อัยการสั่งฟ้อง ม. 112 ทักษิณ คดีสัมภาษณ์สื่อเกาหลี ปี 58
2024.05.29
กรุงเทพฯ
สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงในวันพุธนี้ว่า มีความเห็นสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลอาญา ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อปี 2558 อย่างไรก็ตาม นายทักษิณได้ให้ทนายความขอเลื่อนการส่งตัวต่อศาลเนื่องจากมีอาการป่วยติดเชื้อโควิด-19 อัยการจึงนัดส่งฟ้องต่อศาลใหม่เป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2567
“ท่านอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องทุกข้อกล่าวหา และนัดให้มาพบพนักงานอัยการคดีอาญา 8 เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 18 มิถุนายน ปี 2567 คือ มีหลักฐานพอฟ้อง สาเหตุที่สั่งฟ้องเป็นรายละเอียดคดี ไม่สามารถนำมาแถลงได้” นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว
นายประยุทธ ระบุว่า นายทักษิณได้ให้ทนายความเดินทางมาขอเลื่อนการนัดในครั้งนี้ พร้อมใบรับรองแพทย์ โดยขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 25 มิถุนายน 2567 แต่อัยการไม่อนุญาติ อย่างไรก็ตาม สำนักงานอัยการจะพิจารณาอีกครั้งในการส่งฟ้องว่าจะคัดค้านการประกันตัวของนายทักษิณหรือไม่
“การเลื่อนไปนี้ไม่มีผลต่อความยุติธรรม และไม่มีผลต่อความเห็นของอัยการสูงสุด การค้านประกันมันมีหลักอยู่แล้ว จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานไหม หลบหนีไหม จะเสียหายต่อความยุติธรรมยังไงหรือไม่ ก็คงเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา” นายประยุทธ กล่าว
ขณะที่ นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้ว่า หากนายทักษิณไม่เดินทางมาตามนัดของอัยการในครั้งต่อไปก็จะมีการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ
“ถ้าในวันนั้น นายทักษิณยังไม่มา และก็ไม่มีการแจ้งเหตุขัดข้อง กระบวนการของอัยการก็จะมีขั้นตอนในการดำเนินการต่อไป โดยจะมีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนให้ส่งผู้ต้องหามาฟ้องภายในเวลาที่กำหนดต่อไป” นายนาเคนทร์ กล่าว
ด้าน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของนายทักษิณ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า นายทักษิณมีไข้ 38 องศา และรักษาตัวที่บ้าน ต้องห่างจากผู้คนจึงเป็นเหตุผลในการขอเลื่อน
“เชื่อว่าท่านทักษิณ พร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเอง และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในกระบวนการยุติธรรม มีหลายประเด็นที่เราต่อสู้ขอความเป็นธรรมเช่น คลิปวิดีโอที่นำมากล่าวหา เราเห็นว่าไม่ใช่คลิปวิดีโอต้นฉบับ ซึ่งเรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เชื่อได้ว่าเป็นการตัดต่อ” นายวิญญัติ กล่าว
คดีนี้สืบเนื่องจาก นายทักษิณ ถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อสส. รับฟ้องคดีของนายทักษิณในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ
ต่อมา นายทักษิณ ได้ให้ทนายความทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ให้ปล่อยตัวนายทักษิณชั่วคราว ระหว่างการต่อสู้คดี เนื่องจากที่ผ่านมา นายทักษิณยังไม่มีโอกาสรวบรวมหลักฐานสำหรับคดีเพราะอยู่ในต่างประเทศ และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 อัยการอนุญาตให้นายทักษิณประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี หลังวางหลักทรัพย์ 5 แสนบาท
ต่อการสั่งฟ้องครั้งนี้ ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เชื่อว่า นายทักษิณจะต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
“ถามว่าทำไมนายใหญ่ (ทักษิณ) ถึงโดน ม. 112 เรื่องเนื้อหาตัวคดีผมคงไม่ก้าวล่วง แต่เรื่องคดีอัยการท่านก็คงดูแล้วว่า องค์ประกอบในทางกฎหมายเข้าเงื่อนไข ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไร ผมไม่เห็นรายละเอียดคำฟ้อง ก็คงไม่สามารถฟันธงได้ เพราะมันคือการเดา แต่สำหรับตัวนายใหญ่ก็คงต่อสู้คดีเต็มที่ และคงขอประกันตัวให้ได้” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว
ผศ.ดร. ธนพร เชื่อว่า นายทักษิณพยายามทำกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ในช่วงนี้ เพื่อช่วยให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นน้องสาวสามารถเดินทางกลับจากการลี้ภัยในต่างประเทศได้
“สิ่งที่นายใหญ่พยายามทำที่ผ่านมา ก็เพื่อให้เพื่อไทยอยู่สถานภาพที่ได้เปรียบที่สุด บริหารอำนาจต่อไป ปฏิบัติภารกิจในการจะต้องสกัดไม่ให้สีส้ม (พรรคก้าวไกล) ประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเขาไม่ทำอะไร น้องเขาก็จะไม่ได้กลับบ้าน (ยิ่งลักษณ์)” ผศ.ดร. ธนพร ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายทักษิณถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษจากในหลวง ร. 10 เหลือจำคุก 1 ปี การจำคุกดังกล่าวสืบเนื่องจากคดีทุจริต 3 คดี ที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี
หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศกว่า 16 ปี นายทักษิณได้กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถูกควบคุมตัวทันที แต่ไม่เคยนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เพราะกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า นายทักษิณมีปัญหาสุขภาพ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล กรณีที่เกิดขึ้นทำให้กรมราชทัณฑ์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก
กระทั่งได้รับการพักโทษปล่อยตัวเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หลังจากพักอยู่ในโรงพยาบาลตำรวจเพียง 6 เดือน และจากนั้นก็เริ่มพบปะผู้สนับสนุน รวมถึงนักการเมืองที่ใกล้ชิด รวมทั้งมีข่าวว่าได้พูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาด้วย
นับตั้งแต่ปี 2560 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เคยเดินทางกลับประเทศไทยอีก โดยได้ไปอาศัยอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กับนายทักษิณ ก่อนนายทักษิณจะเดินทางกลับประเทศเดือนสิงหาคม 2566
สังคมเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ อาจเดินทางกลับประเทศเพื่อมารับโทษเช่นเดียวกับพี่ชาย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ยกฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตโรดโชว์เพื่อเอื้อประโยชน์โดยมิชอบต่อ บริษัท มติชน และสยามสปอร์ต มูลค่าประมาณ 240 ล้านบาท พร้อมกันนั้น ศาลยังได้สั่งเพิกถอนหมายจับของ น.ส. ยิ่งลักษณ์
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน