นักวิเคราะห์ชี้ทักษิณกลับเชียงใหม่เป็นความจำเป็นทางการเมือง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และรุจน์ ชื่นบาน
2024.03.15
กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่
นักวิเคราะห์ชี้ทักษิณกลับเชียงใหม่เป็นความจำเป็นทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร รับดอกไม้จากผู้สนับสนุนที่ตลาดวโรรส ในจังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 15 มีนาคม 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

การเดินทางกลับเชียงใหม่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2567 นี้ นับเป็นการกลับมายังจังหวัดบ้านเกิดครั้งแรกในรอบ 17 ปี และเป็นการเดินทางข้ามจังหวัดครั้งแรก หลังได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 

แม้คนใกล้ชิดของนายทักษิณจะระบุว่า การเยือนเชียงใหม่ มีเหตุผลเพียงแค่เพื่อพบปะญาติมิตร และเพื่อนฝูง แต่นักวิชาการต่างเห็นตรงกันว่า การเมือง คือเหตุผลที่แท้จริงในการกลับบ้านเกิดครั้งนี้ 

“มันเป็นความจำเป็นทางการเมือง เพราะโดยสภาพแล้วพรรคเพื่อไทยได้กลายเป็นหัวขบวนของอนุรักษ์นิยมไปแล้ว เป็นคู่ต่อสู้ทางการเมืองคือพรรคก้าวไกล แล้วเชียงใหม่ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว เพื่อไทยพ่ายยับ ถ้ารอบหน้าเพื่อไทยยังปักธงแดง เอาพื้นที่คืนมาจากสีส้มไม่ได้ ก็ต้องเอาปี๊บคลุมหัว” ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อไทยสามารถกวาดที่นั่ง สส. จังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมด 9 ที่นั่งได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ในปี 2566 แชมป์เก่าอย่างเพื่อไทย กลับได้ สส. แค่ 2 คน ขณะที่ ผู้เล่นหน้าใหม่อย่างก้าวไกล สามารถ กวาด สส. ได้ถึง 7 คน ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ในการเลือกตั้งสมัยหน้า เพื่อไทยจะพยายามอย่างหนัก เพื่อทวงคืนพื้นที่ และคะแนนนิยมของตนเอง

“เชียงใหม่คือเมืองหลวงเก่าของไทยรักไทย ถ้าเอาเมืองคืนไม่ได้ ก็อย่าคิดบุกการเมืองทางอื่น การที่คุณทักษิณกลับมาจึงเป็นการประกาศว่า ฉันกลับมาแล้วนะ ขวัญใจคนเดิมกลับมาแล้ว เอฟซีจ๋า ขอคะแนนเสียงหน่อย แต่มันก็พ้นกาลสมัยไปแล้ว” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว

แม้ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะสะท้อนว่า เพื่อไทยเสื่อมความนิยมลงมาก แต่เมื่อนายทักษิณ ถึงเชียงใหม่ก็ยังมีผู้คนมากมายที่ยังศรัทธา และนิยมชมชอบในตัวอดีตนายกรัฐมนตรี มาให้การต้อนรับ ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของกองทัพสื่อมวลชน

“ตั้งใจมาหาท่าน เพราะคิดถึงท่าน ตอนอยู่กัมพูชา หรือฮ่องกงเรายังตามไป เรามาเพื่อเห็นหน้าท่าน ให้เห็นว่าท่านยังแข็งแรง เดินได้ก็โอเคแล้ว เราต้องการแค่นั้น” คนเสื้อแดง (สงวนชื่อและนามสกุล) จากจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวกับสื่อมวลชน 

ระหว่างการเยี่ยมชมเมืองเชียงใหม่ นายทักษิณได้ตอบสื่อมวลชนที่ถามเกี่ยวกับสุขภาพเพียงสั้น ๆ ว่า “ก็พอดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อย ๆ” โดย น.ส. แพทองธาร ได้กำชับกับสื่อมวลชนว่า จะไม่มีการให้สัมภาษณ์

ด้วยสถานะผู้มากบารมีของนายทักษิณ ทำให้การเดินทางเยือนเชียงใหม่ครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยนักการเมือง และข้าราชการที่มาต้อนรับ ตั้งแต่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอีกสถานะ คือเป็นน้องเขย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้กระทั่ง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“ในเรื่องของการพัฒนาบ้านเมืองก็ต้องยอมรับว่าท่าน (นายทักษิณ) มีวิสัยทัศน์ ท่านสั่งการไว แต่วันนี้มาไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองเป็นเรื่องกระทรวงเกษตร เพราะที่ท่านลงเป็นพื้นที่ของกระทรวงเกษตรทั้งหมด ผมมีกำหนดการมาตรวจราชการที่นี่อยู่แล้ว อย่าเอาไปรวมกัน” ร.อ. ธรรมนัส กล่าวกับสื่อมวลชน

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 โดยมี สส. 151 คน จากทั้งหมด 500 คน หลังทราบผลการเลือกตั้ง ก้าวไกลจับมือร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยซึ่งมี สส. มากเป็นอันดับสอง 141 คน และอีก 6 พรรคการเมืองรวม สส. 312 คน โดยประกาศว่าจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน โดย สส. และ สว. ที่ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงอ้างว่า ไม่สนับสนุนนายพิธา เพราะก้าวไกล เสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ 

ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 750 เสียงของรัฐสภา ทำให้นายพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 

ในที่สุด เพื่อไทยประกาศเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่น ๆ โดยไม่จับมือตั้งรัฐบาลกับก้าวไกล ทำให้เกิดกระแสโจมตีอย่างหนัก เพราะในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อไทยประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง คือ พลังประชารัฐ ซึ่งมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ รวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

“การเลือกตั้งที่ผ่านมาเพื่อไทยเสียต้นทุนไปมาก จากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว คะแนนนิยมจึงแย่ลง ขณะที่กรรมการบริหารพรรคก็ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ เท่ากับว่าเหลือเพียงคุณทักษิณคนเดียวที่จะกอบกู้พรรคได้ ฉะนั้นจึงต้องกลับไปที่ฐานที่มั่นของตัวเอง ให้คุณทักษิณปลุกคะแนนนิยมพรรค และส่งสัญญาณเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต” รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

นายทักษิณ เคยเป็นที่รักของคนเชียงใหม่ และคนทั้งประเทศจนสามารถชนะการเลือกตั้ง และเป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 ก่อนที่จะถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคนเสื้อเหลือง ชุมนุมขับไล่ กระทั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ระหว่างที่นายทักษิณเดินทางไปประชุมสหประชาชาติ ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้นายทักษิณตัดสินใจลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศทันที 

ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อพรรคพลังประชาชน (ซึ่งต่อมาคือ พรรคเพื่อไทย) ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย นายทักษิณถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีทุจริต ในเดือนสิงหาคม 2551 เขาจึงตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศอีกครั้ง และไม่เคยได้กลับประเทศอีกเลยเป็นเวลา 15 ปี

หลังลี้ภัยในต่างประเทศหลายปี วันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย และเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ทำให้นายทักษิณถูกตัดสินจำคุก 8 ปี จาก 3 คดี ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่นายทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สิบวันต่อมา นายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือจำคุก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม นายทักษิณไม่เคยนอนในเรือนจำ เพราะถูกพาตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่คืนแรกของการเป็นนักโทษ หลังจากเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน กระทั่งได้รับการพักโทษออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างมากจากสังคม

240313-Thaksin-2.JPG

กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่รอพบทักษิณ ชินวัตร ที่หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงที่ต้องตายจากการสลายการชุมนุมปี 2553 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 (วรรณา แต้มทอง/เบนาร์นิวส์)

“17 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไปเยอะ คนไม่ได้นิยมชมชอบแล้ว บวกกับคุณทักษิณใช้วิธีกลับประเทศที่เหมือนสองมาตรฐาน และตั้งรัฐบาลตระบัดสัตย์ ทำให้คนจำนวนมากไม่ได้ชื่นชม รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่พอใจคุณทักษิณอยู่แล้ว แต่คนที่คาดหวังกับทักษิณตอนนี้คือ ชนชั้นนำเก่าที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง น่าเวทนา ต้องอาศัยลมหายใจคุณทักษิณต่อชีวิต” รศ.ดร. โอฬาร ระบุ

แม้จะถูกโจมตีอย่างมากจากคนรุ่นใหม่ แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า นายทักษิณ ยังมีความสามารถ และเป็นที่ต้องการสำหรับการเมืองไทย

“นายกทักษิณเป็นคนระดับโลก น่าจะเป็นคนที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ ศักยภาพ มีต้นทุนความน่าเชื่อถือเชื่อมั่น กับคนสำคัญ ๆ ทั้งในแวดวงการเมือง และธุรกิจมาก และวันนี้ประเทศไทยต้องการศักยภาพแบบนี้ ไม่ได้บอกว่า ต้องให้นายกทักษิณเข้ามามีตำแหน่ง มีบทบาท แต่ว่าจะปล่อยให้ศักยภาพแบบนี้เงียบหายไปเฉยๆโดยไม่เอามาช่วยบ้านช่วยเมืองก็น่าเสียดาย” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร. ธนพร เชื่อว่า นายทักษิณ ไม่เหมาะกับการเมืองยุคปัจจุบัน และเป็นเรื่องยากมากที่เพื่อไทยจะดึงคะแนนนิยมคืนมาจากก้าวไกลสำเร็จ 

“แต่การเอาคะแนนกลับมาไม่ง่ายหรอก ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะปัญหาในเชียงใหม่ มันไม่เหมือนกับ 20 ปีที่แล้วที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่อง PM2.5 การเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมเรื่องทุนจีนที่ระบาดทั่วเมืองเชียงใหม่ ปัญหามันเกินกว่าที่คุณทักษิณจะไล่ตามทัน” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง