เศรษฐา ทวีสิน : เหตุใดนายกฯ พลเรือนคนแรกในรอบทศวรรษจึงพ้นสภาพนายกฯ อย่างรวดเร็ว
2024.08.14
นายเศรษฐา ทวีสิน ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมแผนทางการเมืองของเขา ในเดือนสิงหาคมปี 2566 ในฐานะนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของไทย ในรอบเกือบทศวรรษ เขาอยู่ในตำแหน่งไม่ถึงปีด้วยซ้ำ
พรรคเพื่อไทย ได้คะแนนสียงนำเป็นอันดับสองในการเลือกตั้งทั่วไป แต่สามารถขึ้นเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากพรรคทหารหนุนและกษัตริย์นิยม หากเพื่อไทยครั้งหนึ่งเคยเป็นพรรคที่ยึดหลักการการต่อต้านการปกครองระบอบทหาร
นักเคลื่อนไหวและนักวิจารณ์พากันโจมตี เศรษฐา ที่เป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในมหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ไทย และตั้งคำถามถึงการดำเนินธุรกิจในอดีตของเขา โดยกล่าวหาว่าเขากระทำการฉ้อโกง หลีกเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย เศรษฐาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหลายดังกล่าว
เพื่อไทย เลือกเขาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลและแบ่งขั้วการเมือง กลับคืนสู่ประเทศไทยหลังจากลี้ภัยนอกราชอาณาจักรนานร่วม 15 ปี จากคดีความการประพฤติมิชอบขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องการคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางที่ผิด
เหล่านักวิพากษ์วิจารณ์กล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐา ให้การดูแลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นพิเศษ โดยให้ทักษิณพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาหกเดือน หลังจากที่อดีตผู้นำถูกตัดสินจำคุก 8 ปี ในข้อหาคอร์รัปชัน ทักษิณได้รับการพักโทษและมีอิสรภาพในเวลาต่อมา
นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐาไม่สนใจที่จะท้าทายสิทธิพิเศษของกองทัพทหาร และไม่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากนัก
สำหรับบางคน การขึ้นสู่อำนาจของเศรษฐา เป็นเพียงการเสริมความมั่นใจว่ากลุ่มชนชั้นนำยังกุมอำนาจการปกครองในประเทศ ขณะเดียวกันก็ทำลายความฝันของคนไทยหลายล้านคนที่ต้องการรัฐบาลที่ก้าวหน้าและสนับสนุนหลักการประชาธิปไตย หลังจากที่ไทยอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจของทหารและบั่นทอนความมั่นคงทางการเมืองมานานหลายปี
รัฐบาลเศรษฐายังคงใช้มาตรา 112 กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนใช้ปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในการประท้วงในปี 2565 นักเคลื่อนไหวยังกล่าวอีกว่า รัฐบาลเศรษฐาเป็นสาเหตุทำให้พรรคฝ่ายค้านสูญเสียโอกาสและอ่อนแอลง โดยการโถมใช้ระบบกฎหมายดำเนินคดีกับพวกเขาถึงชั้นศาล
เศรษฐามีความกระตือรือร้นในด้านหนึ่ง นั่นคือภาคเศรษฐกิจ
โดยเศรษฐาบอกว่า เขาต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนักวิเคราะห์เสริมว่า เศรษฐาพยายามบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยนโยบายประชานิยม เริ่มโครงการขนาดใหญ่ และเดินทางไปทั่วโลกเพื่อโน้มน้าวต่างประเทศให้เห็นว่าเป้าหมายที่สำคัญสำหรับการลงทุนอยู่ที่ประเทศไทย
แต่ผู้สังเกตการณ์และเจ้าของธุรกิจไทย บางคนกล่าวว่า รัฐบาลเศรษฐาล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ยังฝังลึกอยู่ได้
กลยุทธ์ส่วนหนึ่งในการดำรงตำแหน่งของเขา คือ การโน้มน้าวนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการแจกเงินสดครั้งเดียวคนละ 10,000 บาท (275 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้กับคนไทยที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลเศรษฐาได้ใช้นโยบายประชานิยมที่ทำให้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ได้รับความนิยมมาแล้วเมื่อสองทศวรรษก่อนหน้า ซึ่งนายกเศรษฐา (ในขณะนั้น) หวังว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำของประเทศได้
แต่นักวิเคราะห์บางรายและพรรคฝ่ายค้านของไทยวิพากษ์วิจารณ์แผนการดังกล่าว โดยตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะระดมเงินให้เพียงพอสำหรับโครงการ 5 แสนล้านบาท (13.7 พันล้านดอลลาร์) ได้อย่างไร แผนดังกล่าวแทบจะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ อาจมีผลกระทบทางการเงิน และจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว
เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของประเทศหลังการแพร่ระบาดโควิด เศรษฐาเดินทางไปทั่วโลก เพื่อยกระดับชื่อเสียงของไทยในระดับนานาชาติและกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ
ในเดือนพฤษภาคม เศรษฐาเดินทางเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางการครหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ "ขาย" ประเทศไทยให้กับผู้นำระดับโลกและนักลงทุน ซึ่งการเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเมืองหลวงของฝรั่งเศส เป็นครั้งที่สองในรอบสองเดือน จึงก่อให้เกิดการวิพากษ์ขัดแย้งอย่างหนัก
แต่ในขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสแรก อยู่ที่เพียง 1.5% ตามข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นอกจากนี้ ยังเตือนด้วยว่าเศรษฐกิจอาจซบเซาไปตลอดทั้งปีที่เหลือ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าของจีน
รัฐบาลเศรษฐายังส่งเสริมอีกหนึ่งแผนการโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่
โดยแผนโครงการดังกล่าวกำหนดให้มีการสร้างสะพานข้ามคอคอดกระ พร้อมด้วยท่าเรือทะเลอันทันสมัยที่จุดหมายทั้งสองฝั่งสะพาน ซึ่งจะทำให้ผู้ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีทางลัดระหว่างอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยผ่านช่องแคบมะละกา
ล่าสุด รัฐบาลเศรษฐายังวางแผนที่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท (10.90 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อวัน แต่กลุ่มธุรกิจหลายสิบกลุ่มเตือนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หากแผนดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ โดยกล่าวว่ามันอาจนำไปสู่แรงงานตกงานในวงกว้างและอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น