ใส่เสื้อ “หมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” ทำทิวากร ถูกคุก 6 ปี คดี ม. 112

ลูกอิฐ กุสุมาลย์
2024.08.14
ขอนแก่น
ใส่เสื้อ “หมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” ทำทิวากร ถูกคุก 6 ปี คดี ม. 112 นายทิวากร วิถีตน ฟังคำพิพากษาที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดี ม. 112 วันที่ 29 กันยายน 2565
ลูกอิฐ กุสุมาลย์/เบนาร์นิวส์

นายทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 6 ปีจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อปี 2563 แม้ศาลชั้นต้นเคยยกฟ้องในกรณีดังกล่าวมาแล้วเมื่อปี 2565

“ผมจะรับการทรมานทั้งกายและใจ ทั้งที่ในมโนสำนึกผมไม่ผิดนะ เพื่อเป็นการประจานความอยุติธรรมว่าจริง ๆ แล้ว ที่ผมเข้าไปอยู่ในคุกนั้นผมไม่ควรจะถูกฟ้องด้วยซ้ำไป ม. 112, ม. 116 หรือ พรบ.คอมฯ มันไม่เข้าอยู่แล้ว ที่ผมเข้าไปไม่ใช่เพราะว่าผมผิด แต่ผมเข้าไปเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ยุติธรรม และผมไม่กลัว” นายทิวากร กล่าวกับทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวันพุธนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่เคยยกฟ้องนายทิวากรในคดีนี้

“พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง ให้มีความผิดตามมาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ จำคุกกระทงละ 3 ปี 3 กระทงรวมจำคุก 9 ปี คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี ให้ริบของกลาง (เสื้อยืดที่มีข้อความดังกล่าว)” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ในการอุทธรณ์ อัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า พยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งคือ นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เชื่อว่า ข้อความบนเสื้อยืดอาจเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ รวมถึงข้อความดังกล่าวหมายถึง ในหลวงรัชกาลที่ 10

ด้าน นายทิวากรพยายามค้านอุทธรณ์โดยระบุว่า สถาบันกษัตริย์มิใช่ พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดองค์หนึ่ง และข้อความดังกล่าว “อาจเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียด” เป็นเพียงการคาดคะเนมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิพากษาว่า นายทิวากรมีความผิดตามอุทธรณ์

หลังทราบคำพิพากษา ทนายความระบุว่า นายทิวากรจะถูกนำตัวไปคุมขังระหว่างรอการฎีกาที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น

คดีนี้สืบเนื่องจาก วันที่ 16 มิถุนายน 2563 นายทิวากร เกษตรกร อายุ 48 ปี ได้โพสต์ภาพตนเองใส่เสื้อที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว และเขียนข้อความอธิบายว่า “หมดศรัทธา ไม่ได้แปลว่า ล้มเจ้า หมดศรัทธา มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ หมดรัก, หมดเยื่อใย, หมดใจ, หมดความไว้ใจ”

หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปที่บ้านของนายทิวากร และโน้มน้าวให้เขาเลิกใส่เสื้อยืดดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นายทิวากร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ และแพทย์ คุมตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น นายทิวากรถูกฉีดยา และให้รับยาจิตเวช ในเหตุการณ์เดียวกันนั้นบ้านของนายทิวากรถูกค้น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืด 3 ที่มีข้อความดังกล่าวถูกยึด

กระทั่งวันที่ 4 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุมนายทิวากรที่บ้านพัก โดยแจ้งข้อหา ม. 112, ม. 116 และ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 11,18 และ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และคดีการชุมนุม

ระหว่างการดำเนินคดี ตำรวจได้ขออำนาจศาลฝากขังนายทิวากร อย่างไรก็ตามเขาได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 อัยการส่งคดีของนายทิวากรฟ้องต่อศาล ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายทิวากร และสั่งให้เจ้าหน้าที่คืนเสื้อยืดให้แก่จำเลย โดยให้เหตุผลว่า “หลักฐานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จำเลยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย องค์พระมหากษัตริย์”

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การใส่เสื้อที่มีข้อความเป็นการแสดงความเห็นไม่ใช่ความผิดทางอาญาทั้งในระบบสากลและระบบกฎหมายไทย

“การตั้งข้อหา สั่งฟ้อง และพิจารณาคดีนี้ มองได้ว่าเป็นคดีการเมืองที่ปิดกั้นการแสดงความเห็นต่าง เท่ากับว่าเราต้องศรัทธากับสิ่งที่เราไม่ศรัทธา แต่ในความเป็นจริงเสรีภาพทางความเชื่อและหลักศรัทธาเป็นสิทธิสัมบูรณ์” น.ส. พรเพ็ญ ระบุ

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,299 คดี ในนั้นเป็นคดี ม. 112 อย่างน้อย 272 คน จาก 304 คดี นำมาซึ่งการเรียกร้องให้ ยกเลิก หรือแก้ไข ม. 112

เดือนมกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิพากษาให้จำคุก นายมงคล ถิระโคตร หรือบัสบาส พ่อค้าเสื้อผ้าและนักกิจกรรมชาวเชียงราย เป็นเวลา 50 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 27 โพสต์ ที่เชื่อว่าขัดกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ นับเป็นการตัดสินโทษจำคุกคดีมาตรา 112 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง