เหลือแค่ 1 เดือน! หลายฝ่ายจี้รัฐพาจำเลยคดีตากใบขึ้นศาลก่อนคดีหมดอายุ
2024.09.26
กรุงเทพฯ
สส. ฝ่ายค้าน และนักสิทธิมนุษยชน กระตุ้นให้รัฐบาลเร่งนำตัวจำเลยใน คดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก มาเข้าสู่การพิจารณาของศาล ก่อนที่คดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้
“จำเลยที่หนึ่งคือ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนี้ ไม่ได้มีความคืบหน้าจากฝั่งตำรวจว่า มีการจับกุมตัวคนที่ถูกออกหมายจับหรือไม่ แม้กระทั่ง สิ่งที่ผมเรียกร้องต่อท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรี (น.ส. แพทองธาร ชินวัตร) ให้โน้มน้าวท่านพิศาลให้เดินทางมาก็ยังไม่มีเสียงตอบรับใดๆทั้งสิ้น” นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวที่อาคารรัฐสภา
คดีตากใบ แบ่งออกเป็นสองสำนวนคดี คือ สำนวนแรกซึ่งมีญาติของผู้เสียหายกรณีตากใบ 48 คน เป็นโจทก์ฟ้องเมื่อเดือนเมษายน 2567 ให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ เจ็ดคน ประกอบด้วย พล.อ. พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบัน เป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พล.ท. สินชัย นุตสถิตย์ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9, พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
โจทก์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยทารุณโหดร้าย, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ, หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยคดีนี้ ศาลนัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัดทำให้จำเลยถูกออกหมายจับทุกคน ยกเว้น พล.อ. พิศาล ซึ่งถูกออกหมายเรียกเนื่องจากมีสถานะเป็น สส. และอยู่ระหว่างสมัยประชุม โดยล่าสุดฝ่ายโจทก์กำลังทำเรื่องขอให้ศาลออกหมายจับ พล.อ. พิศาล เพื่อนำตัวมาขึ้นศาลตามนัดครั้งที่สองวันที่ 15 ตุลาคมนี้
“ศาลนราธิวาสทำหนังสือมาก่อนหน้านี้ขอให้มีการขออนุญาตในการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทราบว่า ท่านอาจารย์วันนอร์(วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร) ได้ชี้แจงกลับไปที่ศาลว่า การดำเนินคดีของศาลสามารถทำได้เลย ตราบใดที่จะไม่เป็นการขัดขวางการประชุมสภา” นายรอมฎอน กล่าว
สำหรับ สำนวนที่สอง เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา อัยการสูงสุด (อสส.) ได้สั่งฟ้องทหารและพลเรือนแปดราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลังการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ประกอบด้วย 1. พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร 2. ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 3. นายวิษณุ เลิศสงคราม 4. ร.ท. วิสนุกรณ์ ชัยสาร 5. นายปิติ ญาณแก้ว 6. พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณึ 7. พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ และ 8. ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์
ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 โดยผู้ต้องหาที่ 1 ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) เป็นผู้เรียกรถมารับผู้ชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถบรรทุกผู้ชุมนุม และผู้ต้องที่ 2-6 และ 8 เป็นผู้ขับรถบรรทุกผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“คดีนี้มีสิ่งที่น่ากังวลคือจำเลยที่เป็นเจ้าหน้าที่ราชการระดับสูงอาจไม่อยู่ในประเทศแล้ว ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่อัยการเป็นโจทก์อาจต้องเป็นจนท.ระดับปฏิบัติต้องมารับผิด ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะแสดงให้เห็นว่า กฎหมายไทยไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างทั่วหน้า และมีสองบรรทัดฐาน” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ภูมิธรรม ไม่รู้ พล.อ. พิศาลอยู่ไหน
เนื่องจาก พล.อ. พิศาล หนึ่งในจำเลยของคดีตากใบเป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาล สื่อมวลชนจึงได้สอบถาม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการนำตัว พล.อ. พิศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายภูมิธรรมได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ควรสนใจประเด็นน้ำท่วมมากกว่า
“ถ้ารู้ว่าอยู่ไปจับตัวได้เลย ตอนนี้ไม่ทราบเลย (ว่า พล.อ. พิศาล อยู่ที่ใด) เหมือนเวลาในบ้านเรา พี่หรือน้องไปไหน เขาไม่บอกเรา เราจะทราบได้ไหม ผมเรียนอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องของบุคคลแต่ละคนต้องตัดสินใจของเขาเอง เราเห็นว่า ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลเห็นว่า ตอนนี้มีหลายเรื่องก็ต้องเห็นใจปัญหาน้ำท่วมหนักกว่า” นายภูมิธรรม ตอบคำถามสื่อมวลชน
ด้าน น.ส. พรเพ็ญ ชี้ว่า การตอบคำถามสื่อมวลชนของนายภูมิธรรม ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบในฐานะรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย
“ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบในฐานะพรรคการเมือง ฐานะรัฐบาล รวมทั้งเป็นรมต.กลาโหม และฐานะที่ภูมิธรรมเคยเป็นนักกิจกรรม(ในเหตุการณ์ สังหารนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519) ที่เคยถูกปราบปรามมาก่อน อยากให้นึกว่า ถ้าตัวเองถูกละเมิดสิทธิเช่นนี้จะคิดอย่างไรเมื่อคดีนี้จะหมดอายุความ และเท่ากับตอนนี้ คุณไม่ได้ทำอะไรเพื่อประโยชน์ของประชาชนแล้ว และจะยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 25 ตุลาคม 67 อย่างไรในฐานะผู้กำกับดูแลด้านความมั่นคง” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ไปรวมตัวที่หน้า สภ.อ. ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หกนาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ที่ถูกควบคุมตัวจากกรณีถูกกล่าวหาว่าทำปืนลูกซองของราชการสูญหาย
การชุมนุมดังกล่าวบานปลายจนเกิดการกระทบกระทั่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมีการใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเจ็ดราย และมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์กว่าหนึ่งพันคนที่ถูกควบคุมตัว และทั้งหมดถูกนำไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร
ผู้ถูกควบคุมตัวกว่าพันคนถูกให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และถูกเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร 25 คัน ซึ่งเมื่อไปถึง อ.หนองจิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และกลายเป็นผู้พิการ เหตุที่เกิดขึ้นถูกเรียกว่า “กรณี(คดี)ตากใบ”
ในเดือนพฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านผลการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ระบุว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานที่ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ต่อมามิถุนายน 2555 ญาติของผู้เสียชีวิตได้อุทธรณ์ต่อศาลให้เพิกถอนผลการไต่สวนดังกล่าว แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง
ต่อมาปี 2556 รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาให้กับญาติของผู้เสียชีวิต 85 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 49 ราย จากกรณีตากใบ รวมเป็นเงิน 641.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในทางคดีกลับไม่มีความคืบหน้า
กระทั่งปี 2566 การรื้อคดีนี้ถูกพูดถึงอีกครั้ง และในเดือนมีนาคม 2567 ญาติของผู้เสียหายในคดีเปิดเผยว่า มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบมาที่บ้าน และเชิญตัวไปที่สถานีตำรวจเพื่อเจรจาเรื่องการเยียวยา ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ญาติของผู้เสียหายกังวลและหวาดกลัวมาก
“คดีนี้ อายุความเหลืออีกแค่ไม่ถึงเดือนต้องฝากท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ที่ดูแลความมั่นคงให้กำชับตำรวจด้วย แม้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะเพิ่งเข้ามา ผมขอฝากติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการส่งสัญญาณไม่บวกก็ลบต่อกระบวนการสันติภาพ” นายรอมฎอน กล่าว
ในวันพฤหัสบดีนี้ อัยการจังหวัดปัตตานียังได้เลื่อนนัดส่งฟ้องนักกิจกรรมเก้าคนต่อศาล ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการร่วมแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองมลายู ในกิจกรรม “Perhimpunan Malays RAYA 2022” ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 โดยนัดอีกครั้งในวันที่ 29 ตุลาคมนี้
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน