เดือนรอมฎอนของมุสลิมพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ
2024.04.08
กรุงเทพฯ
ศาสนาอิสลามมีการเผยแพร่ผ่านพม่า จีน และมาเลเซีย เข้ามาในดินแดนด้ามขวานแห่งนี้ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บางบันทึกระบุว่า ชาวมุสลิมกลุ่มแรก ๆ ที่เรียกกันว่า “แขกจาม” กระจายตัวตั้งรกรากอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย กระทั่งมีบทบาทสำคัญในสงครามยุทธหัตถี สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ปัจจุบัน กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ประเทศไทยมีชาวมุสลิมกว่า 3.6 ล้านคน หรือ 5.48 % ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากชาวมุสลิมเชื้อสายไทยแล้ว ยังมีชาวมุสลิมพลัดถิ่นจากหลายประเทศ เช่น ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เป็นต้น
ในกรุงเทพฯ ย่านเจริญกรุง-บางรัก นับเป็นย่านที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุดย่านหนึ่ง และแม้เขาเหล่านั้นจะมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่มีศรัทธาที่เหมือนกัน มัสยิดจึงกลายเป็นศูนย์กลางของความศรัทธา
“พ่อและแม่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2513 เริ่มต้นทำธุรกิจจนส่งต่อมาถึงรุ่นผม ปัจจุบันอยู่ในไทยจนชิน ไม่รู้สึกแตกต่าง ไม่รู้สึกแปลกแยก เดือนรอมฎอนทุกปี ผมก็ปฏิบัติศาสนกิจ ถือศีลอด ไม่ต่างจากชาวไทยมุสลิม หรือมุสลิมทั่วโลก” ฮาซิม ราชา อามีน เจ้าของร้านจิวเวลรี เชื้อสายทมิฬ-อินเดีย กล่าว
ในปี 2567 การวันเริ่มถือศีลอด หรือวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม ตามการประกาศของ นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี โดยในช่วงเดือนนี้ชาวมุสลิมจะละหมาด ละเว้นการกิน ดื่ม และสูบบุหรี่ ช่วงกลางวัน
มัสยิดฮารูณ แต่เดิมเป็นมัสยิดไม้ถูกเรียกว่า มัสยิดวัดม่วงแค ก่อสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กระทั่ง ปี 2411 มีการบูรณะเปลี่ยนเป็นมัสยิดปูน และจดทะเบียนโดยใช้ชื่อ ฮารูณ ตามชื่อโต๊ะอิหม่ามชาวชวาเชื้อสายเยเมน ซึ่งเป็นผู้นำก่อสร้างมัสยิด
เนื่องจากตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง ซึ่งเต็มไปด้วยคนหลากชาติพันธุ์ ทำให้ในเดือนรอมฎอน มัสยิดฮารูณแห่งนี้มักเต็มไปด้วยชาวมุสลิมพลัดถิ่นที่เข้ามาร่วมประกอบศาสนกิจ รวมถึงการอิฟฏอร (ละศีลอด) หรือรับประทานอาหารมื้อค่ำ ในช่วงเดือนถือศีลอดนั่นเอง
“ชาวมุสลิมทมิฬ-อินเดีย ตั้งรกรากทำธุรกิจในไทยมา 3-4 รุ่นแล้ว แต่เดิมไม่มีมัสยิดของชาวทมิฬ-อินเดียโดยเฉพาะ ชาวทมิฬจึงมาใช้มัสยิดฮารูณ แม้ว่าปัจจุบันจะมีมัสยิดบางกอกของชาวทมิฬ-อินเดียแล้ว แต่มัสยิดฮารูณก็ยังเป็นศูนย์รวมของชาวมุสลิมอินเดียอยู่” มูบิน อัสซาฟ ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจที่มัสยิดฮารูณ กล่าว
ปัจจุบัน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้งในกรุงเทพฯ 187 แห่ง, ภาคกลาง 344 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 แห่ง, ภาคเหนือ 51 แห่ง และภาคใต้ 3,444 แห่ง