โนรา : ลมหายใจแห่งศิลปวัฒนธรรมไทยระดับมรดกโลก
2022.10.05
พัทลุง

องค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติ ประกาศขึ้นทะเบียน มโนราห์ หรือโนรา การแสดงร่ายรำและขับร้องบทกลอนแขนงของภาคใต้ ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในปี 2564 ต่อจากโขน เมื่อปี 2561 และนวดไทย ปี 2562 ทำให้หลังจากนั้น ผู้คนเกิดความสนใจในการละเล่นของภาคใต้แบบนี้กันมากขึ้น และมีการเดินสายออกแสดงในภาคอื่น ๆ
ศิลปินในภาคใต้ ยังคงสืบทอดการแสดงที่ทรงคุณค่านี้ไว้ให้ลูกหลานได้รับชมการแสดงที่มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ มีการกล่าวคำกลอนประกอบเสียงปี่และเสียงกลองที่มีท่วงทำนองปลุกเร้าเป็นจังหวะให้เกิดความสนุกสนาน
ความสำคัญทางสังคมอีกประการคือ ความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรม ระหว่างโนราและคนภาคใต้ เกี่ยวข้องกันอย่างแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะเรื่องของชีวิตและความตาย โดยมักจะพบว่า ภายในบ้านคนไทยทางภาคใต้จะมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษแยกออกมาอย่างชัดเจน ที่ไม่ใช่หิ้งพระ ภาษาใต้เรียกกันว่า หิ้งครูหมอหรือหิ้งตายาย โดยจะเก็บของสำคัญ เช่น เถ้ากระดูก สิ่งมงคล และอัปมงคลก็มี เพื่อรอทำพิธีต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ชาวบ้านมักจะกราบไหว้บูชาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในวันสารทเดือนสิบ หรือมากกว่านั้น เมื่อมีการจัด 'โนราโรงครู' ในบ้าน
วัดท่าแค จังหวัดพัทลุง คือ สถานที่หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับโนรา โดยได้จัดให้มี “มโนราห์โรงครู” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และเปิดให้ชาวบ้านในพื้นที่หรือจังหวัดใกล้เคียง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวเข้าร่วมพิธีกรรมดังกล่าว โดยหวังว่าการจัดงานอย่างต่อเนื่องจะเป็นอีกหนทางในการรักษาไว้ซึ่งรากเหง้าดั้งเดิมแห่งวัฒนธรรมประจำภาคใต้ ส่งต่อพิธีกรรมรุ่นสู่รุ่นต่อไป
“ผมภูมิใจในความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขมโนราห์ของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ทำสวน ก็มีอาชีพมโนราห์ แสดงมหรสพบ้าง โนราโรงครูบ้าง ก็เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนและครอบครัวได้ แต่หลังจากมโนราห์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ทำให้ผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ ของไทย สนใจในมโนราห์ของภาคใต้มากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ ได้รับว่าจ้างให้ไปแสดงโนรามากขึ้น โดยเฉพาะงานแสดงทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคกลาง และผู้คนยังให้เกียรติกับผมเป็นอย่างมากเมื่อรู้ว่าเป็นศิลปินมโนราห์” มโนราห์สุวิทย์ หอมกลิ่น หนึ่งในมโนราห์ราชครู และเจ้าของคณะโนราตั้งแต่อายุน้อย กล่าว
ในการแสดงมโนราห์มหรสพ โนรามักหยอกล้อกับคนดูเสมอ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
มโนราห์ผู้หญิง หลังเวทีระหว่างรอทำการแสดง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 13 สิงหาคม 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ปัจจุบัน มโนราห์เดินสายแสดงไปตามยุคสมัยซึ่งถือว่าทำได้ เป็นการเผยแพร่โนราให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 10 กรกฎาคม 2565 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
มโนราห์ราชครู ถ่ายภาพหมู่หลังประกอบพิธีโนราโรงครู อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 27 ตุลาคม 2562 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ครูนาฎศิลป์สอนรำมโนราห์ ให้แก่นักเรียน วิทยาลัยนาฏศิลป์นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 3 พฤษภาคม 2561 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
พิธีเหยียบเสน โดยมโนราห์ใช้เท้าเหยียบลงบนปาน หรือรอยต่าง ๆ บนร่างกาย เพื่อให้ปานหรือรอยนั้นค่อย ๆ หายไปหลังผ่านพิธีกรรม อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
พิธีกรรมมโนราห์โรงครู วัดท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
มโนราห์ครอบหน้ากากพราน ในพิธีแก้บนให้แก่ชาวบ้าน ในงานมโนราห์โรงครู อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 3 ตุลาคม 2562 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
มโนราห์ราชครู ระหว่างรำประกอบพิธีโนราโรงครู อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง วันที่ 27 ตุลาคม 2562 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)