แอสตราเซเนกายืนยันส่งวัคซีนให้ประเทศในเอเชียอาคเนย์ได้ตามแผน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.06.15
กรุงเทพฯ
แอสตราเซเนกายืนยันส่งวัคซีนให้ประเทศในเอเชียอาคเนย์ได้ตามแผน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เฝ้าติดตามผู้ป่วยโควิด-19 จากมอร์นิเตอร์ ที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม กรุงเทพฯ วันที่ 15 มิถุนายน 2564
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ บริษัท แอสตราเซเนกา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การส่งวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ จะเริ่มขึ้นได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และเป็นไปตามแผนการณ์ แม้ว่ามีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า เกิดความล่าช้าในการส่งออกไปยัง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไต้หวัน

แอสตราเซเนกา เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า จะส่งออกวัคซีนโควิด-19 ไปยังประเทศในเอเชียอาคเนย์ให้เร็วที่สุด แต่ไม่ได้กล่าวถึงไต้หวัน ที่ประธานาธิบดีกล่าวว่า ไทยให้ความเร่งด่วนกับปัญหาในประเทศก่อน

“การผลิตและส่งออกวัคซีน ให้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ รวมถึงประเทศมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะเริ่มส่งมอบได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลิตและส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ตามแผนโดยเร็วที่สุด” แอสตราเซเนกา ระบุ

“การส่งออกยังออนแทร็ค เช่น ฟิลิปปินส์ จะได้รับล็อตแรกในเดือนกรกฎาคม และมาเลเซีย เดือนมิถุนายน” เจ้าหน้าที่แอสตราเซเนกา กล่าวเพิ่มเติม

รายงานของสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า ฟิลิปปินส์สั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 17 ล้านโดส มาเลเซีย รอรับ 610,000 โดส ในเดือนมิถุนายน และอีก 1.6 ล้านโดส ในสิ้นปีนี้ ส่วนไต้หวันสั่งซื้อ 10 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม แอสตราเซเนกา กล่าวว่า การส่งที่กล่าวถึงในวันนี้ ยังไม่มีการครอบคลุมถึงไต้หวัน ซึ่งหากมีข้อมูลแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป และยังงดเปิดเผยข้อมูลจำนวนวัคซีนที่สั่งโดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2564 นายโจอี้ คอนเซปชอน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย จะส่งไปยังประเทศฟิลิปปินส์ล่าช้า โดยเลื่อนจากกำหนดที่จะส่ง ในเดือนมิถุนายน 2564 ไปยังเดือนกรกฎาคม 2564 ขณะที่ประเทศมาเลเซียก็กล่าวว่า พบปัญหาความล่าช้าเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย. นี้ รอยเตอร์รายงานว่า นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งหนึ่งว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย ไม่ได้ส่งมาถึงไต้หวันตามกำหนดเดิม ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากไทยน่าจะให้ความสำคัญกับการกระจายวัคซีนในประเทศ ซึ่งต่อมารัฐบาลไทยระบุว่า รัฐบาลมิได้ปิดกั้นการส่งออกวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปยังต่างประเทศ

“ต่อกรณีการปรากฏข่าวว่าประเทศไทย กำลังปิดกั้นการจัดส่งวัคซีนออกนอกประเทศ นายอนุทิน ตอบว่า ไทยไม่ได้ปิดกั้นการส่งออกวัคซีนของบริษัทแอสตราฯ เป็นเรื่องการจัดการของผู้ผลิต ทั้งนี้ ในขณะที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดทั่วโลก การที่ไทยได้เป็นฐานการผลิต จึงทำให้สะดวกกว่าในการบริหารวัคซีน” น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ส่วนในวันอังคารนี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า แอสตราเซเนกา สามารถส่งออกวัคซีนไปยังไต้หวันได้โดยไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน

“รองนายกอนุทินฯ ให้สัมภาษณ์แล้วครับว่า ไทยเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนแต่การบริหารจัดการวัคซีนเป็นของบริษัทแอสตราเซเนก้า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเหมือนเดิม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศดอน ปรมัตถ์วินัย ก็เพิ่งพบหารือกับมุขมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหวัง อี้ นครฉงชิ่ง” นายธานี ระบุ

แอสตราเตรียมส่งมอบวัคซีนให้ไทยอีกในสัปดาห์นี้

สำหรับประเทศไทย แม้รัฐบาลจะได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มฉีดพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 แต่หลังจากนั้น โรงพยาบาลรวมถึงจุดฉีดวัคซีนหลายแห่งทั่วประเทศกลับประกาศเลื่อนกำหนดการฉีดออกไป โดยมีคำชี้แจงว่า ไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 อย่างเพียงพอ ซึ่งประเด็นดังกล่าว แอสตราเซนกา ได้ชี้แจงว่า บริษัทจะได้ดำเนินการส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยในสัปดาห์นี้

“สำหรับไทย เราจัดสรรวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรคเท่านั้น สิ่งที่บอกได้คือ เรายังจะส่งมอบตามแผนที่เรากำหนด ซึ่งเราจะได้ส่งมอบวัคซีนอีกหนึ่งล็อตในอาทิตย์นี้… แอสตราเซนเนกาจะส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตต่อไปให้กับกระทรวงสาธารณสุขในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน ซึ่งเป็นไปตามกำหนดเดิม เพื่อสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศของรัฐบาล” แอสตราเซเนกา ประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร สยามไบโอไซเอนซ์ ได้กล่าวแก่แสตนดาร์ด เมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ว่า การส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับสยามไบโอไซเอนซ์ เพราะเป็นเรื่องของประเทศนั้น ๆ กับแอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิที่สามารถส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน 8 ประเทศได้เช่นกัน

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอคอมเมนต์ ในเรื่องที่ว่า ทางสยามไบโอไซเอนซ์ สามารถผลิตวัคซีนได้อย่างไม่มีอุปสรรคหรือไม่ ส่วนฝ่ายผู้บริหารไม่มีนโยบายให้ข้อมูลทางธุรกิจแก่สื่อมวลชนโดยตรง

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลสามารถกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้แล้วกว่า 7 ล้านโดส

“สิ่งที่ท่านอาจจะได้รับฟังจากข่าว หรือการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ อาจทำให้ท่านเกิดความไม่สบายใจ และเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้อย่างเพียงพอ หรือภาครัฐไม่ได้มีการประสานงานอย่างดีพอ ข่าวต่างๆ เหล่านี้ ผมได้รับทราบมาโดยตลอด และพยายามจะแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ขอเรียนอย่างจริงใจว่าปัญหาเหล่านี้ผมเองไม่สบายใจอย่างยิ่งเช่นกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตของอาเซียน ส่วนใหญ่ก็ใช้ยอดตรงนี้เป็นการจัดหาให้อาเซียนด้วย อาจจะเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ยังไงก็ตามผมได้สั่งการให้ทุกหน่วยงาน ต้องพยายามในการแก้ไขปรับปรุงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทย ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้ว 6,511,184 โดส เป็นเข็มแรก 4,762,063 ราย และเข็มที่สอง 1,749,121 ราย มีผู้จองคิวฉีดวัคซีน 8,109,541 ราย เป็นในพื้นที่กรุงเทพฯ 981,453 ราย และต่างจังหวัด 7,128,088 ราย

ในวันเดียวกัน พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,000 ราย รวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 202,264 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย เสียชีวิตสะสม 1,485 ราย

สำหรับ แผนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย คือ 1. บริษัท ซิโนแวค ไบออนเทค ประเทศจีน 6.5 ล้านโดส แบ่งเป็นนำเข้ารอบแรก 2 ล้านโดส มูลค่า 1,228 ล้านบาท สั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส และประเทศจีนบริจาคให้ 1 ล้านโดส ทยอยนำเข้ามาในประเทศไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม มีแผนจะนำเข้าเพิ่ม 8 ล้านโดส แต่ยังไม่มีการระบุรายละเอียดของแผนดังกล่าว

บริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศสวีเดน-อังกฤษ 61 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2564 การสั่งซื้อแบ่งเป็น 26 ล้านโดส มูลค่า 6,049 ล้านบาท และ 35 ล้านโดส มูลค่า 6,387 พันล้านบาท วัคซีนของแอสตราเซเนกาบางส่วน จะผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

รวมทั้งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ได้ลงนามสั่งซื้อวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน จากประเทศสหรัฐอเมริกาไปแล้ว รวม 25 ล้านโดส ขณะที่ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทำการสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม ประเทศจีน 1 ล้านโดส แล้ว โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เปิดเผยว่า กำลังเจรจาเพื่อซื้อวัคซีน โมเดิร์นนา จากประเทศสหรัฐอเมริกา และสปุตนิก วี ประเทศรัสเซียด้วยเช่นกัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง