สหประชาชาติรับรองมติ 'สกัดการส่งอาวุธ' เข้าเมียนมา
2021.06.18
วอชิงตัน
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเรียกร้องให้กองทัพเมียนมานำประเทศคืนสู่ประชาธิปไตย และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก “สกัดการส่งอาวุธ” ไปยังประเทศที่กองกำลังความมั่นคงได้สังหารประชาชนของตน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงไปแล้วกว่า 800 ชีวิต นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
สมาชิก 4 ใน 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) – บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย – งดออกเสียง แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกในกรอบการจัดการกับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
มติดังกล่าว “เรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพเจตจำนงของประชาชน ตามผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ยุติภาวะฉุกเฉิน เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวเมียนมาทุกคน และเพื่อให้เมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่การมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางอองซาน ซูจี และ “ทุกคนที่ถูกควบคุมตัว ตั้งข้อหา หรือจับกุมโดยพลการ” ประมาณ 4,880 คน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมาในประเทศไทย
ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งกล่าวแทนรัฐบาลพลเรือนว่า มตินี้ “ไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้” เพราะ “ไม่ได้รวมถึงการสั่งห้ามค้าอาวุธ” กับประเทศเมียนมา
โดยสมาชิกสหประชาชาติ 119 ประเทศ ได้สนับสนุนมตินี้ 36 ประเทศ งดออกเสียง และ 37 ประเทศ ไม่ร่วมลงมติ ประเทศเบลารุส เป็นประเทศเดียวที่ลงมติไม่เห็นด้วย
ส่วน จีน เป็นหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียง โดยกล่าวว่า คัดค้านการมีมติเฉพาะเจาะจงกับประเทศหนึ่งประเทศใด และรัสเซียก็งดออกเสียงเช่นกัน โดยระบุว่า มติดังกล่าวจะไม่ช่วยแก้ไขวิกฤตในเมียนมา ส่วน นายจอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังที่ “ใช้เวลาถึงสามเดือน กว่าจะมาลงมติที่แสนอ่อนเปลี้ยเช่นนี้”
ถึงกระนั้น ผู้แทนพลเรือนเมียนมาก็ลงมติ “เห็นด้วย เพราะมันอาจจะเป็นการกดดันรัฐบาลทหาร ให้หยุดการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในเมียนมา ได้ในระดับหนึ่ง”
'ความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมืองใหญ่' ในเมียนมา
การลงมติดังกล่าว ซึ่งประเทศลิกเตนสไตน์เป็นผู้แนะนำ ที่ถูกเลื่อนการลงมติจากเดือนที่แล้ว เนื่องจากหน่วยงานของสหประชาชาติพยายามหาผู้สนับสนุนเพิ่ม โดยเฉพาะจากประเทศกลุ่มอาเซียนที่ต้องการให้ลบข้อความ ห้ามค้าอาวุธจากร่างมติฯ
หลังจากร่างมติฯ ถูกแก้ไขแล้ว ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ จึงได้ร่วมลงมติ ในวันศุกร์
มติดังกล่าวเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ “สกัดการส่งอาวุธเข้าไปในเมียนมา” ตามมติคณะมนตรีความมั่นคงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2563 ที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทั่วโลก และลดระดับความรุนแรง ในห้วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19
อย่างไรก็ตาม การลงมติดังกล่าวถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ เพราะเป็นการ "สื่อข้อความว่า จะไม่มีการทำธุรกิจใด ๆ เหมือนเช่นเคยกับรัฐบาลทหารที่สังหารประชาชนของตนเอง" ไซมอน อดัมส์ ผู้อำนวยการบริหารของ Global Center for the Responsibility to Protect กล่าวผ่านทวิตเตอร์
ในขณะเดียวกัน นางคริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษสหประชาชาติด้านกิจการเมียนมา กล่าวกับที่ประชุมว่า “โอกาสในการหวนคืนสู่ประชาธิปไตย [ในเมียนมา] กำลังน้อยลงเต็มที”
หลังจากการลงมติ นางเบอร์เกเนอร์ได้กล่าวสรุปในที่ประชุมถึงการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวลาหลายสัปดาห์ของเธอ หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งเธอไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศเมียนมา แต่ได้เฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์ในเมียนมาจากประเทศไทย
เธอกล่าวว่า “ความเสี่ยงของการเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่มีจริง” และเตือนว่าประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศอาจจมดิ่งสู่ความยากจน ภายในปี 2565 หากความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป
4 ประเทศสมาชิกอาเซียนงดออกเสียง
มติดังกล่าวระบุว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมกับเมียนมา และอำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ “เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวเมียนมาและการดำรงชีวิตของพวกเขา”
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกอาเซียน บรูไน กัมพูชา ลาว และไทย ที่งดออกเสียง เป็นการแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคมีความแตกแยกเพียงใด
ร่างมติของสหประชาชาติดังกล่าว ยังเรียกร้องให้เมียนมา “ดำเนินการอย่างรวดเร็ว” ต่อฉันทามติ 5 ประเด็นที่อาเซียนแถลงผลสรุปให้กับผู้นำทหารเมียนมาไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 เมษายน
หากแต่อาเซียนยังไม่ได้ดำเนินความคืบหน้าใด ๆ ในฉันทามติ 5 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งประเด็นหนึ่งในนั้นคือ การแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา และการไปเยือนประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤตของคณะผู้แทนอาเซียน
นายออง ตู เงียน ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายเมียนมา ในย่างกุ้ง กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มีจุดยืนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในประเด็นเมียนมา “ข้อเท็จจริงคือ รัฐส่วนใหญ่ [ของประเทศสมาชิก] ไม่ได้เป็นแม้แต่ รัฐประชาธิปไตย”
อย่างไรก็ตาม นายออง ตู เงียน กล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) สำนักข่าวในเครือเดียวกับเบนาร์นิวส์ว่า ประเทศในภูมิภาคยังมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้
“ผมคิดว่า อาเซียนก็ยังคงมีบทบาทที่สำคัญในการจัดการกับวิกฤตในเมียนมา หลายประเทศสนับสนุนฉันทามติ 5 ประเด็นของอาเซียน” นายออง ตู เงียน กล่าวกับ RFA
“คิดว่าแนวทางของอาเซียนไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากมีหลายประเทศสนับสนุนฉันทามติ 5 ประเด็น… เราจึงควรยึดถือแนวทางนั้น”
เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเมียนมา ร่วมรายงาน