เศรษฐาขอคนชายแดนใต้ไว้ใจรัฐบาลพร้อมสร้างโอกาสและสันติสุข
2024.02.29
กรุงเทพฯ และปัตตานี
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีขอประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ใจรัฐบาล โดยยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมสร้างโอกาสให้กับประชาชนในพื้นที่ และนำมาซึ่งสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนชายแดนใต้ชี้ รัฐบาลจะเน้นแค่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้
“ผมอยากจะให้พี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไว้ใจรัฐบาลนี้ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มันเคยเกิดขึ้นในอดีต อีกไม่นานก็จะเข้าพิธีรอมฏอนแล้ว 10 วัน ข้างหน้านี้ ก็เป็นพิธีทางศาสนาซึ่งให้เรามีความอดกลั้น เป็นการยกโทษให้กันและกัน เป็นการที่เราต้องเดินไปข้างหน้า” นายเศรษฐา กล่าว
นายกรัฐมนตรีเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, การท่องเที่ยวและกีฬา, ยุติธรรม, วัฒนธรรม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งหน่วยราชการต่าง ๆ
“การที่ผมลงมาที่นี่เอง ครั้งนี้มาอยู่ 2 คืน ก็ถือเป็นนายกรัฐมนตรีในรอบเป็น 10 ปี ที่ไม่ได้มาที่นี่ ก็ถือว่าเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า เราจะนำความเสมอภาค ความเท่าเทียม และโอกาสมาสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเราจะดำเนินการ (พูดคุยฯ) ต่อแน่นอน” นายเศรษฐา ระบุ
กิจกรรมสำคัญในการเยือนจังหวัดปัตตานี ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ คือการไปยังมัสยิดกรือเซะ และมัสยิดกลาง รวมทั้งพบปะคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดยะลา วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พบปะผู้เลี้ยงปลา และเยือนด่านศุลกากรเบตง และจังหวัดนราธิวาส วันที่ 29 กุมภาพันธ์ เข้าร่วมประชุมหารือยกระดับการท่องเที่ยว และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนจะเดินทางกลับ
นายเศรษฐา ระบุว่า การเยือนครั้งนี้เพื่อมุ่งผลักดันการท่องเที่ยว การแก้ปัญหาด่านชายแดนเพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยว และพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ยืนยันที่จะเดินหน้าการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ก่อนการเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนโจมตีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 นาย ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ขณะเดียวกันที่ อ.เจาะไอร้อง พบการพ่นสีสเปรย์บนถนน ข้อความ “เอกราช สันติภาพจงมี ปาตานี”
วันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นในประเทศมาเลเซีย โดยหลังการหารือ ฝ่ายไทยระบุว่า ได้วางแผนปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์
“โดยสรุป ทั้งสองฝ่ายพอใจกับผลของการพูดคุยฯ เป็นอย่างมาก” พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ เปิดเผยหลังการหารือ
เป้าหมายในปี 2567 ของการพูดคุยคือ ทั้งสองฝ่ายรับรอง แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม เป็นแนวทางที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ซึ่งฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1.การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน
ในการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล นายอายุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า รัฐบาลควรมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กว้างกว่าแค่ปัญหาเศรษฐกิจ
“การแก้ปัญหาไม่สามารถจะมองแค่เรื่องเศรษฐกิจได้เพียงอย่างเดียว เพราะต้องมองระดับโครงสร้างที่มีปัญหาถึงจะแก้ปัญหาได้ คิดว่ารัฐบาลต้องดูทั้งการบริหารจัดการปัญหาโครงสร้าง ทุกอย่างสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่แค่ไหน คนอาจจะมองว่า ถ้าปากท้องดีขึ้น ปัญหาจะดีขึ้น เพราะปัญหารากเหง้าถูกซ้อนไว้นาน ปัญหาอื่น ๆ ต้องถูกแก้ไขไปทั้งหมดด้วย” นายอายุบ กล่าว
“ถ้าต้องการที่จะให้การพูดคุยครอบคลุมจริง ๆ ต้องไม่มีเพดานที่จะมาจำกัดกรอบในเรื่องการพูดคุย การสร้างพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะเราต้องสร้างความปลอดภัยให้เกิดให้ได้ หรือมีสถานะการคุ้มครองบางอย่าง ทั้งบนโต๊ะเจรจา หรือคนในพื้นที่ เพราะถ้าพูดเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงแล้ว ถูกดำเนินคดีกระบวนการก็จะไม่เกิด หรือการมีส่วนร่วมจะมีประสิทธิภาพ” นายอายุบ กล่าวเพิ่มเติม
นายอาหามะ อีซอ ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่นายกรัฐมนตรีเดินทางมาในครั้งนี้ทำให้บรรยากาศดีขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
“ตอนนายกอยู่ ทุกอย่างดีหมด รวมถึงด่านตรวจในพื้นที่ด้วย เปิดกว้างสะดวกไม่มีสิ่งขีดขวางทาง ขับรถผ่านไปมาก็สบายตาขึ้น แต่ไม่นานก็ปิดแคบเหมือนเดิม มันจะสงบได้อย่างไร ระแวงขนาดนั้น” นายอาหามะ ระบุ
“นายกฯ ไม่ได้พูดถึงเรื่องปัญหาเลย กิน ชิม อร่อย ชมทุกอย่างดีหมด เหมือนที่นี่ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนที่นี่ปกติทั่วไป แต่ปัญหาก็มี มันควรถูกพูดถึงบ้างให้ชาวบ้านได้รู้ว่า นายกคนแรกที่อยู่พื้นที่นานที่สุดมีแนวทางแก้ปัญหาที่นี่อย่างไร ชาวบ้านก็อยากรู้นะ” กล่าวเพิ่มเติม
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย เฉพาะปี 2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้วจำนวน 11 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย แยกเป็นประชาชน 3 ราย เจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย และมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด จำนวน 18 ราย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน