กลิ่นอายจีนในปัตตานี เทศกาลผสานพหุวัฒนธรรม
2024.03.08
ปัตตานี
ปัตตานี ในสายตาของคนนอกคือ เมืองที่เต็มไปด้วยคนมลายูมุสลิม เป็นจังหวัดหนึ่งในชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เมื่อมองลึกลงไป ที่นี่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ของทั้งชาวไทยมุสลิม ไทยพุทธ และยังมีคนไทยเชื้อสายจีนรวมอยู่ด้วย
ตามประวัติศาสตร์ ชาวจีนอพยพมาอยู่ปัตตานี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นชาวจีนจากเมืองฮกเกี้ยน โล้สำเภามาขึ้นฝั่งที่จังหวัดสงขลา ก่อนจะเห็นช่องทางการทำการค้าที่ปัตตานี บางส่วนจึงโยกย้ายมาตั้งรกราก ทำให้เกิดตลาดจีนขึ้น และขยายตัวรุ่งเรืองอย่างมากในสมัยรัชกาลที่ 5
ถึงปัจจุบัน ปัตตานีจึงมีชุมชนจีนอยู่ถึง 2 แห่งคือ ชุมชนจีนหัวตลาด และชุมชนชิโนโปรตุกีส ถนนฤๅดี
“นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาปัตตานี ทั้งคนมาเลเซีย และคนไทย โดยหากเดินทางโดยเครื่องบินจะมาลงที่สงขลา เพราะใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวมาปัตตานี” นวพร ชัวชมเกตุ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนราธิวาส กล่าว
“ทุกปี ศิษย์ที่ศรัทธาในเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จะกลับมาทำพิธีสมโภชองค์เจ้าแม่ มีการแบกองค์เจ้าแม่ลุยน้ำ-ลุยไฟ งานมักจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์” นวพร ระบุ
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (ศาลเทพเจ้าแห่งความเมตตา) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว คือ สัญลักษณ์ของวัฒนธรรมจีนที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของปัตตานี เนื่องจากเป็นที่เคารพของคนจีนในพื้นที่ และยังมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเดินทางมาสักการะเป็นประจำ
“หลายปีก่อนได้ยินว่า มาอธิษฐานเทพเจ้าที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวแล้วมักจะสำเร็จ ก็เลยมาไหว้ เพื่อให้สุขภาพดี และธุรกิจเจริญรุ่งเรือง แล้วกลับไปบ้านก็สำเร็จตามที่ขอไว้ ทุกปีเลยเดินทางมาไหว้ที่นี่” นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนรายหนึ่งกล่าว
ในทุกปี ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจะจัดงานสมโภชใหญ่ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 มีการอัญเชิญองค์พระต่าง ๆ ราว 30 องค์ ใส่เกี้ยวแห่ไปทั่วเมือง จึงเป็นวาระสำคัญที่ชาวปัตตานีมักกลับมารวมตัวกัน ซึ่งนอกจากพิธีนี้จะมีคนไทยเชื้อสายจีนเข้าร่วมแล้ว ยังมีคนไทยมุสลิมเข้าร่วมด้วย นับเป็นเทศกาลที่สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก