อัยการสั่งฟ้องคดีตากใบ ก่อนหมดอายุความ 5 สัปดาห์
2024.09.18
กรุงเทพฯ
อัยการสูงสุด (อสส.) สั่งฟ้องทหารและพลเรือนแปดราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลังการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้
“แม้ผู้ต้องหาทั้งแปดจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม โดยผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่า จำนวนรถกับจำนวนคนไม่เหมาะสมกัน ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้” นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงต่อสื่อมวลชน
นายประยุทธ ระบุว่า คดีนี้ พ.ต.อ. พัฒนชัย ปาละสุวรรณ ผู้กำกับการ สภ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นผู้กล่าวหา โดยมีผู้ต้องหา 8 คน ประกอบด้วย 1. พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร 2. ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 3. นายวิษณุ เลิศสงคราม 4. ร.ท. วิสนุกรณ์ ชัยสาร 5. นายปิติ ญาณแก้ว 6. พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณึ 7. พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ และ 8. ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์
อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 โดยผู้ต้องหาที่ 1 ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) เป็นผู้เรียกรถมารับผู้ชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถบรรทุกผู้ชุมนุม และผู้ต้องที่ 2-6 และ 8 เป็นผู้ขับรถบรรทุกผู้ชุมนุม
เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า เหตุใดอัยการสูงสุดจึงเพิ่งมีความเห็นสั่งฟ้อง หลังจากเวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี และกำลังจะสิ้นอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ นายประยุทธ ระบุว่า ไม่สามารถตอบได้เพราะไม่อยู่ในอำนาจของอัยการ
“สำนวนคดีนี้ เกิดปี 47 ท่านอัยการสูงสุดได้รับสำนวนเมื่อ 25 เมษายน 2567 กระบวนการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนทุกคดี ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ท่านมีดุลยพินิจที่ไม่แจ้งข้อกล่าวหาได้ และเห็นควรปล่อยทันที แต่เมื่อไหร่พนักงานอัยการเห็นต่าง สั่งฟ้อง เป็นหน้าที่ต้องไปทำให้ครบกระบวนการทางกฎหมาย ไปแจ้งข้อกล่าวหาภายในอายุความ ต้องนำตัวมาภายใน 25 ตุลานี้” นายประยุทธ กล่าว
หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดมารับทราบข้อกล่าวหา และอัยการจะนำตัวส่งฟ้องต่อศาล
“น่าสังเกตที่จำเลยส่วนใหญ่ในคดีนี้เป็นเพียงทหารระดับปฏิบัติการ และไม่มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงถูกฟ้องเหมือนคดีที่ชาวบ้านฟ้องเอง สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรม พูดง่าย ๆ ก็คืออาจมีการเลือกปฏิบัติ หรือปกป้องผู้มีอำนาจ ซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมที่ว่าทุกคนควรเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย” นายวรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
คดีที่ อสส. แถลงในวันพุธนี้ เป็นคนละคดีกับคดีที่โจทก์ 48 คน ซึ่งเป็นญาติของผู้ที่เสียชีวิต และบาดเจ็บจากเหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 ฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสให้เอาผิดจำเลยเจ็ดคน ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม และการขนส่งผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ปัจจุบัน คดีดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลแล้ว โดยศาลได้นัดสอบคำให้การครั้งแรกวันที่ 12 กันยายน 2567 แต่จำเลยทั้งหมดไม่ได้มาศาลตามนัด ศาลจึงได้ออกหมายเรียก และหมายจับเพื่อให้จำเลยมาศาล และนัดสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นี้
20 ปี กรณีตากใบ
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ไปรวมตัวที่หน้า สภ.อ. ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หกนาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ที่ถูกควบคุมตัว จากกรณีถูกกล่าวหาว่าทำปืนลูกซองของราชการสูญหาย
การชุมนุมดังกล่าวบานปลายจนเกิดการกระทบกระทั่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมีการใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเจ็ดราย และมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์กว่าหนึ่งพันคนที่ถูกควบคุมตัว และทั้งหมดถูกนำไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร
ผู้ถูกควบคุมตัวกว่าพันคนถูกให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และถูกเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร 25 คัน ซึ่งเมื่อไปถึง อ.หนองจิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และกลายเป็นผู้พิการ เหตุที่เกิดขึ้นถูกเรียกว่า “กรณี(คดี)ตากใบ”
ในเดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านผลการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมามิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนผลการไต่สวนดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง
“การสั่งคดีของอัยการในเวลาใกล้หมดอายุความ เหมือนกับว่าสั่งคดีตามกระแสสังคมหรือไม่ เพราะหากไม่สั่งคดีให้ทัน สังคมก็คงตั้งคำถามกับอัยการถึงบทบาทในการทำคดีการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีคนเสียชีวิตเกือบร้อยคน การสั่งคดีตอนนี้ เหมือนโยนเผือกร้อนให้กับตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ จับผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการ ส่วนประชาชนก็ได้แต่รอความยุติธรรมจากตำรวจและอัยการ” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ต่อมาปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย จากกรณีตากใบ รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในทางคดีกลับไม่มีความคืบหน้า
กระทั่งปี 2566 การรื้อคดีนี้ถูกพูดถึงอีกครั้ง และในเดือนมีนาคม 2567 ญาติของผู้เสียหายในคดีเปิดเผยว่า มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาที่บ้าน และเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อเจรจาเรื่องการเยียวยา ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ญาติของผู้เสียหายกังวลและหวาดกลัวมาก
อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน 2567 ญาติของผู้เสียหายกรณีตากใบ 48 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ โดยหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งรับฟ้องจำเลยเจ็ดคน ประกอบด้วย พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9, พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
“ถ้าตำรวจจับใครไม่ได้เลยก่อนหมดอายุความ คำสั่งศาลและคำสั่งอัยการสูงสุดของไทยก็แทบจะไม่มีความหมาย ระบบนิติรัฐ ระบบกฎหมายไทยมีวิกฤตที่ต้องปฏิรูปด่วน ตอนนี้คงต้องกดดันไปที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ก่อนหมดอายุความ เพราะนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
หลังจากวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่ศาลนัดสอบคำให้การในคดีตากใบ แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ทำให้ถูกออกหมายจับ ทนายความฝ่ายโจทก์เปิดเผยว่า น่ากังวลมากว่า ถ้าจำเลยไม่มาปรากฏตัวที่ศาลตามนัด จะทำให้คดีหมดอายุความ และเอาผิดใครไม่ได้ ล่าสุด โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า คดีดังกล่าวนับว่าเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว คดีจะไม่หมดอายุความตามที่หลายฝ่ายกังวล
“100% ไม่ขาดอายุความ (คดีตากใบที่ประชาชนฟ้องเอง) อันนี้ตอบได้เลย ในส่วนของศาลเมื่อประทับรับฟ้องแล้ว ถือว่าอยู่ในอำนาจของศาล ส่วนได้ตัวมันเป็นอีกขั้นตอนนึง” นายประยุทธ กล่าวในวันพุธนี้
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน