“ลุงบู้” ผู้สร้างสังคมต้านยาเสพติดชุมชนกองขยะหนองแขม
2023.10.24
กรุงเทพฯ
ในสังคมไทยที่มียาเสพติดแพร่ระบาดแทบทุกหัวระแหง “ลุงบู้” บรรจง แซ่อึ๊ง ประธานชุมชน ได้พลิกกองขยะหนองแขมเพื่อใช้เป็นแหล่งทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย ที่ส่วนหนึ่งติดยาเสพติดให้โทษ และประสานการชี้แนะแนวทางให้กับครอบครัวในชุมชน ที่มีเด็กติดยาประมาณ 40 คน
ชุมชนกองขยะหนองแขม เป็นที่อยู่ของภูเขาขยะที่กรุงเทพฯ ทิ้งไว้ คือสถานที่ที่ “ลุงบู้” แปลงเป็นแหล่งที่มาของรายได้ให้กับชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและการติดยาเสพติดของเยาวชน ที่ซึ่งชาวบ้านในชุมชนได้ทำการคัดแยกขยะที่มีคุณค่า เพื่อไปจำหน่ายสร้างรายได้
ลุงบู้ จัดการปัญหายาเสพติดภายใต้แนวคิด ‘ลดความรุนแรงจากยาเสพติด (Harm Reduction)’ ที่เชื่อว่า เราไม่สามารถกำจัดยาเสพติดให้หมดไปจากโลกใบนี้ได้ แต่เราสามารถควบคุมและจำกัดผลกระทบของมันได้ เช่น ลดอัตราโอเวอร์โดสของผู้ใช้ยา หรือลดคดีอาญาอื่น ๆ ที่อาจเกิดตามมาจากการใช้ยาเสพติด
ลุงบู้ ประธานชุมชุน ที่มีสมาชิกราว 650 คน ร่วมมือกับเครือข่ายสหวิชาชีพ เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่อนามัย นักจิตวิทยา และอีกหลายหน่วยงาน ที่ได้ช่วยกันหาทางเพื่อรักษาผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งได้ติดต่อไปทางโรงพยาบาลธัญญารักษ์ เพื่อส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาให้ห่างจากสภาพแวดล้อมในชุมชน
“เราต้องน้อมรับความผิดพลาด เช่น พาเขาไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มียาเสพติด และเราต้องเข้าใจเขา เชื่อใจกัน ให้โอกาสเขาซ้ำ ๆ มีมาตรการทำกลุ่มพูดพ่อแม่ของผู้ติดยา ไม่ตำหนิและทอดทิ้ง เพราะยิ่งทำแบบนั้นมันยิ่งเป็นเพิ่มปัญหา เพราะเขาจะไม่มีทางออกและจมอยู่กับสิ่งเดิมต่อไป เช่นการติดยา สุดท้ายการที่เขาจะเลิกไม่เลิกขึ้นกับจิตใจเขาเอง” ลุงบู้ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“บทเรียนยาเสพติดที่แพงที่สุดคือการซื้อด้วยชีวิต แต่ถ้าเขายังอยู่เราดูแลเขา และทำให้เขาเลิกยาเสพติดใช้ชีวิตอยู่กับเราได้ถือว่ามีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตเขา ทำความดีเพื่อแลกกับสิ่งที่เราต้องการ”
ในปี 2565 มีผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทั้งหมด 120,915 คน เป็นผู้ชาย 106,709 คน และหญิง 14,206 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี และอีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มอายุมากกว่า 39 ปี ตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข
การใช้ยาเสพติดนั้นมีสาเหตุความจำเป็นที่หลากหลาย เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาในครอบครัว และการชักจูงของเพื่อน เป็นต้น ในปัจจุบัน มีความพยายามเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ใช้ยาเสพติด โดยค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่การมองว่าผู้ติดยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา เยียวยา มากกว่าเป็น “ผู้ร้าย” ของสังคม
การรักษาจะกระทำอย่างบูรณาการ โดยในระยะเริ่มต้น จะรักษาแบบการถอนพิษยาและสร้างความเสถียรภาพ จนถึงการติดตามผลการรักษาและการคืนผู้ป่วยสู่สังคม รวมถึงการบำบัดด้วยยาอย่างต่อเนื่อง
ไพเลาะ ชาวชุมชนที่ลูกคนหนึ่งติดยาบ้า ส่วนอีกคนติดเฮโรอีน กล่าวว่า ตนดีใจที่ลูกชายยินยอมรักษาการติดยาเสพติด โดยคนหนึ่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ และอีกคนบวชเรียน และขอรับการรักษาจากชุมชน
“สบายใจ และอยากให้เด็ก ๆ ในชุมชนเลิกให้หมด พอเห็นลูกคนอื่นติด ก็อยากให้เข้าโครงการและเลิกให้ได้เหมือนลูกของเรา ที่สำคัญเลยเราจะไม่ต้องทอดทิ้งคนที่เรารัก ต้องอยู่เคียงข้างเขาเสมอ เมื่อเขาเห็นว่ายังอยู่กับเขาตลอด ไม่ว่าจะแย่แค่ไหน และถ้าเขาพร้อมจะเลิกเขาจะบอกเราเอง ดีใจที่เขาอยากเลิกมันเหมือนกับการยกภูเขาออกจากอก และลูกเราจะไม่ต้องตายด้วยยาเสพติด” นางไพเลาะ กล่าว