เศรษฐาพ้นนายกฯ หลังศาล รธน. ชี้ขัดจริยธรรม
2024.08.14
กรุงเทพฯ
ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยในวันพุธนี้ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี เพราะขัดจริยธรรมจากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสม ด้านประธานสภาผู้แทนราษฎรมีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรด่วนวาระพิเศษในวันศุกร์นี้ เพื่อพิจารณาเลือกสรรบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ นายเศรษฐา สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดลงไปด้วย
“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องที่หนึ่งรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่าง ๆ ของผู้ถูกร้องที่สอง (นายพิชิต) โดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่สองเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่หนึ่งไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ไม่ได้เดินทางไปฟังคำวินิจฉัยที่ศาลด้วยตัวเองเนื่องจากติดภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมอบหมายให้ นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางไปฟังแทน
“ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง (นายเศรษฐา) นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงอันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ” ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ในค่ำวันเดียวกัน ร.ต.ต. อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด ว่าด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีคำสั่งให้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา
โดยหลังทราบคำวินิจฉัย นายเศรษฐา ได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า น้อมรับคำวินิจฉัยของศาล
“น้อมรับคำตัดสิน และยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ทำงานมาในตำแหน่งหน้าที่นี้ ผมทำด้วยความบริสุทธิ์ ผมไม่ได้ดูตรงที่จะตัดสิทธิหรือไม่ แต่ผมเสียใจตรงที่ว่า ผมจะถูกออกไป ว่าเป็นนายกฯ ที่ไม่มีจริยธรรม ผมมั่นใจว่า ผมเป็นคนมีจริยธรรม ผมดูข้อกฎหมายแล้ว สอบถามแล้ว แต่เรื่องนี้มันจบไปแล้ว ทุกคนก็มั่นใจ และอำนาจสูงสุดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยอมรับแล้วว่า เราหมดหน้าที่แล้วเมื่อสามโมงครึ่งวันนี้” นายเศรษฐา กล่าว
ทั้งนี้ ครม. ชุดปัจจุบัน จะยังทำหน้าที่รักษาการจนกว่าจะมี ครม. ชุดใหม่ โดยผู้ที่จะทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีรักษาการจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง นายภูมิธรรม เวชยชัย อย่างไรก็ตาม หากนายภูมิธรรมเดินทางไปต่างประเทศ ผู้ที่จะรับตำแหน่งจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่สอง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
“ปล่อยให้การเมืองเป็นไปตามวิถีของมัน ขึ้นอยู่กับสภาว่าจะได้เลือกนายกฯ คนใหม่ได้เร็วขนาดไหนอย่างไร นโยบายของรัฐบาลนี้ที่ได้ประกาศออกไปแล้ว ผู้ที่มาสืบทอดตรงนี้จะทำต่อหรือเปล่า ผมเรียนตามตรง ผมตอบไม่ได้ ผมไม่ทราบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ทราบว่าพรรคร่วมจะเป็นกันอย่างไร จะเป็นพรรคร่วมหรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ถ้าเกิดเปลี่ยนผู้นำเขาก็มีสิทธิจะตัดสินใจตามที่เห็นสมควร” อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุ
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการที่สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องมาจากบัญชีของพรรคการเมืองที่มีเสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง จากการเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เหลือผู้ที่มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย
น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม นิติศิริ พรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์
ทำไมพิชิตถึงไม่มีคุณสมบัติ
ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 นายพิชิตถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางข้อครหาว่า มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เนื่องจาก นายพิชิตเคยถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก นายพิชิตพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเงิน 2 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ระหว่างทำหน้าที่ทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและภรรยา ในคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก
คดีดังกล่าวถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “คดีถุงขนม” เนื่องจากเงินสินบนที่ว่าถูกบรรจุในถุงกระดาษและอ้างว่าเป็นของฝากสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยคดีนี้ศาลตัดสินให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอาญา ฐานละเมิดอำนาจศาล ซึ่งทำให้สภาทนายความลบชื่อนายพิชิตออกจากบัญชี
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้กลางเดือนพฤษภาคม 2567 สว. 40 คนในขณะนั้น ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรีจากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต โดยวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งให้รับคำร้องนั้นไว้พิจารณา
“ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ชี้ขาดเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการนำชื่อคุณพิชิต ชื่นบาน ซึ่งมีปัญหาขึ้นกราบบังคบทูลฯ ทั้งที่รู้ว่ามีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตั้งแต่ต้น” นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ในฐานะผู้ร้อง กล่าวแก่สื่อมวลชนหลังทราบคำวินิจฉัย
ก่อนหน้านี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการทำงานของ ครม. วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 นายพิชิต ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี แม้ยืนยันว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบถ้วน “เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง” นายพิชิต ระบุในจดหมายลาออก
คำวินิจฉัยดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า คำวินิจฉัยจะทำให้เสถียรภาพของกลุ่มอำนาจเก่าสั่นคลอน และนายกรัฐมนตรีคนใหม่อาจไม่ได้มาจากบัญชีของเพื่อไทย
“ตามหลักเพื่อไทยคงเสนอคุณแพทองธาร เป็นนายกฯ แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ เพื่อไทยจะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองกับพรรคร่วมในตอนนี้ได้มากแค่ไหน คิดว่าเขาจะต้องกระชับอำนาจให้มั่นคง เพื่อให้ยังได้เสียงส่วนมากอยู่ในมือ มีสิทธิ์ที่นายกฯ คนต่อไป อาจจะไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทยเช่นกัน หากครอบครัวชินวัตรประเมินแล้วว่าคุณแพทองธารยังไม่พร้อม” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าว
นายเศรษฐา ปัจจุบัน อายุ 62 ปี ลาออกจากตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด มหาชน ในปี 2565 และรับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กระทั่งถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2566
แม้พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 มี สส. มากที่สุด 151 คน และเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่ง สว. ไม่ให้ความเห็นชอบนายพิธา โดยอ้างว่า จะไม่สนับสนุนพรรคที่เสนอแก้ไข ม. 112 เป็นรัฐบาล
ก้าวไกล ได้ส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ แม้เคยยืนยันว่า จะไม่จับมือกับทั้งสองพรรคดังกล่าวในการหาเสียงเลือกตั้ง และเสนอชื่อนายเศรษฐา ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
“หากพรรคร่วมงอแง พรรคเพื่อไทยก็อาจกลับลำไปจับมือกับพรรคประชาชนก็ได้ ก็เสียงเกินครึ่งเหมือนกัน แต่ในระยะยาว คำตัดสินนี้จะทำให้เอกภาพในกลุ่มอำนาจเก่าสั่นคลอน เพราะตอนนี้เขากำลังเจอศึกหนักกับพรรคประชาชน ที่มีกระแสสนับสนุนกว้างขวาง หากปีกอนุรักษ์นิยมขัดแย้งกันเอง ก็จะมีเอกภาพน้อยลง การเลือกตั้งครั้งหน้า โอกาสชนะพรรคประชาชนก็คงยาก” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน