“ไทยภักดี” ร้อง กกต. เอาผิด “ประชาชน” กรณีตั้งสาขาพรรคไม่ครบ
2024.08.13
กรุงเทพฯ
ตัวแทนพรรคไทยภักดี เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคใหม่ของอดีต สส. พรรคก้าวไกลว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ ด้าน สส. พรรคประชาชน ยืนยัน ไม่กังวลกรณีที่ถูกร้อง เพราะพรรคดำเนินการตามกฎหมายครบถ้วน
นายทศพล พรหมเกตุ เลขาธิการพรรคไทยภักดี เดินทางไปที่สำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือให้ กกต. ตรวจสอบพรรคประชาชน เพราะตั้งข้อสังเกตว่าอาจกระทำผิดกฎหมายกรณีจำนวนสาขาพรรค และการรับบริจาค
“พวกเรามาทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตยเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งต้องมีความสุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ วันนี้เราไม่ได้มายื่น กกต. เพื่อยุบพรรคประชาชนแต่อย่างใด แต่เรามาเพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในสองประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล และพรรคประชาชน” นายทศพล กล่าว
พรรคประชาชน (ปชช.) แต่เดิมมีชื่อว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ก่อนที่จะประกาศเปลี่ยนชื่อ และรับ สส. 143 เข้าเป็นสมาชิกใหม่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา การเกิดขึ้นของพรรคประชาชน สืบเนื่องจากวันที่ 7 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล จากการที่พรรคใช้การแก้ไข ม. 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 การยุบพรรคทำให้ สส. 143 คนที่เหลือของก้าวไกล ต้องหาพรรคสังกัดภายใน 60 วัน
“เราตรวจสอบพบว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล มีสาขาพรรคเพียงสามสาขาคือ ในภาคเหนือสองสาขา และภาคกลางหนึ่งสาขา ซึ่งสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย เพราะ สาขาพรรคในแต่ละภาคไม่ถึง หนึ่งสาขาเป็นเวลาเกินหนึ่งปี ก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะดำเนินการมีคำสั่งในพรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง” นายทศพล กล่าวเพิ่มเติม
หลังจากการเปิดตัวพรรคประชาชน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หรือ “เท้ง” สส. บัญชีรายชื่ออดีตพรรคก้าวไกล ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรค พรรคประชาชนได้เปิดรับบริจาคเงินและรับสมัครสมาชิกพรรค โดยมีการเปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า ปัจจุบัน พรรคได้รับเงินบริจาคแล้ว 20 ล้านบาท และมีสมาชิกพรรค 5 หมื่นคน
นายทศพล ระบุว่า การเปิดรับบริจาคของพรรคประชาชน อาจเข้าข่ายหลอกลวงประชาชน เนื่องจากเชื่อว่าการขอเปลี่ยนชื่อพรรคยังไม่ได้รับการรับรองจาก กกต. ซึ่งจะทำให้พรรคไม่สามารถขอเปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์เพื่อรับบริจาคในนามพรรคได้ จึงเรียกร้องให้ กกต. ตรวจสอบและดำเนินคดีเอาผิดด้วย
ต่อประเด็นนี้ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. และ กรรมการบริหารพรรคประชาชน เปิดเผยว่า พรรคไทยภักดี ซึ่งปัจจุบัน มีหัวหน้าพรรคเป็น นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ มีสิทธิ์ในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว แต่ยืนยันว่า พรรคประชาชนเองก็ทำตามกฎหมาย
“ยืนยันว่า พรรคมีสาขาพรรคต่อเนื่องมาตลอดมาตั้งแต่ปี 2560 ไม่มีประเด็นอะไรน่าห่วงกังวล กกต. คงจะตอบได้ว่าเรื่องนี้ครบถ้วนสมบูรณ์มาตลอด รอบนี้คงไม่ใช่เป็นประเด็นยุบพรรค แต่คงเป็นประเด็นเรื่องตรวจสอบองค์ประกอบของความเป็นพรรค ตนคงไม่ก้าวล่วง ไม่รู้เจตนาภายในของ นพ. วรงค์ แต่คิดว่าในความเป็นจริง เราก็รู้ว่าในภาพใหญ่กระบวนการยุบพรรค มันไม่ควรจะเกิดขึ้น” นายณัฐวุฒิ กล่าว
ก่อนจะมีพรรคประชาชน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี สส. 80 คน จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สส. พรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล ขณะที่ อดีตกรรมการบริหารพรรคได้ตั้งคณะก้าวหน้าขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน
ด้าน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง ชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ได้เสนอตั้งสาขาพรรคครบถ้วนตามกฎหมายแล้วก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน เพียงแค่ข้อมูลบนเว็บไซต์ยังไม่ได้มีการปรับปรุงเป็นปัจจุบัน
“หนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ และระยะเวลาการจัดตั้งก็อยู่ภายในหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนด ขณะนี้มีการจะส่งเรื่องมาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบตามขั้นตอน ตราบใดที่นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่รับทราบก็จะยังไม่มีการลงในระบบฐานข้อมูลของสำนักงาน จึงทำให้ ณ ปัจจุบันข้อมูลนี้ยังไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ กกต.” นายแสวง ระบุ
ทั้งนี้ พรรคประชาชน ยังมีอีกหนึ่งอุปสรรคที่รออยู่ คือ กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติไต่สวน สส. อดีตพรรคก้าวไกล 44 คน ซึ่งเคยเสนอแก้ไข ม. 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร และหาก สส. กลุ่มดังกล่าวถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงอาจทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดย ปัจจุบัน สส. กลุ่มดังกล่าวจำนวนหนึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาชน
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า งานธุรการพรรคอาจเป็นความท้าทายที่พรรคประชาชนต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
“ในฐานะที่ผมเคยมีประสบการณ์ตั้งพรรคการเมืองจึงชี้ว่า สิ่งที่พรรคประชาชนมองข้ามไม่ได้ หรือเป็นความท้าทายที่ต้องพิจารณาคือ งานธุรการต่าง ๆ ในการจัดตั้งพรรคต้องใช้เวลา การประกาศต่อสื่อมวลชนอาจจะสำเร็จไปแล้ว แต่การดำเนินการทางเอกสารราชการอาจยังไม่เสร็จ เป็นอุปสรรค และต้องรอบคอบในประเด็นนี้เพื่อไม่ให้มีปัญหาอีกในอนาคต” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
แม้พรรคก้าวไกลจะถูกยุบจาก ประเด็น การเสนอแก้ไข ม. 112 แต่ในวันประกาศตั้งพรรคประชาชน นายณัฐพงษ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคได้ยืนยันว่า พรรคจะไม่ลดเพดานการเสนอแก้กฎหมายใด ๆ แต่จะดำเนินการอย่างรอบคอบที่สุดเช่นกัน