อุทยานแห่งชาติภูกระดึง : ควรมีกระเช้าขึ้นเขาไหม
2024.02.26
จังหวัดเลย
โครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถูกนำเสนอต่อสังคมไทยมาแล้วร่วม 30 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จนถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเสียงของหลายฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันว่า “ควรหรือไม่ควรสร้าง”
ข้อถกเถียงมีหลากหลายประเด็น ฝ่ายที่เห็นว่าควรสร้างชี้ว่า การสร้างกระเช้าจะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว สามารถเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว และช่วยให้คนสูงอายุ เด็ก หรือคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงสามารถได้เที่ยวชมบรรยากาศบนยอดภูกระดึงได้
ส่วนฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรสร้างโต้ว่า การสร้างกระเช้าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสร้างขยะมากเกินไป โครงการก่อสร้างอาจกระทบธรรมชาติ บดบังทิวทัศน์ ทำลายอาชีพลูกหาบท้องถิ่นที่รับจ้างแบกสัมภาระ หรือแม้กระทั่งทำให้ภูกระดึงขาดเสน่ห์แบบดั้งเดิม
“ส่วนตัวแล้วก็ไม่เห็นด้วย ถ้ากระเช้าเกิดขึ้นมา ก็อาจจะทำให้ภูกระดึงนั้นเสียมนต์เสน่ห์ไปไม่เหมือนเดิมอีก หากมีกระเช้าบรรยากาศที่นักท่องเที่ยวจะเดินขึ้นเพื่อสัมผัสธรรมชาติระหว่างทางคงจะมีน้อยลง ส่วนตัวไม่หวังร่ำรวยอะไรนะ แค่อยากให้คงสภาพนี้เพื่อให้ลูกหลานได้เดิน เพราะทุกวันนี้คนไทยแทบจะเดินไม่เป็นแล้ว” ลำพา ศรีอ่อน แม่ค้าที่ค้าขายในเขตภูกระดึงมาร่วม 25 ปี กล่าว
ภูกระดึง เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ครอบคลุมเนื้อที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ใน ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี 2486 ก่อนจะยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2502 ปัจจุบัน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนปีละประมาณ 5 หมื่นคน
การขึ้นภูกระดึงสามารถทำได้ด้วยวิธีเดียวคือ การเดินเท้าจากที่ทำการอุทยาน ที่ตั้งอยู่ตีนภูไปยังหลังแปหรือส่วนยอดตัดของภู ซึ่งเป็นจุดพักแรมระยะทาง 5 กิโลเมตร แม้เป็นระยะทางที่ไม่ไกลมากนักหากเป็นพื้นราบ แต่ด้วยความสูงเกือบ 1300 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนถอดใจ หรือต้องล้มเลิกความตั้งใจกลางทาง แม้จะสามารถจ้างลูกหาบช่วยขนสัมภาระได้ก็ตาม
“ผมสนับสนุนให้สร้างกระเช้าไฟฟ้านะ เพราะเป็นทางเลือกให้กับคนหลาย ๆ กลุ่ม ไม่ได้ห่วงว่าจะกระทบอาชีพลูกหาบ เพราะพวกผมสามารถไปทำอาชีพอื่นได้ อาจสามารถมีอาชีพที่ดีกว่าในอนาคตก็ได้ เพราะผมก็ไม่รู้ว่าจะแบกไปได้อีกสักกี่ปี” ชาญชัย สายแวว ลูกหาบวัย 48 ปี ซึ่งหาบสัมภาระนักเดินทางมากว่า 6 ปี กล่าว
ปัจจุบัน โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงได้รับการอนุมัติในหลักการ โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนธันวาคม 2566 พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าโครงการนี้เป็นความต้องการของพื้นที่เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและจังหวัด โดยรัฐบาลจะระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ส่วนจะสามารถสร้างได้จริงและแล้วเสร็จในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
“เมื่อก่อนขึ้นภูกระดึงไม่ได้สะดวกเท่าปัจจุบัน แต่คนก็มากันคึกคัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ถามกันตลอดทางว่าไหวไหม สู้ ๆ ให้กำลังใจกัน ปัจจุบันมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า ร้านค้าเยอะขึ้น ทางเดินดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้คึกคักกว่าเมื่อก่อน ถ้ามีกระเช้ามันก็คงดีกับคนที่เดินไม่ไหว แต่ก็มีสิ่งที่เสียไปคือสภาพแวดล้อม คงต้องมาคิดเยอะ ๆ ว่ามันคุ้มไหมกับการก่อสร้างนี้” อาคม กำเนิดเพ็ชร นักท่องเที่ยว อายุ 50 ปี เผยความรู้สึกเมื่อได้กลับมาภูกระดึงอีกครั้ง หลังจากห่างหายไป 25 ปี