ทะเลสาบสงขลา ว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย
2024.04.15
สงขลา
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ทะเลสาบสงขลา เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยเพียงแห่งเดียวของประเทศ และเป็นเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีการตั้งถิ่นฐานโดยรอบทะเลสาบ ทำให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ ของชุมชนโดยรอบ
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบสามน้ำ น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเขต จ.สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เกิดขึ้นจากการไหลรวมกันของลำคลองเล็ก ๆ และมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย ทำให้ระบบนิเวศน์โดยรอบที่หลากหลายเป็นที่อยู่อาศัย และที่หากินของสัตว์นานาชนิด
กรมประมง ระบุว่า ทะเลสาบแห่งนี้อุดมไปด้วยกุ้งและปลามากมายกว่า 700 พันธุ์ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถทำอาชีพประมงพื้นบ้านได้ นอกจากนั้น ยังมีนกกว่า 200 ชนิด อาศัยและหากินอยู่โดยรอบทะเลสาบ
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้นำเสนอ “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” (Songkhla and its Associated Lagoon Settlements) เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก (ยูเนสโก) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567
“ทะเลสาบสงขลาถือเป็นทะเลสาบแบบลากูน (lagoon) กล่าวคือ เป็นทะเลสาบน้ำกร่อยตามธรรมชาติที่อยู่บริเวณชายฝั่งและเปิดเชื่อมต่อสู่ทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศธรรมชาติที่มีความหลากหลายซับซ้อน และก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม” น.ส. เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
แม้จะยังอุดมสมบูรณ์อยู่ แต่หากเทียบกับในอดีต ทะเลสาบสงขลาในปัจจุบัน มีความตื้นเขินขึ้น จากการทับถมของตะกอนจากพื้นที่ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ตะกอนจากทะเล และตะกอนจากซากพืชซากสัตว์ ทั้งยังมีเกษตรกรผู้เลี้ยงควายประมาณ 17 กลุ่ม เลี้ยงควายจำนวนเกือบ 5,000 ตัว ใน จ.พัทลุง และสงขลา ตามข้อมูลของมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย
ขณะที่ การทำประมงโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมายก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายธรรมชาติโดยรอบ และสิ่งมีชีวิตในทะเลสาบแห่งนี้เช่นกัน ดังนั้นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจึงเป็นความหวังหนึ่งในการอนุรักษ์ที่แห่งนี้
“การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมสงขลาฯ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ เช่น กระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และความหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา และส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับประเทศ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีมรดกโลกทางวัฒนธรรม 4 แห่งประกอบด้วย เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จ.สุโขทัย, นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา, แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี, และ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์