และมีการทำเดินหน้ากันไปแล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ และประชาชนเป็นคนทำถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่เตรียมกันมา 2-3 ปีแล้ว มีพื้นฐานแล้ว เตรียมการกันมา ส่วนข้อเสนอของฝ่ายบีอาร์เอ็น ก็มีการต่อรองกัน ดังนั้นถือว่ากระบวนการยังใช้ได้อยู่” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง