สักยันต์และเครื่องรางของขลัง ความเชื่อจากโบราณกาล

ไสยศาสตร์-เรื่องอำนาจลึกลับ เป็นที่พึ่งทางใจให้คนไทยจำนวนหนึ่ง
วัจนพล ศรีชุมพวง
2023.09.20
ภาคใต้
1-sacred-tattoos.jpg

“ยันต์เก้ายอด” เป็นยันต์ที่มีพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรีและเป็นที่นิยมในหมู่นักรบสมัยโบราณ มักจะสักไว้บริเวณท้ายทอย โดยเชื่อกันว่าผู้ที่สักยันต์เก้ายอดนั้นจะคงกระพันชาตรี ฟันแทงไม่เข้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

4-sacred-tattoos.jpg

นารีผล หรือ มักกะลีผล กล่าวกันว่าเป็นผลไม้ในตำนาน มาจากป่าหิมพานต์อันเร้นลับ หากใครมีไว้ครอบครองจะส่งผลให้การค้าขายเจริญรุ่งเรือง สมหวังในเรื่องความรัก ช่วยเรื่องหน้าที่การงาน ในปัจจุบันจึงมีการทำมักกะลีผลขึ้นมาเป็นเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคล เพื่อบูชาหรือจำหน่าย วันที่ 16 มิถุนายน 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

5-sacred-tattoos.jpg

พิธีกรรมที่เรียกว่าการเชิญครูหมอใน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในโนรา ที่จังหวัดพัทลุง เป็นความเชื่อในการพบปะกันระหว่างโลกคนเป็นและโลกคนตาย วันที่ 25 มิถุนายน 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

7-sacred-tattoos.jpg

ลูกศิษย์รับมอบของขลังที่ทำจากสายสิญจน์และผ่านการปลุกเสกแล้ว สำหรับนำติดตัวเพื่อป้องกันอันตราย วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

8-sacred-tattoos.jpg

ครูหมอในโนราคนหนึ่งในจังหวัดพัทลุง ทำหน้าที่เป็นร่างทรงซึ่งเป็นตัวแทนความเชื่อในการพบปะกันระหว่างโลกคนเป็นและโลกคนตาย ที่สามารถเขียนผ้ายันต์หรือสักยันต์ได้ วันที่ 16 มิถุนายน 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

11-sacred-tattoos.jpg

พระสงฆ์รูปหนึ่งปลุกเสกวัตถุมงคล ก่อนจะถูกนำไปใช้เป็นมวลสารในการทำของขลังหรือพระเครื่องต่อไป วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

12-sacred-tattoos.jpg

อาจารย์คง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์เป็นผู้ผ่านการฝึกฝนจากวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง ขณะทำพิธีกินเหนียวกินมัน ในวันเสาร์ห้า ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้คนที่ได้กินหนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

14-sacred-tattoos.jpg

อาจารย์เหลี้ยม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไสยศาสตร์ เป็นผู้ผ่านการฝึกฝนจากวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง ขณะทำพิธีสักน้ำมันให้แก่ลูกศิษย์ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า แคล้วคลาดจากภัยอันตราย วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

ความเชื่อในเรื่องคาถาอาคมเครื่องรางของขลังมีมาตั้งแต่โบราณ โดยมีปรากฏหลักฐานว่ามีเครื่องรางผ้ายันต์เข้ามาในประเทศไทยจากเขมร เมื่อครั้งก่อนพุทธกาล

เดิมคาถาเหล่านี้จารึกไว้บนผ้าที่เรียกว่า “ผ้ายันต์” และพัฒนามาเป็น “เสื้อยันต์” ซึ่งทหารไทยหลายคนสวมใส่เพื่อป้องกันตัวในสนามรบ โดยมีต้นแบบมาจากขอม ในขณะที่ขอมยังครอบครองดินแดนสุวรรณภูมิ เมื่อประมาณ 1,400 ปีที่แล้ว และยังพัฒนามาเป็นการสักยันต์บนร่างกายจนถึงทุกวันนี้

อักขระและลวดลายที่ใช้สักกันนั้นเป็นแบบอักษรขอมและใช้ภาษาบาลีเป็นส่วนใหญ่ คนไทยเชื่อในอิทธิฤทธิ์ของยันต์ และมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับคนที่ถูกยิงในระยะประชิดแล้วกระสุนไม่ทะลุผิวหนัง หรือในเหตุรถชนกันจนมีผู้อื่นตายอย่างน่าสยดสยอง แต่ผู้สักยันต์กลับไม่ได้รับอันตรายใด ๆ

การสักยันต์ ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความสวยงามหรือเพื่องานศิลปะอย่างการสักทั่วไป แต่มีจุดประสงค์หลักในเรื่องของความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ และจะทำให้มีโชคลาภ โดยมีความเชื่อว่ารูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน ส่วนผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ เช่น ห้ามด่าบิดามารดา ห้ามลบหลู่ครูอาจารย์ เป็นต้น

เครื่องรางของขลังที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยความรู้ในวิชาไสยศาสตร์ มีมากมายหลายชนิด ได้แก่ ตะกรุด พิสมร ผ้าประเจียด แหวนพิรอด ลูกประคำ เชือกคาด เป็นต้น

ปกติสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องนอกคำสอนของศาสนาพุทธ ถูกจัดอยู่ในประเภทไสยศาสตร์และเป็นที่นิยมกันมาแต่โบราณด้วยคิดว่าพลังหรืออำนาจนั้นมาจากพุทธคุณ

เมื่อมนุษย์เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง ไสยศาสตร์เรื่องอำนาจลึกลับจึงกลายเป็นที่พึ่งเพื่อหวังให้ได้สิ่งของต้องประสงค์ ที่ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขทางใจอย่างหนึ่ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง