รักษาการ ผบ.ตร. ระบุ จะตั้งกรรมการสอบบิ๊กโจ๊กหลังถูกหมายจับ
2024.04.03
กรุงเทพฯ
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการตำแหน่ง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. (บิ๊กโจ๊ก) หลังจากที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ถูกศาลอาญาออกหมายจับคดีฟอกเงินเครือข่ายพนันออนไลน์ในวันอังคาร นักวิชาการชี้ องค์กรตำรวจควรถูกปฏิรูปแล้ว
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนระหว่างเข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ถูกออกหมายจับ
“เมื่อกองวินัยพิจารณาว่า มีเหตุอันควรสงสัยในการกระทำผิดวินัยก็เป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชา คือผม จะต้องพิจารณาว่าจะตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและให้โอกาสผู้ถูกสืบสวนได้ชี้แจง จะยังไม่มีการพิจารณาพักราชการ” พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าว
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ชี้แจงว่า กรณีของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ขั้นตอนตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ระบุว่า สน. เตาปูน ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบคดี และตัว พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ในฐานะผู้ถูกกล่าวหา ต้องทำหนังสือแจ้งต่อ ผบ.ตร. แล้วหลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมีคำสั่งว่า จะดำเนินการอย่างไรกับการปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์
“หากการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วปรากฏเหตุออกมาว่า มีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะต้องมีการต้องตั้งกรรมการสอบสวนอีกระดับนึง ในขั้นตอนนั้นจะเป็นการใช้พิจารณาว่า จะต้องให้พักหรือให้ออกหรือสำรองราชการหรือไม่”
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ระบุว่า บุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง จะเป็นตำรวจที่มียศเทียบเท่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งใคร ต้องรอหนังสือและข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
การตั้งกรรมการสอบสวนครั้งนี้ สืบเนื่องจากในวันอังคาร ศาลอาญาอนุมัติหมายจับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ที่พนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ร้องขอในความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิด ฐานฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งเชื่อมโยงกับคดีเครือข่ายพนันออนไลน์ หลังจากออกหมายเรียกไปแล้ว 3 ครั้ง แต่ไม่มีการไปรายงานตัว
หลังถูกออกหมายจับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้เข้ามอบตัวที่สน. เตาปูน และได้รับการประกันตัวหลังวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท
“เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ผมก็เดินทางมามอบตัว และแสดงความบริสุทธิ์ใจที่ สน. เตาปูนด้วยตนเองพร้อมกับทนายความ ในเรื่องการให้การผมได้ให้การไปแล้วขอไม่ลงรายละเอียด ขอไม่พูดว่าให้การปฏิเสธหรือสารภาพอะไรทั้งสิ้น” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวกับสื่อมวลชน
“หลังจากนี้ไปก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ สอบสวน สั่งคดีต่าง ๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ ผมก็ต้องใช้สิทธิในการต่อสู้คดี ตราบที่ผู้พิพากษายังไม่พิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ ปปช. ไม่ชี้มูล ถือเป็นผู้บริสุทธิ์ วันนี้กระบวนการเพิ่งเริ่มต้นเป็นการกล่าวหา ประกันตัวแล้วก็ออกมาทำงานปกติ” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ระบุ
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น นายเศรษฐา ระบุว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ย้าย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เข้าไปช่วยราชการที่สํานักนายกรัฐมนตรี หลังเกิดกรณีพิพาทภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ รักษาราชการตำแหน่ง ผบ.ตร. และตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม แม้ถูกสั่งย้าย แต่ทนายความของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังคงเปิดเผยข้อมูล และพยายามฟ้องร้องคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ โดยอ้างว่า การดำเนินคดีกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สั่นคลอนทั้งวงการ
กรณีที่เกิดขึ้น นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ไม่ว่าผลการตัดสินคดี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ จะออกมาในรูปแบบไหน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของกระบวนการยุติธรรมที่ถูกแทรกแซงจากธุรกิจสีเทา และผลประโยชน์ทางการเมือง
“ยังไงการปฏิรูปตำรวจก็จำเป็น บิ๊กโจ๊กอาจจะผิดหรือไม่ผิด ไม่มีใครรู้ แต่มันสั่นคลอนความน่าเชื่อถือไปมาก เราต้องเน้นไปที่การสร้างกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมและวินัยเพื่อฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของวงการตำรวจ” นายวรชาติ กล่าว
การสั่งย้ายผู้บริหาร สตช. ดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่ พล.ต.ท. ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค. ในขณะนั้น) ได้นำตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพัก และจับกุมลูกน้องคนสนิทสองคนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เมื่อเดือนกันยายน 2566 โดยอ้างว่า เป็นการขยายผลการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ มินนี่-น.ส. ธันยนันท์ สุจริตชินศรี โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยืนยัน ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายพนัน
การจับกุมครั้งนั้นเกิดขึ้นก่อนจะมีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ไม่ถึงหนึ่งเดือน ซึ่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในตัวเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ด้วย แต่ท้ายที่สุด พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลายเป็นผู้ได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ไป แม้มีความอาวุโสด้านงานตำรวจน้อยกว่า ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่า การบุกค้นบ้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ อาจเป็นการเมืองภายใน สตช. และมีกระแสว่า พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ขัดแย้งกัน
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) ในฐานะพนักงานสอบสวนคดีเว็บพนันเครือข่ายมินนี่ เปิดเผยว่า ได้แยกสำนวนคดีเป็นสองส่วน คือ สำนวนคดีแรกซึ่งมีผู้ต้องหา 61 ราย ได้ส่งฟ้องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.)
ขณะที่สำนวนคดีที่สอง ผู้ต้องหาห้าราย ซึ่งมีชื่อ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ รวมอยู่ด้วยจะส่งฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สิน เนื่องจากพบความเชื่อมโยงกับเครือข่ายพนันออนไลน์มินนี่ มูลค่า 300 ล้านบาท
ด้าน พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า มีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังการดำเนินคดีกับตนเอง และต่อมาได้ให้ทนายความไปฟ้องร้อง พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ต่อศาลอาญาข้อหาหมิ่นประมาท และร้องต่อ ป.ป.ช. และสำนักงานนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบว่า การดำเนินคดีของตำรวจต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ขณะเดียวกัน ทนายความของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้ออกมาแถลงข่าวว่า มีนายตำรวจหลายคนที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายเว็บพนัน และตั้งคำถามกับสังคมว่า เหตุใดจึงมีการดำเนินคดีแค่เพียง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และลูกน้องเท่านั้น การตอบโต้กันผ่านสื่อของคนภายใน สตช. ทำให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายดังกล่าว
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน