ไหว้บรรพบุรุษรับตรุษจีน 2567 หลังเยาวราชฟื้นคืนชีพ
2024.02.09
กรุงเทพฯ
ปัญหาความซบเซาของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ 3-4 ปีที่ผ่านมา เทศกาลตรุษจีนเยาวราชเงียบเหงาผิดปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านพ้นวิกฤต ในปี 2567 นี้เยาวราชกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ประเพณีไหว้บรรพบุรุษ และความขวักไขว่ของนักท่องเที่ยว
“ไหว้ที่โรงเจกับบ้านนั้นไม่เหมือนกัน ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน แต่อย่างน้อยที่สุด มันเป็นเทศกาลที่ทำให้พี่น้องได้มาเจอกัน การไหว้ที่โรงเจ ทำให้ได้มาเจอกันที่นี่ปีละครั้ง เพราะถ้าไหว้ที่บ้านก็ต่างคนต่างไหว้ บางครอบครัวก็กินข้าวที่นี่ นับเป็นการกินข้าวร่วมกัน พบปะสังสรรค์กัน รวมญาติกัน” ชุมพร แซ่จิว ผู้ดูแลโรงเจบุญสมาคม กล่าว
ในเทศกาลปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีน บนถนนเยาวราช และตรอกซอยใกล้เคียง ถูกประดับประดาไปด้วยสีแดง ที่ชาวจีนเชื่อว่าหมายถึง ความกล้าหาญ และกล้าเผชิญหน้า และสีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานหรือกิจการ มังกร หรือสิงโต ซึ่งคนจีนนับเป็นสัตว์นำโชคก็ถูกนำมาประดับประดาเช่นกัน
การไหว้บรรพบุรุษ ปัจจุบันมีทั้งแบบประยุกต์ ซึ่งปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย และแบบดั้งเดิมที่ยึดตามการปฏิบัติสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ส่วนขนาดความใหญ่เล็กของอาหารคาวหวาน ก็ขึ้นอยู่กับทุนทรัพย์ ศรัทธา และขนาดของแต่ละครอบครัว
“ผมนี่ชอบไหว้ตามขนบธรรมประเพณีเป๊ะ ๆ ตามที่บรรพบุรุษผมไหว้มา ผมก็จะจัดตามแบบนั้น เดี๋ยวนี้มันง่ายขึ้นแล้วเพราะเขาจะจัดเป็นเซ็ตไหว้เจ้าขายเลย หรือถ้าเอาสะดวก เดี๋ยวนี้ก็มีบริการ ผมใช้เดลิเวอร์รี เขาทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีทุกอย่าง เพราะมีทีมงานที่มีความรู้ด้านนี้” ธีพร วีระจิตเอกชัย อายุ 37 ปี กล่าว
รศ.ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปี 2567 คาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีเงินสะพัดกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท หรือสูงขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะว่าในช่วงเทศกาลจะมีเดินทางเข้ามาเฉลี่ย 8 แสนคนต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเพียงการเริ่มฟื้นตัวจากช่วงการระบาดของโควิด-19 เพราะช่วงก่อนโควิด-19 มีเงินสะพัดช่วงตรุษจีน ถึงประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
ชุมชนเยาวราช คือ แหล่งที่อยู่อาศัย และร้านค้าของชาวจีนอพยพในอดีต มีอาณาเขตตั้งแต่คลองโอ่งอางจรดคลองผดุงกรุงเกษม หลังจากที่ไทยลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ เริ่มทำการซื้อขายสินค้าจากประเทศตะวันตกมากขึ้น เยาวราชถูกใช้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของกรุงเทพฯ
กระทั่งมีการก่อสร้างถนนยุพราช ในปี 2435 หรือตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใช้เวลาถึง 8 ปี ถนนความยาว 1.4 กิโลเมตรเส้นนี้จึงสำเร็จ ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามถนนแห่งนี้ใหม่ว่า “ถนนเยาวราช” และนับแต่นั้นมา มันได้กลายเป็นถนนเส้นสำคัญที่เชื่อมชุมชนชาวจีนแห่งนี้เข้ากับกรุงเทพฯ ที่ยังคงถูกใช้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน