ทะเลใต้กับหายนะที่กำลังคืบคลาน
2024.01.22
ตรัง
นับตั้งแต่ปี 2563 ทะเลบริเวณใกล้เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดสตูล เกิดปรากฏการณ์หญ้าทะเลเน่าตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ จากแต่เดิมพื้นที่ดังกล่าว อุดมไปด้วยหญ้าทะเลหลายชนิด สร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น
“ถ้าป่าโกงกางคือ หัวใจ หญ้าทะเลคือ ปอด ระบบนิเวศไม่สามารถขาดสิ่งใดได้ เพราะงานวิจัยระบุว่า ป่าชายเลนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 10 เท่า ในขณะที่หญ้าทะเลกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า” ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ และนักอนุรักษ์ ระบุ
นอกจากทำหน้าที่ฟอกอากาศแล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กัน หญ้าทะเลยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของปลา กุ้ง หอย และปู เช่นเดียวกับ เต่าทะเล และพะยูน ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลถึงชาวบ้านในท้องถิ่น
“หญ้าพะยูนลดลง ยืนต้นตายส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ปลา ลดลง เมื่อก่อนชาวบ้านเก็บหอยชักตีนไปขายได้เงิน 100-300 บาทต่อวัน ทุกวันนี้ เหลือแต่หอยตัวเล็ก ๆ ชาวบ้านก็ขาดรายได้ เพราะสัตว์น้ำเริ่มหายไป หลังจากหญ้าทะเลเริ่มตาย” นางรมิดา สารสิทธิ์ ชาวบ้านในพื้นที่เกาะลิบง กล่าว
สมาคมทะเลไทย เปิดเผยเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่า สาเหตุที่ทำให้ทรัพยากรทางทะเลของพื้นที่ภาคใต้ลดลงมาจากการใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทำลายสัตว์น้ำตัวอ่อน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ขณะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยในปี 2561 ว่า จากการสำรวจพื้นที่ใกล้เกาะลิบง พบโลมา 19 ตัว เต่าทะเล 57 ตัว และพะยูน 169 ตัว