20 ปีภัยพิบัติสึนามิ เราพร้อมแค่ไหนกับภัยพิบัติในอนาคต

เกริก ประชากุล ฮาดี อาเดียนา และ จอห์น เบ็กเทล
2024.12.19
20 ปีภัยพิบัติสึนามิ เราพร้อมแค่ไหนกับภัยพิบัติในอนาคต ผู้คนวิ่งหนีขณะคลื่นสึนามิซัดเข้าฝั่งที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต ในทะเลอันดามัน วันที่ 26 ธันวาคม 2547
เอพี

เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษแล้วนับตั้งแต่เหยื่อนับแสนรายต้องสังเวยชีวิตให้กับภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังจากหายนะในครั้งนั้น ประเทศอินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ได้ติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ทว่าบรรดานักเคลื่อนไหวยังออกโรงเตือนว่า การเตรียมพร้อมรับมือยังขาดตกบกพร่อง

วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดแผ่นดินไหวใต้น้ำทะเลขนาด 9.1 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งของอ่าวสุมาตรา คลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มบ้านเรือนและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในระยะทางมากกว่า 1,609 กิโลเมตร คร่าชีวิตผู้คนกว่า 230,000 ราย ในประเทศแถบเอเชียและแอฟริกามากกว่า 12 ประเทศ โดยไม่มีใครได้ทันตั้งตัว

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (U.S. National Oceanic and Atmospheric Administration - NOAA) รายงานว่า ในบริเวณใกล้กับใจกลางของแผ่นดินไหว จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย คลื่นสึนามิพรากชีวิตผู้คนกว่า 167,000 ราย ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยและมาเลเซีย มีผู้เสียชีวิต 8,200 ราย และ 75 รายตามลำดับ

ตามแนวชายฝั่งอาเจะห์ คลื่นสึนามิก่อตัวสูงถึง 51 เมตร ซึ่งเกิดจากจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวที่อยู่ต่ำกว่าพื้นมหาสมุทร 30.5 กิโลเมตร

“20 ปีแล้ว แต่เรายังจำเหตุการณ์วันนั้นได้ติดตาเหมือนกับว่ามันเพิ่งผ่านไป ตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผ่านมา 20 ปี ตอนนี้เขามีสัญญาณเตือนภัย แต่ถ้าน้ำมาอีกก็คงวิ่งอย่างเดียว เพราะเราก็ยังไม่มั่นใจ” ขวัญฤทัย ยามา เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง 

ขวัญฤทัย คือ ชาวชุมชนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามันของไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่ทำให้คนไทยรู้จัก “สึนามิ” เป็นครั้งแรก

ในเช้าวันที่ 26 ธ.ค. 2547 เมื่อเวลา 07.58 น. สึนามิระลอกใหญ่พัดเข้าใส่เกาะสุมาตรา แล้วอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ก็ถูกคลื่นยักษ์สูง 19 เมตร ถาโถมเข้าใส่ น้ำทะลักเข้าสู่แผ่นดินลึกเข้าไปไกลที่สุดถึง 1 กม. มีผู้เสียชีวิตร่วม 5,300 คน บาดเจ็บกว่า 8,400 คน และสูญหายเกือบ 3,400 ราย 

รัฐบาลสรุปว่า มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 5,500 หลัง เรือเสียหายเกือบ 6,000 ลำ ประชาชนกว่า 20,000 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อน โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้ากว่า 900 แห่ง ได้รับความเสียหาย และทำให้มีเด็กที่ต้องกำพร้าทันทีมากกว่า 1,000 คน

“ถ้าชุมชนไม่มีความรู้ ไม่มีทีมอาสาสมัคร ไม่มีข้อมูล และไม่มีการซ้อมรับมือภัยพิบัติ ไม่มีการซ้อมอพยพหลบภัยเนี่ย ชุมชนก็จะอยู่ในความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยมีชุมชนที่มีความเสี่ยงภัยอยู่ 40,000 ชุมชน” ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าว

tsunami-main-3.jpg
นักเรียนอนุบาลใน จ.อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติสึนามิในห้องเรียน วันที่ 2 ธันวาคม 2567 (ฮาดี อาเดียนา/เบนาร์นิวส์)

หลังเกิดเหตุ รัฐบาลในขณะนั้นตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ภูเก็ต เริ่มค้นหาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ตลอด 24 ชั่วโมง มีทีมชันสูตรพลิกศพ ควบคุมโรคระบาด และดูแลชาวต่างชาติ จัดรถส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรถรับส่งคนกลับภูมิลำเนา 

รัฐบาลใช้งบประมาณ 2.80 หมื่นล้านบาท ในการแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ, จ่ายเงินชดเชย, ฟื้นฟูอาชีพระยะสั้น, ให้สินเชื่อระยะกลางและระยะยาว และฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยา 

สำหรับการป้องกันปัญหาในอนาคต ไมตรี ชี้ว่า จำเป็นที่ต้องมีการเตรียมพร้อม และมอบอำนาจให้กับชุมชน หรือท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในการบริหารสถานการณ์

"ถ้ามีงบประมาณ ชุมชนหรือท้องถิ่นต้องเป็นเจ้าภาพหลัก แต่รัฐบาลหรือจังหวัด ต้องสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ เราไม่สามารถแยกอำนาจออกจากกัน แต่เชื่อว่า ยังไงก็ต้องกระจายอำนาจหรือแบ่งอำนาจให้แต่ละคนมีบทบาทและหน้าที่ในการรับมือภัยพิบัติ” ไมตรี กล่าว

ในเวลาต่อมา รัฐบาลใช้งบกลางอีก 5.90 พันล้านบาท เยียวยาผู้ประสบภัย มีการตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในปี 2548 นำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หอเตือนภัยพิบัติ อุปกรณ์สื่อสาร รวมถึงทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะใกล้และไกล เป็นต้น 

tsunami-main-4.jpg
ภาพนี้ซึ่งไม่ได้ระบุวันที่แสดงทุ่นตรวจวัดสึนามิในทะเล (องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ)

พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้แทนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ ปัจจุบันไทยมีความก้าวหน้าในการจัดทำแผนบริหารพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิอย่างมาก 

“ไทยเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานระหว่างประเทศ ในการจัดการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเตรียมพร้อมรับมือภัยสึนามิในอนาคตมาปรับใช้ มีทุ่นเตือนภัยสึนามิที่อัพเดทเทคโนโลยีจากในอดีต วันนี้ไทยยังให้ความสำคัญกับระบบเตือนภัยต่อเนื่อง” พล.อ.อ. สมนึก กล่าว

รับมือกับภัยพิบัติ

20 ปีต่อมา เออร์มา ลิซา ชาวเมืองอาเจะห์ ผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติเรียกร้องให้ทางการอินโดนีเซียหาทางเตรียมตัวรับมือมากกว่านี้ เนื่องจากหมู่บ้านของเธอมีผู้เสียชีวิตจากหายนะคลื่นยักษ์กว่า 90% เธอจึงอุทิศชีวิตเพื่อถอดบทเรียนว่าด้วยความเสี่ยงของภัยสึนามิให้กับเยาวชนรุ่นหลัง

“รัฐบาลทำงานด้านการให้ความรู้กับประชาชนรุ่นต่อไปไม่มากพอ” เธอกล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานประสานกับศูนย์วิจัยและบรรเทาภัยพิบัติสึนามิที่มหาวิทยาลัยไซอา กัวลา เมืองบันดาอาเจะห์ ให้ข้อมูลว่า ทางจังหวัดได้ติดตั้งระบบเตือนภัยที่ซับซ้อนเตรียมพร้อมไว้แล้วแม้ว่าอุปกรณ์บางส่วน เช่น ทุ่นเตือนภัยที่ติดตั้งไว้เพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลจะมีความเสียหายบ้างก็ตาม 

ขณะที่ประเทศไทยมีทุ่นเตือนภัยสึนามิ 2 ทุ่น คือ สถานี 23401 ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกประมาณ 965 กม. และ สถานี 23461 ในทะเลอันดามัน ห่างจากภูเก็ตไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 340 กม. โดยแต่ละสถานีมีการบำรุงรักษาทุก 2 ปี 

tsunami-main-2.jpg

เออร์มา ลิซา เลขาธิการหมู่บ้าน Mon Ikeun ตรวจสอบแผนที่อพยพสำหรับหมู่บ้านของเธอใน จ.อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 2 ธันวาคม 2567 (ฮาดี อาเดียนา/เบนาร์นิวส์)

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2565 เว็บไซต์ NOAA ระบุว่า ทุ่นเตือนภัยทั้งสองทุ่นของไทยอยู่ในสถานะใช้การไม่ได้ แต่ล่าสุดปีนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยืนยันว่า ได้ทำการซ่อมบำรุงสถานีเตือนภัยทั้งสองแห่งแล้ว ทำให้ปัจจุบัน สถานีพร้อมใช้งาน

“ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการป้องกันและกำหนดมาตรการลดผลกระทบจากคลื่นสึนามิให้มีประสิทธิภาพ” สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดี ปภ. กล่าว

ขณะที่ รัชนีกร ทองทิพย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สึนามิระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า แม้จะมีมาตรการเตือนภัย แต่เชื่อว่าคนจำนวนมากยังไม่พร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ คนขาดความตระหนัก คนขาดการเตรียมความพร้อม แม้เราจะมีทุ่นเตือนภัยแล้ว แต่มันอยู่ที่คนใช้ว่าเข้าใจแค่ไหน เข้าใจว่าเมื่อไหร่ที่จะต้องเตรียมพร้อมรับกับเหตุการณ์ หรือว่าสัญญาณที่อาจจะเตือนมา” รัชนีกร กล่าว

tsunami-main-6.JPG
อาริฟ มูนันดาร์ ผู้รอดชีวิตจากสึนามิ ตรวจสอบระบบเครื่องรับเตือนภัยในสำนักงานของเขาใน จ.อาเจะห์ 5 ธันวาคม 2567 (ฮาดี อาเดียนา/เบนาร์นิวส์)

ในขณะที่ทางฝั่งกรมอุตุนิยมวิทยามาเลเซีย ได้ติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิล่วงหน้าระดับชาติ ซึ่งได้รับการพัฒนาเข้าระบบของศูนย์เตือนภัยสึนามิภาคแปซิฟิกที่ดำเนินการโดยสหรัฐอเมริกา ในรัฐฮาวาย และกรมอุตุวิทยาญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว

โมฮัมหมัด ฮิชาม โมฮัมหมัด อนิพ อธิบดีกรมอุตุวิทยาแห่งมาเลเซีย ระบุว่า ทางการมาเลเซียติดตั้งระบบไซเรนเตือนภัย 83 จุด ทั่วประเทศที่จะแจ้งเตือนพร้อมกับข้อความสั้นและแจ้งเตือนผ่านสื่อต่าง ๆ เมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งเสริมว่าได้จัดการฝึกซ้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติสึนามิมาตั้งแต่ปี 2549

“ทางการมาเลเซียตระหนักดีว่าประชาชนต้องรับรู้และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากสึนามิ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการบรรเทาความเสี่ยง” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทว่าเจ้าหน้าที่จากทั้ง 3 ประเทศ ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของจำนวนครั้งที่ระบบแจ้งเตือนของแต่ละประเทศทำงาน

tsunami-main-7.jpg
ป้ายเตือนอันตรายจากสึนามิที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา วันที่ 6 ธันวาคม 2567 (เกริก ประชากุล/เบนาร์นิวส์)

ในปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ รายละ 2,000 บาท ถ้าพิการจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้จะจ่ายเบื้องต้น 10,000 บาท และให้เงินยังชีพ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 2 ปี และสำหรับผู้เสียชีวิตจะจ่ายค่าจัดการศพ 15,000 บาท และโดยหากผู้เสียชีวิตเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัวจะจ่าย 25,000 บาท

“ไทยเราให้ความหมายของการเยียวยาหลังเกิดเหตุการณ์มากกว่า เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยา แต่เราไม่เคยใช้งบประมาณจำนวนมากนั้นมาใช้ในการป้องกัน และการซ้อมรับมือ” รัชนีกร กล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ, อุแซร์ ธามริน ในอาเจะห์, และ อิมาน มุตตากิน ในกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง