บาดแผลและความหวัง : ชีวิตหมอจระเข้ในยุคเศรษฐกิจซบเซา
2024.09.19
สมุทรปราการ
เสียงเพลง "Final Countdown" ของวง Europe ดังก้องสนามแสดง ก่อนที่ม่านจะเปิดออก เผยให้เห็น "หมอจระเข้" ในชุดคล้ายตัวละครไกรทอง พร้อมเริ่มการแสดงที่ทั้งตื่นเต้นและอันตราย
ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ สถานที่ท่องเที่ยวที่เปิดให้บริการมากว่า 70 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2493 โชว์จระเข้ยังคงเป็นไฮไลต์สำคัญ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะซบเซา การจับจ่ายใช้สอยของผู้คนและจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงก็ตาม
สมภพ ราษฎร์ดี หรือแม็ก อายุ 36 ปี คือหนึ่งในหมอจระเข้ประจำฟาร์มแห่งนี้ เล่าว่าเกิดและเติบโตที่นี่ เขาผูกพันกับจระเข้มาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่ทำงานเลี้ยงจระเข้ที่นี่
แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตราย เขากลับมองเรื่องนี้อย่างเรียบเฉย และเล่าให้เบนาร์นิวส์ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ
"สถิติโดนกัดเหรอครับ อยู่นี่ก็ห้าหกปี โดนทีเดียว บางทีก็เจ็ดปีโดนที ไม่บ่อยครับ" แม็กกล่าว
โดยหากเกิดอุบัติเหตุต้องพึ่งพาค่ารักษาที่ทางฟาร์มออกให้ แต่ด้วยความรักและความผูกพันในตัวจระเข้ แม็กและเพื่อนร่วมงานก็ยังคงยืนหยัดในอาชีพนี้
ในแต่ละวัน หมอจระเข้ต้องแสดงหกรอบในวันธรรมดา และเก้ารอบในวันเสาร์อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แม้จำนวนผู้ชมจะลดลงในภาวะเศรษฐกิจซบเซา พวกเขาก็ยังคงทุ่มเทให้กับการแสดงอย่างเต็มที่
“จากความคุ้นชินก็กลายมาเป็นความชื่นชอบที่ทำให้ตัดสินใจฝึกฝนเพื่อเป็นหมอจระเข้ โดยเริ่มต้นจากการล้างบ่อ ให้อาหาร หลังจากคุ้นชินกับพฤติกรรมของจระเข้แล้ว จึงได้สำเร็จวิชาเป็นหมอจระเข้ร่วมกับพี่น้องเพื่อนร่วมอาชีพเป็นห้าคน โดยมีรายได้อยู่ที่ 13,000 บาท” แม็ก เล่าถึงสภาวะที่ยากลำบากในช่วงนี้
ในยามที่เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทาย การท่องเที่ยวซบเซา ฟาร์มจระเข้แห่งนี้ก็ได้รับผลกระทบ แต่พวกเขายังคงรักษาคุณภาพการแสดงไว้ หวังว่าจะดึงดูดผู้ชมให้กลับมาเยี่ยมชมอีกครั้ง
โชว์จระเข้ไม่เพียงเป็นความบันเทิง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่สืบทอดมายาวนาน แม้จะมีรอยแผลจากการทำงาน แต่สำหรับแม็กและเพื่อนร่วมงาน การอนุรักษ์วัฒนธรรมนี้ คือแรงบันดาลใจให้พวกเขายังคงยืนหยัดในอาชีพที่เสี่ยงอันตรายนี้