จากรัฐกะเหรี่ยงถึงระยอง : หนีสงครามมาสู้กับงานไกลบ้าน
2024.11.19
ระยอง
ป่าน นัย เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง มาร่วม 10 ปี ก่อนหน้านี้ เขาหนีสงครามในเมียนมามาอยู่ที่ค่ายผู้อพยพบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ก่อนเดินทางมาเป็นคนงานในโรงงานผลิตพลาสติกที่ จ.ระยอง
“มาทำงานอยู่ไทย ดีกว่าไปอยู่ในสงคราม อยู่นี่มีรายได้แน่นอน ลูกพี่ทำประกันสังคมให้ บางวันทำโอทีได้เงินเยอะ วันต่อไปเราก็หยุดพักผ่อน ได้พาพ่อจากศูนย์ผู้อพยพมาอยู่ด้วย ดูแลกันไป แบบนี้เรามีความสุขกว่าไปอยู่ที่ที่เขาสู้กัน สู้กับงานดีกว่า สู้กับปืนกับระเบิด” ป่าน นัย กล่าว
ป่าน นัย ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นส่วนพลาสติกของรถจักรยานยนต์ เขามีนายจ้างเป็นชาวไทย และมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับแรงงานข้ามชาติ
ด้วยความที่เป็นแรงงานฝีมือ ทำให้เขาและเพื่อน ๆ มีรายได้ที่มากกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับพื้นที่จังหวัดระยอง อยู่พอสมควร โดยได้รับ 363 บาทต่อวัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาได้ทำงานล่วงเวลาในแต่ละวันมากน้อยเพียงใดด้วย
กะเหรี่ยง คือ กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในฝั่งตะวันออกและใต้ของเมียนมา ติดกับพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกของไทย ในยุคอาณานิคม รัฐบาลอังกฤษว่าจ้างชาวกะเหรี่ยงให้ร่วมสู้รบกับราชสำนักพม่า รวมทั้งสู้กับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อพม่าได้เอกราชจากอังกฤษ ในปี 2491 กะเหรี่ยงเองก็เรียกร้องเอกราชของตัวเองเช่นกัน โดยมีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Liberation Army - KNLA) ทำการสู้รบเพื่อเอกราช กับกองทัพเมียนมา รวมถึงสู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยต่าง ๆ ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี
“เราอยากมีความเป็นอยู่ที่ดี เราเลยย้ายมาที่นี่ พอเราคุ้นเคย รู้ทุกซอกทุกมุมของที่นี่ เราก็ชวนให้พี่น้อง เพื่อนฝูง ญาติของเราที่เขาอยากทำงานมาทำงานกับเราที่นี่ ถึงตอนนี้ก็มีย้ายมาอยู่รวม ๆ กัน 20 คนได้แล้ว” ป่าน นัย บอก
ปัจจุบัน ป่าน นัย เพื่อน และญาติพี่น้องของเขา อาศัยอยู่ในห้องเช่าราคาถูกที่ตั้งเรียงเป็นแถวในชุมชนไม่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรม หลายห้องมีขนาดเพียง 9 ตร.ม. แต่ต้องอาศัยอยู่รวมกันถึง 4 คน แม้จะคับแคบ แต่พวกเขาก็ยังยอมรับว่า มีความสุขกว่าอยู่แบบเสี่ยงภัยในบ้านเกิด
“มีความสุขดีที่นี่ เพราะนอกที่พักมีลานดินพอให้ได้เล่นตะกร้อ หรือนั่งดูโทรศัพท์ได้บ้าง ถ้าผมว่างผมก็ไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ตอนนี้ผมกำลังเก็บเงินอยู่ เพราะปีใหม่จะกลับไปหาครอบครัวที่ชายแดนตาก ลูกกับเมียของผมเขายังอยู่ตรงชายแดน” อามา ชาวกะเหรี่ยงอีกคนกล่าว
อามา เป็นคนกะเหรี่ยงอีกคนที่ตัดสินใจหนีสงครามมาอยู่ในระยองเพื่อมาหางาน เขาเป็นหนึ่งในคนกะเหรี่ยงร่วม 20 ชีวิต ที่อยู่ในการดูแล และได้รับการชักชวนจากป่าน นัย แต่ละวันเขาคลายความคิดถึงครอบครัวด้วยการพูดคุย และดูรูปผ่านโทรศัพท์มือถือ
นอกจากชาวกะเหรี่ยงแล้ว ชุมชนห้องเช่าที่ป่าน นัย กับอามา อยู่ก็ยังมีคนไทยอาศัยร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย บ้างเล่นกีฬาร่วมกัน แบ่งปันอาหาร รวมถึงเครื่องดื่ม ในบางครั้งก็ยังทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การดูมวย โดยมีลุงสมเดช อดีตเจ้าของค่ายมวยจากบุรีรัมย์ ที่มักจะยกโทรทัศน์ของตัวเองออกมาตั้งหน้าบ้านเพื่อให้เพื่อนร่วมชุมชนมาเชียร์มวยด้วยกัน
หลังจากกองทัพเมียนมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดย อองซาน ซูจี ในปี 2564 กะเหรี่ยงก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ร่วมต่อสู้กับกองทัพเมียนมาเช่นเดียวกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ สำหรับชาวกะเหรี่ยง คล้ายว่าพวกเขากำลังต่อสู้ในสงครามที่ไม่รู้จบ นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจทิ้งบ้านเกิด มาแสวงโชคในดินแดนอันห่างไกล
รอยสักที่ขา (เก่อเย่า) ของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งไม่ใช่เป็นการสักเพื่อความขลัง แต่เชื่อว่าชายชาวกะเหรี่ยงจะสักเพื่อเป็นคนทดแทนพระคุณแม่ และลายสักจะมีผู้สืบต่อไปเรื่อย ๆ ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
แรงงานชาวกะเหรี่ยง ขณะเดินทางไปทำงานในตอนเช้า ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ชาวกะเหรี่ยงและเพื่อนร่วมงานชาวอีสาน เล่นตะกร้อร่วมกันโดยมีเงินเดิมพัน ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
สภาพห้องเช่าราคาเดือนละ 1000 บาท ของชาวกะเหรี่ยง ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ชาวกะเหรี่ยงหลังอาบน้ำ เพื่อเตรียมตัวพักผ่อน ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ชาวกะเหรี่ยงโชว์ภาพถ่ายลูกชายของตัวเองที่ยังอาศัยอยู่ที่ประเทศต้นทาง ที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง วันที่ 11 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)
ป่าน นัย กับเพื่อน นั่งมองท้องทะเลโดยมีฉากหลังเป็นสถานที่ทำงาน ในช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อให้หายคิดถึงบ้าน ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง วันที่ 12 ตุลาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)