ญาติเหยื่อเหตุตากใบ ปี 47 ยื่นฟ้อง จนท. ที่เกี่ยวข้อง

ศาลนราธิวาสนัดไต่สวนผู้ถูกฟ้องทั้ง 9 ราย วันที่ 24 มิ.ย. 67
มารียัม อัฮหมัด
2024.04.25
ปัตตานี
ญาติเหยื่อเหตุตากใบ ปี 47 ยื่นฟ้อง จนท. ที่เกี่ยวข้อง ครอบครัวของผู้เสียชีวิต และผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมรวมตัวถือป้ายระบุข้อความเกี่ยวกับคดีตากใบ ก่อนยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ ที่หน้าศาลจังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 เมษายน 2567
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ญาติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ 9 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุมและควบคุมตัว จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก โดยศาลนัดไต่สวนผู้ถูกฟ้องในวันที่ 24 มิถุนายน 2567

นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเต๊ะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นมีการไต่สวนการตายไปแล้วโดยศาลจังหวัดสงขลา แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้มีการส่งฟ้องดำเนินคดีแม้ผ่านมาแล้ว 20 ปี 

“ผ่านมา 20 ปี มีความหนักใจในเรื่องของพยานหลักฐานเหมือนกัน แต่ทุกอย่างมันมีการบันทึก เพราะว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายคณะอยู่แล้ว มีการเรียกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ซึ่งตรงนั้นก็คือหลักฐานส่วนหนึ่ง” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ยังเก็บหลักฐานร่องรอยของการเกี่ยวข้องการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นภาพตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ ก็สามารถที่จะระบุได้ ที่สำคัญผู้เสียหายที่ยังไม่ตาย เขามีชีวิตอยู่ ก็สามารถที่จะอธิบายได้ คิดว่าตรงนี้พยานหลักฐานก็มีน้ำหนักพอที่ศาลจะพิจารณา” นายอับดุลกอฮาร์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับผู้ฟ้องคดีนี้ โจทก์ลำดับที่ 1-34 เป็นญาติของผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกอาวุธปืนยิงที่หน้า สภ.ตากใบ และระหว่างการควบคุมตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ลำดับที่ 35-48 เป็นผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยยื่นฟ้องให้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ 9 คน ที่ประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง

โจทก์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ, หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

หลังการยื่นฟ้องของโจทก์ ศาลจังหวัดนราธิวาสได้รับฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขดำ 578/2567 และนัดไต่สวนมูลฟ้อง ผู้ถูกฟ้องทั้ง 9 ราย ในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าของคดีในเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ ปี 2547

ต่อมา กมธ. กฎหมายฯ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิดขึ้นมาชี้แจง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า ในสำนวนคดีไต่สวนการตาย พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนว่า ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และไม่ทราบถึงสถานะและความมีอยู่ของสำนวนคดีอาญาที่ต้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่าคดีนี้เป็นประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่สำคัญของไทย

“คดีนี้จะเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของตุลาการไทยในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความเป็นอิสระและเป็นมืออาชีพในการค้นหาความจริงให้ปรากฏในชั้นพิจารณาของศาลไทย อีกทั้งการรับฟ้องคดีนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานและยืนยันในหลักนิติธรรมของไทย” นส. พรเพ็ญ ระบุ

240425-th-mn-takbai-court-case2.jpg
ครอบครัวผู้เสียหายรวมตัวถือป้ายระบุข้อความเกี่ยวกับคดีตากใบ ก่อนยื่นฟ้องคดีอาญาเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ที่หน้าศาลจังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 เมษายน 2567 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

ในเหตุการณ์ดังกล่าว นางเจ๊ะฮามียะ หะยีมะยัง ได้สูญเสียลูกชายวัย 19 ปี ซึ่งเธอเป็นหนึ่งใน 48 โจทก์ ที่ได้รวมตัวเข้ายื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสในวันนี้ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ 9 นาย  

“เราฟ้องในข้อหาหนัก คือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เป็นการฆ่าที่เล็งเห็นผล ถึงแม้จะไม่เจตนาโดยตรง แต่ถ้าเล็งเห็นว่า ถ้าทำแบบนี้ จะทำให้คนถึงแก่ความตาย ก็เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย” นางเจ๊ะฮามียะ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

20 ปี กรณีตากใบ

ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวที่หน้าโรงพักตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 นาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ซึ่งถูกควบคุมตัวจากคดียักยอกทรัพย์สินราชการ และแจ้งความเท็จ หลังปืนลูกซองยาวของราชการในความรับผิดชอบของ ชรบ. กลุ่มดังกล่าวสูญหาย

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าวด้วยกำลัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย มีการควบคุมผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร โดยการควบคุมตัวผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ให้ทั้งหมดถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วเรียงซ้อนทับกันในรถบรรทุกจีเอ็มซี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 78 ราย มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ จำนวนมาก และในนั้นจำนวนหนึ่งกลายเป็นผู้พิการ

เดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการเสียชีวิตดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้ถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ไม่มีใครต้องรับโทษจากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ตากใบ ซึ่งเป็นญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท 

หลังจากไม่มีความคืบหน้าทางคดีมาหลายปี ช่วงปลายปี 2566 มีการรื้อฟื้นคดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ต่อมาญาติของผู้เสียหายจากกรณีตากใบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 มีนาคม 2567 มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบได้มาพูดคุยกับญาติเพื่อเชิญตัวไปสถานีตำรวจเพื่อเจรจาเรื่องการเยียวยา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับญาติผู้เสียหายอย่างมาก

จึงทำให้ในสามวันต่อมา ในวันที่ 10 มีนาคม 2567 ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ กรณีตากใบ ปี 2547 ได้ยื่นหนังสือต่อนายจาตุรงค์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ. สันติภาพชายแดนใต้ฯ) ให้ตรวจสอบกรณีการคุกคามของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายดังกล่าวด้วย 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง